• Welcome to ชมรมนิติกรองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น:เว็บไซท์อันดับ๑ของวงการท้องถิ่น.
Main Menu
Menu

Show posts

This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.

Show posts Menu

Topics - admin

#101

ตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคม 2555 เป็นต้นมา หลักเกณฑ์การสอบบรรจุเข้ารับราชการในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) / เทศบาล / องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ก็เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ได้เกิดหลักเกณฑ์การสอบใหม่ขึ้นมา ดังนั้นเพื่อเป็นการเตรียมตัวเองให้พร้อมกับการสอบ จึงต้องมาทำความเข้าใจในหลักเกณฑ์การสอบใหม่นี้ก่อน

     ขออ้างถึงประกาศคณะกรรมการกลางพนักงานเทศบาลเรื่อง มาตรฐานทั่วไปเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการคัดเลือกโดยการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเป็นข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัด / พนักงานเทศบาล /พนักงานส่วนตำบล

     ในกรณีอบจ./เทศบาล/อบต.เป็นหน่วยดำเนินการสอบแข่งขัน ให้อบจ./เทศบาล/อบต.เป็นเจ้าของบัญชี หมายถึง เทศบาลอื่นๆ หรือ อบต.อื่นๆ ไม่สามารถขอใช้บัญชีผู้สอบแข่งขันได้ การขึ้นบัญชีและใช้บัญชีจะใช้ได้เฉพาะหน่วยงานที่จัดสอบเท่านั้น

     ในกรณีคณะกรรมการกลางการสอบแข่งขันพนักงานส่วนท้องถิ่นเป็นหน่วยดำเนินการสอบแข่งขัน ให้จังหวัดที่เป็นศูนย์อำนวยการสอบแข่งขันในแต่ละภาค/เขตเป็นเจ้าของบัญชีผู้สอบแข่งได้ สำหรับการแบ่งภาค/เขตในการสอบแข่งขันให้เป็นไปตามประกาศกำหนด

     ณ ตอนนี้หลายๆท่าน คงเฝ้ารอการสอบแบบแบ่งภาค/เขต ตามหลักเกณฑ์ฯ บัญชีผู้สอบแข่งขันได้ของคณะกรรมการกลางการสอบแข่งขันพนักงานส่วนท้องถิ่น (กสถ.) ประกอบด้วยจังหวัดในกลุ่มภาค/เขต ดังนี้
ภาคกลางเขต ๑ ได้แก่
1.จังหวัดชัยนาท ๒.จังหวัดนนทบุรี ๓.จังหวัดปทุมธานี ๔.จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ๕.จังหวัดลพบุรี ๖.จังหวัดสระบุรี ๗.จังหวัดสิงห์บุรี ๘.จังหวัดอ่างทอง

ภาคกลางเขต ๒ ได้แก่
๑.จังหวัดจันทบุรี ๒.จังหวัดฉะเชิงเทรา ๓.จังหวัดชลบุรี ๔.จังหวัดตราด ๕.จังหวัดนครนายก ๖.จังหวัดปราจีนบุรี ๗.จังหวัดระยอง ๘.จังหวัดสมุทรปราการ ๙.จังหวัดสระแก้ว

ภาคกลางเขต ๓ ได้แก่
๑.จังหวัดกาญจนบุรี ๒.จังหวัดนครปฐม ๓.จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ๔.จังหวัดเพชรบุรี ๕.จังหวัดราชบุรี ๖.จังหวัดสมุทรสงคราม ๗.จังหวัดสมุทรสาคร ๘.จังหวัดสุพรรณบุรี

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเขต ๑ ได้แก่
๑.จังหวัดกาฬสินธุ์ ๒.จังหวัดขอนแก่น ๓.จังหวัดชัยภูมิ ๔.จังหวัดนครราชสีมา ๕.จังหวัดบุรีรัมย์
๖.จังหวัดมหาสารคาม

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เขต ๒ ได้แก่
๑.จังหวัดมุกดาหาร ๒.จังหวัดยโสธร ๓.จังหวัดร้อยเอ็ด ๔.จังหวัดศรีสะเกษ ๕.จังหวัดสุรินทร์ ๖.จังหวัดอำนาจเจริญ ๗.จังหวัดอุบลราชธานี

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเขต ๓ ได้แก่
๑.จังหวัดนครพนม ๒.จังหวัดบึงกาฬ ๓.จังหวัดเลย ๔.จังหวัดสกลนคร ๕.จังหวัดหนองคาย ๖.จังหวัดหนองบัวลำภู ๗.จังหวัดอุดรธานี

ภาคเหนือเขต ๑ ได้แก่
๑.จังหวัดชียงราย ๒.จังหวัดเชียงใหม่ ๓.จังหวัดน่าน ๔.จังหวัดพะเยา ๕.จังหวัดแพร่ ๖.จังหวัดแม่ฮ่องสอน ๗.จังหวัดลำปาง ๘.จังหวัดลำพูน

ภาคเหนือเขต ๒ ได้แก่
๑.จังหวัดกำแพงเพชร ๒.จังหวัดตาก ๓.จังหวัดนครสวรรค์ ๔.จังหวัดพิจิตร ๕.จังหวัดพิษณุโลก ๖.จังหวัดเพชรบูรณ์ ๗.จังหวัดสุโขทัย ๘.จังหวัดอุตรดิตถ์ ๙.จังหวัดอุทัยธานี

ภาคใต้ เขต ๑ ได้แก่
๑.จังหวัดกระบี่ ๒.จังหวัดชุมพร ๓.จังหวัดนครศรีธรรมราช ๔.จังหวัดพังงา ๕.จังหวัดภูเก็ต ๖.จังหวัดระนอง ๗.จังหวัดสุราษฎร์ธานี

ภาคใต้ เขต ๒ ได้แก่
๑.จังหวัดตรัง ๒.จังหวัดนราธิวาส ๓.จังหวัดปัตตานี ๔.จังหวัดพัทลุง ๕.จังหวัดยะลา ๖.จังหวัดสงขลา ๗.จังหวัดสตูล

คราวนี้ จะได้เตรียมตัวลงสนามสอบได้ถูก ว่าจะเลือกลงในเขตไหนดี ถ้าที่ดีควรศึกษาถึงกรอบอัตราตำแหน่งที่ว่างอยู่ในเขต/จังหวัดนั้นๆ เพราะหากกรอบอัตราตำแหน่งว่างมีมาก จะส่งผลให้การใช้เรียกบัญชีก็จะมีมากเช่นกัน

หลักสูตรในการสอบแข่งขัน
กำหนดให้หน่วยดำเนินการสอบ จัดสอบทั้ง ๓ ภาค คือ ภาค ก. ภาค ข. และภาค ค.

วิธีการดำเนินการสอบแข่งขัน
กำหนดให้หน่วยดำเนินการสอบ ให้ดำเนินการสอบแข่งขันทั้งภาค ก. ภาค ข. และภาค ค. (ซึ่งเปลี่ยนแปลงจากเดิม)
กรณีการสมัครสอบแข่งขันที่ กสถ. เป็นผู้ดำเนินการกำหนดให้ผู้สมัครสอบต้องเลือกกลุ่มจังหวัดที่ประสงค์จะบรรจุแต่งตั้ง *ตั้งแต่ขั้นตอนการสมัครด้วย

การขึ้นบัญชีผู้สอบแข่งขันได้
กำหนดให้บัญชีผู้สอบแข่งขันมีอายุ ๒ ปี ผู้ขึ้นบัญชีผู้สอบแข่งขันได้จะต้องบรรจุตามลำดับที่ โดยผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดมีสิทธิเลือกบรรจุใน อปท. ใดก็ได้ตามบัญชีรายชื่อ อปท. ที่ขอใช้บัญชีไปบรรจุแต่งตั้ง

เงื่อนไขการบรรจุแต่งตั้ง
จะต้องบรรุจแต่งตั้งในตำแหน่งที่สอบได้หรือตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกัน และกำหนดให้เมื่อบรรจุห้ามโอนย้ายภายใน ๑ ปีนับจากวันบรรจุ โดยไม่มีข้อยกเว้น

จากหลักเกณฑ์การสอบที่มีการเปลี่ยนแปลงใหม่แล้ว หากเราทำความเข้าใจกับหลักเกณฑ์ฯ ก็จะสามารถเตรียมตัวเองได้ถูก เสมือนหนึ่งว่ารู้หลักกติกาการสอบ ก็จะสามารถเดินตามกติกาได้จนจบ

>>> ตอนต่อไป : ตอนที่ 2 จะพูดถึงรายละเอียดหลักสูตรและวิธีการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเข้ารับราชการ  http://www.nitikon.com/index.php?topic=181126.0
#105

คำถาม ๑๘/๙/๖๒ กรณีพนักจ้างถูกตำรวจจับกุมคดียาเสพติด ตาม ว.733 ให้หน่วยงานเสนอสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน และให้ตั้ง กก.สอบวินัยร้ายแรง. กรณีนี้ เราต้องแต่งตั้ง กก.สอบข้อเท็จจริงก่อนแล้วจึงรายงานข้อเท็จจริงดังกล่าวให้ ก. ประกอบการขอเสนอสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนหรือไม่ครับ
#106




คำถาม ๒๗/๑๒/๖๒ คำถาม กรณีพนง.จ้างตามภารกิจ ถูกจับขณะปฏิบัติหน้าที่ขอหายาเสพติด และผลการตรวจฉี่เป็นบวก กรณีนี้นายกสามารถบอกเลิกสัญญาจ้าง และงดให้ปฏิบัติหน้าที่ได้เลยไหม หลักฐานทางตำรวจยังไม่ส่งมาให้หน่วยงาน
#109
สถ.แจ้งท้องถิ่นทั่วประเทศปฎิบัติหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานควบคุมโรค

14 มี.ค. 2563 นายประยูร รัตนเสนีย์ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงสาธารณสุขได้มีประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง แต่งตั้งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 (ฉบับที่ 3) และ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2563 ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาในวันที่ 13 มีนาคม 2563 และจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคม 2563 โดยในประกาศทั้ง 2 ฉบับได้มีการแต่งตั้ง ผู้บริหาร ข้าราชการ และพนักงาน ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อในพื้นที่

ในส่วนการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นประกอบด้วย ให้ข้าราชการสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล ซึ่งดำรงตำแหน่ง ปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด, ปลัดเทศบาล, ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล, ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล, นักบริหารงานสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม ​เป็นเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 (ฉบับที่ 3) เฉพาะในเขตท้องที่ที่ตนมีอำนาจหน้าที่ดูแลและรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการ

และให้ข้าราชการสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล ซึ่งดำรงตำแหน่ง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด, นายกเทศมนตรี, นายกองค์การบริหารส่วนตำบล, ผู้อำนวยการสำนักงานสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาล, ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาล, หัวหน้ากองหรือหัวหน้าฝ่ายสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาล, ​ผู้อำนวยการกองหรือหัวหน้าฝ่ายสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม องค์การบริหารส่วนตำบล,​หัวหน้ากองหรือหัวหน้าฝ่ายสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม องค์การบริหารส่วนตำบล หรือตำแหน่งที่คล้ายคลึงกัน

ไปจนถึง ข้าราชการสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบลหรือข้าราชการที่ได้รับมอบหมายให้ไปช่วยราชการหรือปฏิบัติราชการในสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบล ซึ่งดำรงตำแหน่งนายแพทย์ เภสัชกร พยาบาลวิชาชีพ นักวิชาการสาธารณสุข นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ นักเทคนิคการแพทย์ นายสัตวแพทย์ เจ้าพนักงานเภสัชกรรม พยาบาลเทคนิค เจ้าพนักงานสาธารณสุข เจ้าพนักงานวิทยาศาสตร์การแพทย์ หรือสัตวแพทย์​ เป็นเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 (ฉบับที่ 4) เฉพาะในเขตท้องที่ที่ตนมีอำนาจหน้าที่ดูแลและรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการ

"การแต่งตั้งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 (ฉบับที่ 3) และ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2563 จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป ซึ่งหลังจากนี้ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด จะได้ทำการชี้แจงถึงบทบาท และอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายต่อพี่น้ององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้รับการแต่งตั้งต่อไป เพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปอย่างถูกต้อง ชัดเจน ทันต่อสถานการณ์ในเวลานี้" อธิบดี สถ.​กล่าว

#ข่าวท้องถิ่น
#COVID19
#TheGlocal
#ท้องถิ่นเคลื่อนโลก
#111

การสืบราคา....
พูดเรื่องนิยามการสืบราคา ที่แท้จริง เท่าที่ปรากฏผ่านสายตา และที่เป็นกิจลักษณะนั้น จะปรากฏในงานก่อสร้างเท่านั้นคะ
โดยปรากฎใน ประกาศคณะกรรมการราคากลางและขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการ (14 พฤศจิกายน 2560) ซึ่งได้กำหนดหลักเกณฑ์การคำนวณราคากลางงานก่อสร้าง และนิยามคำว่า "สืบราคา" ไว้ในข้อ 2.1.9
........ข้อ((8)(8.6)) กำหนดไว้ว่า "การสืบราคา" หมายถึง "การดำเนินการใดๆ เพื่อให้ทราบราคาและหรือแหล่งวัสดุก่อสร้างที่มีความเป็นปัจจุบันและสอดคล้องกับราคาวัสดุก่อสร้างที่เป็นจริง"
........ข้อ((8)(8.7) กำหนดไว้ว่า "ในการสืบและใช้ราคาวัสดุก่อสร้างที่ถูกต้องตรงตามคุณลักษณะเฉพาะที่กำหนดในแบบก่อสร้างในราคาต้นทุน ในกรณีที่ไม่สามารถสืบและใช้ราคาวัสดุก่อสร้างที่ถูกต้องตรงตามคุณลักษณะเฉพาะตามที่กำหนดในแบบก่อสร้างได้ ให้สืบและใช้ราคาวัสดุก่อสร้างที่ผู้มีหน้าที่กำหนดราคากลางได้พิจารณาแล้วเห็นว่ามีคุณลักษณะเฉพาะใกล้เคียงกับที่กำหนดไว้ในแบบก่อสร้างหรือสามารถใช้แทนกันได้"

✅งานก่อสร้างใช้หลักการถัวเฉลี่ยตามหลักการทางวิชาคณิต
✅ส่วนในงานซื้อจ้างทั่วไป ใช้หลักสืบราคาต่ำสุด
✅วงเงินเกินห้าแสน ใช้ ว 206 สืบสามราย
✅ส่วนต่ำกว่าพิจารณาตามมาตรา 4 นิยามราคากลาง
#จบคะ

🌸วราภรณ์ แสงชา 24/02/2563

อ้างอิง...
❇️ประกาศคณะกรรมการนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดภุ าครัฐ เรื่อง แบบสัญญาเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560
#112

หนังสือที่เกี่ยวข้องกับ โครงการอบรมอาสาภัยพิบัติ
1️⃣ว 7367 ลว 4 ธันวาคม 2562
2️⃣ว 0813 ลว 6 กุมภาพันธ์ 2563
3️⃣ว 440 ลว 13 กุมภาพันธ์ 2563

🌸วราภรณ์ แสงชา 15/02/2563

ดาวน์โหลดหนังสือ.....⬇️⬇️

✅ว 3767
http://www.chiangmailocal.go.th/web.../20200106_0023-3-281.pdf

✅0813
https://drive.google.com/.../1ixU_kyuDWxdKemiU0UPNd7TXxn.../view

✅ว 440
(http://www.dla.go.th/.../typ.../2020/2/23072_1_1581649043466.pdf)
#113

คำถาม  ๑๕/๑/๖๓
กรณีนายก อบต. ถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวน เนื่องจากออกคำสั่งแต่งตั้งรองนายก อบต. ซึ่งขาดคุณสมบัติ/มีลักษะต้องห้าม

#ข้อเท็จจริง

นายก อบต. จะแต่งตั้ง เอ และ บี เป็นรองนายกฯ แต่ปลัด อบต. ได้มีบันทึก ลว. 19 พ.ย  60 มีข้อความว่าบุคคลทั้งสองไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง สว. 30 มี.ค. 57 และไม่ได้แจ้งเหตุแห่งการไม่ไปใช้สิทธิ จึงเป็นเหตุให้บุคคลทั้งสองขาดคุณสมบัติ ตาม พรบ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารฯ  ม.37(3)  ซึ่งนายกฯ มีความเห็นระบุท้ายบันทึกว่า "ดำเนินการตามม.58/1 และ58/4 โดยบุคคลดังกล่าวมีคุณสมบัติครบถ้วน ให้ดำเนินการแต่งตั้งต่อไป"

ประกอบกับนักทรัพยากรบุคคงได้มีบันทึก ลว. 23 พ.ย. 60 มีสาระเช่นเดียวกันกับบันทึกของปลัดฯ และนายกฯ สั่งท้ายบันทึกว่า "ให้ดำเนินการเบิกจ่ายค่าตอบแทน ให้ยืนยันออกคำสั่งต่อไป" และมีคำสั่งแต่งตั้ง เอ เป็นรองนายกฯ ลว. 24 พ.ย. 60

นอกจากนี้ หัวหน้าสำนักปลัดได้มีบันทึก ลว.7 ธ.ค. 60 (ก่อนมีการแต่งตั้ง บี เป็นรองนายก วันที่ 10 ธ.ค. 60) ระบุว่า กองคลังได้ตรวจสอบบันทึกและคำสั่ง เพื่อเป็นเอกสารแนบการเบิกจ่ายของ เอ รองนายกฯ ปรากฎว่า เอ ไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง สว. และไม่แจ้งเหตุ จึงขาดคุณสมบัติการเป็นรองนายกฯ ดังนั้น การเบิกจ่ายเงินเดือน ค่าตอบแทน ค่าตอบแทนพิเศษของบุคคลดังกล่าวจึงไม่ถูกต้อง เห็นควรทบทวนคำสั่ง ซึ่งนายกฯ ระบุความเห็นท้ายบันทึกว่า "เห็นควรเบิกจ่ายเงินเดือน ค่าตอบแทน ค่าตอบแทนพิเศษต่อไป"

ประกอบกับคณะกรรมการ ปปช. ส่งเรื่องให้ ผวจ. ผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอน กรณีมีการกล่าวหาร้องเรียนนายกฯ กระทำผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าราชการ ซึ่งตามรายงานการแสวงหาข้อเท๊จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานของ สนง.ปปช.จังหวัด ปรากฏข้อเท็จจริงสอดรับกับการสอบสวนของอำเภอ ว่า นายกฯ ใช้อำนาจแต่งตั้งรองนายกฯ โดยมิชอบด้วย ม.58/4 ม.58/1 พรบ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบลฯ ประกอบ ม.37(3) พรบ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารฯ โดยคณะกรรมการปปช.ระบุว่าเป็นการกระทำผิดเล็กน้อย

แต่คณะกรรมการสอบสวนจังหวัด เห็นว่าแม้เป็นความผิดเล็กน้อย แต่กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตมุ่งเน้นไปที่ผลการกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ตาม ปอ. จึงเป็นคนละกรณีกับการกระทำฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อยหรือสวัสดิภาพของประชาชน หรือละเลยไม่ปฏิบัติตามหรือปฏิบัติการไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่ ม.92 แห่งพรบ.สภาตำบลฯ

คณะกรรมการสอบสวนจังหวัด เสียงข้างมาก (4/5)  พิจารณาว่า นายก อบต. มีอำนาจหน้าที่ตามพรบ.สภาตำบลฯ ม.59 กล่าวคือ กำหนดนโยบ่ยไม่ขัดต่อกฎหมาย รับผิดชอบในการบริหาราชการให้เป็นไปตามกฎหมาย นโยบาย แผนฯ ข้อบัญญัติระเบียบ สั่ง อนุญาตและอนุมัติเกี่ยวกับราชการ แต่งตั้งรองนายกฯและเลขานุการ และม.60 ควบคุมและรับผิดชอบในการบริหารราชการ อบต. ตาม กฎหมาย แต่กลับปรากฏพฤติการณ์ตามความเห็นและหลักฐานของ นอภ.

ต่อมา นายก อบต. ได้มีคำสั่งให้เอและบีพ้นจากตำแหน่งรองนายกฯ หลังจากได้รับแจ้งผลวินิจฉัยของ นอภ. เพียง 5 วัน คณะกรรมการสอบสวนจังหวัดเห็นว่า คำสั่งดังกล่าวหามีผลทางกฎหมาย เนื่องจากเอและบีต้งพ้นจากตำแหน่งตามคำวินิจฉัย นอภ. โดยมีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ได้มีการแต่บตั้ง ไม่ถือว่านายกฯ มีเจตนาจะแก้ไขหรือเยียวยาผลร้ายในการที่ตนได้กระทำผิดกฎหมาย ถือจะถือเป็นเหตุอันควรปราณีให้ลงโทษเป็นว่ากล่าวตักเตือน ดังนั้นคณะกรรมการฯ เห็นควรมีคำสั่งให้นายกฯ พ้นจากตำแหน่ง

แต่ทั้งนี้ มีความเห็นเสียงข้างน้อย (1/5) ระบุว่า การที่นายกฯ มีคำสั่งให้รองนายกฯ ทั้วสองพ้นจากตำแหน่ง 12 มิ.ย. 61 ภายหลังจากที่ได้รับแจ้งผลวินิจฉัยจากอำเภอเพียง 5 วัน แสดงให้เห็นว่ามีเจตนาจะแก้ไข พฤติการณ์ยังไม่ร้ายแรงเพียงพอให้สั่งพ้นจากตำแหน่ง และขอเสนอให้ ผวจ. แจ้ง นอภ. ว่ากล่าวตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษรว่าอย่าให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก ตามความเห็นท้องถิ่นจังหวัด เนื่องจากหากให้พ้นจากตำแหน่งจะต้องถูกตัดสิทธิทางการเมืองถึง 5 ปี

คำถาม
1) กรณีความเห็นของคณะกรรมการสอบสวนมีสองทาง ควรดำเนินการอย่างไร
2) กรณีปปช.แจ้งมายัง ผวจ. ว่าเป็นการกระทำผิดเล็กน้อย ให้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ นั้น นอกจากดำเนินการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนจังหวัดแล้ว ควรให้พนง.สอบสวนดำเนินการตาม ป.วิ.อ. หรือไม่ อย่างไรคะท่านอาจารย์ @p.prawit

ตอบ

          เป็นคำถามเกี่ยวกับการสอบสวนผู้บริหารท้องถิ่นตามระเบียบ มท.ว่าด้วยการสอบสวนฯ ปี ๕๔ กรณี ป.ป.ช.ส่งเรื่อง
          ท่านอาจารย์สัญจิต พวงนาค (โทร.๐๘๑๑๗๔๓๗๖๙) ตอบดังนี้...

          "คำถาม
          1) กรณีความเห็นของคณะกรรมการสอบสวนมีสองทาง ควรดำเนินการอย่างไร
          ตอบ ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการสอบสวนผู้บริหารท้องถิ่นฯ ข้อ 15 วรรคสอง กำหนดว่า ความเห็นของคณะกรรมการสอบสวนให้ถือเสียงข้างมากของกรรมการที่มาประชุม ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานกรรมการออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งเสียงเป็นเสียงชี้ขาด และข้อ 23 วรรคหนึ่ง กำหนดว่า ถ้ากรรมการสอบสวนคนใดมีความเห็นแย้งจะทำความเห็นแย้งติดไว้กับสำนวนการสอบสวนก็ได้ ดังนั้น เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า คณะกรรมการสอบสวนของจังหวัดจำนวน 4 คน จากทั้งหมด 5 คน ได้ลงคะแนนเสียงเห็นว่า มีเหตุที่จะสั่งให้ นายก อบต. พ้นจากตำแหน่ง จึงถือเป็นเสียงข้างมาก ส่วนกรรมการสอบสวนที่เป็นเสียงข้างน้อยสามารถทำความเห็นแย้งติดไว้กับสำนวนการสอบสวน แล้วนำมติของคณะกรรมการสอบสวนพร้อมความเห็นแย้งนี้เสนอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณาได้

          2) กรณี ปปช.แจ้งมายัง ผวจ. ว่าเป็นการกระทำผิดเล็กน้อย ให้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ นั้น นอกจากดำเนินการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนจังหวัดแล้ว ควรให้พนง.สอบสวนดำเนินการตาม ป.วิ.อ. หรือไม่ อย่างไรคะท่านอาจารย์
          ตอบ หากผู้ว่าราชการจังหวัดได้ตรวจสอบแล้วเห็นว่า การกระทำของนายก อบต.มีมูลเป็นความผิดทางอาญา ผู้เสียหายก็สามารถร้องทุกข์หรือผู้ว่าราชการจังหวัดสามารถกล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนเพื่อให้ดำเนินคดีอาญาได้"

          อ้างอิง :

          ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการสอบสวนผู้บริหารท้องถิ่น รองผู้บริหารท้องถิ่น ประธานสภาท้องถิ่น รองประธานสภาท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น เลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น และที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.๒๕๕๔
          ข้อ ๑๕ วรรคสอง
          ข้อ ๒๓ วรรคหนึ่ง
         
          ขอบคุณท่านอาจารย์สัญจิต พวงนาค ครับ
#114

คำถาม  ๑๗/๑/๖๓
กรณีที่พนักงานถูกยื่นฟ้องศาลแล้วศาลชั้นต้นตัดสินให้จำคุก 6 เดือนไม่รอลงอาญาเราต้องให้พนักงานคนนั้นออกจากราชการก่อนไหมคะ

ตอบ

          ไม่พบข้อมูลสำคัญ เช่น คดีถึงที่สุดแล้วหรือไม่ หรืออยู่ระหว่างอุทธรณ์ และผู้นั้นได้รับการประกันตัวในระหว่างอุทธรณ์หรือไม่ นายกฯ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงแล้วหรือไม่ อย่างไร เป็นต้น

          หลักการที่เกี่ยวข้อง มีดังนี้

          ๑. กรณีข้าราชการส่วนท้องถิ่นถูกฟ้องคดีอาญา นายกฯ ต้องตั้งกรรมการสอบวินัยไปพร้อมกัน (ว ๔)
          ๒. เหตุในการสั่งให้ข้าราชการส่วนท้องถิ่นออกจากราชการไว้ก่อน โดยความเห็นชอบของ ก.จังหวัด อย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
               ถ้าปรากฏว่าผู้นั้น
               (๑) ถูกแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง และนายกฯ เห็นว่าอยู่ในราชการต่อไปจะเกิดความเสียหาย
               (๒) ถูกฟ้องคดีอาญาในเรื่องเกี่ยวกับหน้าที่ราชการ โดยอัยการไม่รับเป็นทนายแก้ต่างให้ และนายกฯ เห็นว่าอยู่ในราชการต่อไปจะเกิดความเสียหาย
               (๓) มีพฤติการณ์จะเป็นอุปสรรคต่อการสอบสวนพิจารณาหรือจะก่อความไม่สงบเรียบร้อยขึ้น
               (๔) อยู่ระหว่างถูกควบคุม ขัง หรือจำคุกติดต่อกันเกินกว่า ๑๕ วันแล้ว
               (๕) ถูกแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทั้งก่อนและหลังมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าผิดอาญาในเรื่องที่สอบสวน และนายกฯ เห็นว่าข้อเท็จจริงชัดแล้วว่าผิดวินัยอย่างร้ายแรง
               (ข้อ ๑๔ ประกอบข้อ ๑๙)

          ดังนั้น ตามคำถาม นายกฯ จะสั่งให้ข้าราชการส่วนท้องถิ่นออกจากราชการไว้ก่อน ต้องเข้าเงื่อนไขดังกล่าว ไม่เช่นนั้น นายกฯ จะไม่อาจสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน โดยความเห็นชอบของ ก.จังหวัดได้

          และกรณีศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้จำคุก ๖ เดือน โดยไม่รอลงอาญา หากจำเลยได้รับการประกันตัวออกมาสู้คดีในชั้นอุทธรณ์ และไม่มีเหตุดังข้างต้น นายกฯ ก็ไม่อาจสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนได้ เช่นเดียวกัน

          อ้างอิง :

          ๑. หนังสือสำนักงาน ก.พ.ที่ สร ๐๙๐๕/ว ๔ ลงวันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๐๙
          ๒. หนังสือกระทรวงมหาดไทย ลับ ที่ ๑๓๓๓๓/๒๔๙๘ ลงวันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๔๙๘
          ๓. หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการให้ออกจากราชการ (พ.ศ.๒๕๕๘/๒๕๕๙)
               ข้อ ๑๔ วรรคหนึ่ง
               ข้อ ๑๙ วรรคหนึ่ง

           ขอบคุณครับ
#115

คำถาม  ๒๐/๑/๖๓
ปลัดฯย้ายมาดำรงตำแหน่ง   ต่อมามีหนังสือจากต้นสังกัดเดิมให้ ที่ใหม่ลงโทษทางวินัย ภาคทัณฑ์  ตามข้อ 74  ประกาศ ก. ฐานความผิดตาม ข้อ 8   
ตรวจสอบเบื้องต้นแล้วพบว่า ที่เดิมไม่มีการตั้งกรรมการสอบวินัย  แค่ให้ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงแล้วนายกก็วินิจฉัยสั่งลงโทษภาคทัณฑ์  แล้วส่งเรื่องให้ที่ใหม่ออกคำสั่งภาคทัณฑ์    เช่นนี้แล้วที่ใหม่ควรดำเนินการอย่างไรคะ  ต้องตั้งกรรมการสอบหรือไม่คะ

ตอบ

          ประเด็น

          โอน (ย้าย) ขณะถูกสอบวินัย ต้องดำเนินการอย่างไร

          สรุป

          สอบต่อไปจนเสร็จ แล้วส่งสำนวนให้สังกัดใหม่พิจารณาสั่งการ

          ขยายความ

          ข้าราชการส่วนท้องถิ่นโอน (ย้าย) ไปสังกัดอื่น ในขณะที่ถูกสอบสวน ให้สอบสวนต่อไปจนเสร็จ และเสนอสำนวนการสอบสวนให้นายกฯ สังกัดเดิมตรวจสอบความถูกต้อง แล้วส่งสำนวนการสอบสวน (ไม่ต้องทำความเห็น) นั้นไปให้นายกฯ สังกัดปัจจุบันพิจารณาสั่งการ (ข้อ ๗๔ ว ๑)
          เมื่อนายกฯ สังกัดปัจจุบันได้รับสำนวนการสอบสวนจากสังกัดเดิม ให้นายกฯ สังกัดปัจจุบันตรวจสอบความถูกต้องของสำนวนอีกครั้ง (ข้อ ๗๔ ว ๑) แล้วพิจารณาสั่งสำนวน ภายใน ๓๐ วันนับแต่วันได้รับสำนวนจากสังกัดเดิม ([ข้อ ๗๗ ว ๑ (๑)]
          ในกรณีนายกฯ เห็นสมควรให้สอบสวนเพิ่มเติมประการใด ให้กำหนดประเด็นพร้อมทั้งเอกสารที่เกี่ยวข้องไปให้คณะกรรมการสอบสวนคณะเดิมเพื่อดำเนินการสอบสวนเพิ่มเติมได้ (ข้อ ๗๘ ว ๑) กรณีคณะเดิมไม่อาจทำการสอบสวนได้ หรือนายกฯ เห็นเป็นการจำเป็น อาจแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนคณะใหม่ขึ้นทำการสอบสวนเพิ่มเติมก็ได้ (ข้อ ๗๘ ว ๒)

          ถ้าเป็นกรณีกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรง ให้ดำเนินการสอบสวนตามที่นายกฯ เห็นสมควร (ข้อ ๒๖ ว ๓)
          ซึ่งหลักการสอบสวนทางวินัย มีดังนี้
          ๑. ต้องแจ้งและอธิบายข้อกล่าวหา
          ๒. ต้องสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหา
          ๓. ต้องให้โอกาสชี้แจงหรือนำสืบ
          (ข้อ ๒๖ ว ๑)

          ดังนั้น คำถามมีประเด็นอยู่ว่า ในวันที่นายกฯ สังกัดเดิมมีความเห็นให้ลงโทษภาคทัณฑ์นั้น ปลัดโอน (ย้าย) ไปสังกัดใหม่หรือยัง หากโอน (ย้าย) แล้ว นายกฯ สังกัดเดิมไม่สามารถลงความเห็นดังกล่าวได้ มีหน้าที่เพียงตรวจสอบความถูกต้องเท่านั้น เมื่อนายกฯ มีความเห็น ถือว่าเกินกว่าหน้าที่ที่หลักเกณฑ์กำหนด จึงไม่ผูกพันนายกฯ สังกัดปัจจุบันที่จะต้องเห็นตาม

          วิธีปฏิบัติ

          ๑. ให้นายกฯ สังกัดปัจจุบันตรวจสอบความถูกต้องของสำนวนอีกครั้ง (ข้อ ๗๔ ว ๑)
          ๒. กรณีนายกฯ เห็นว่าเป็นความผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรง (ภาค/ตัด/ลด) ให้ออกคำสั่งลงโทษ ภายใน ๓๐ วัน นับแต่ได้รับสำนวนจากสังกัดเดิม [ข้อ ๗๗ ว ๑ (๑)] แล้วรายงานไปยัง ก.จังหวัดเพื่อพิจารณา (ข้อ ๘๗ ว ๑)
          ๓. กรณีนายกฯ เห็นสมควรให้สอบสวนเพิ่มเติม ต้องกำหนดประเด็น
              (๑) ส่งไปให้สังกัดเดิมสอบเพิ่มเติม หรือ
              (๒) กรณีนายกฯ เห็นเป็นการจำเป็น อาจตั้งกรรมการคณะใหม่สอบสวน หรือให้ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงเพิ่มเติมตามประเด็นก็ได้

          ดังนั้น การที่เห็นเป็นวินัยอย่างไม่ร้ายแรง และสังกัดเดิมได้ดำเนินการสอบสวนตามที่นายกฯ เห็นสมควร (โดยให้ชี้แจงเป็นหนังสือ) แล้ว จึงถือเป็นอันใช้ได้ แต่หากมีประเด็นเพิ่มเติม นายกฯ สังกัดปัจจุบันก็สามารถส่งสำนวนกลับไปให้สังกัดเดิมสอบสวนเพิ่มเติม หรือตั้งกรรมการสอบสวนวินัยอย่างไม่ร้ายแรง หรือให้ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงตามประเด็นนั้นได้

          อ้างอิง :

          หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการสอบสวน การลงโทษทางวินัย (พ.ศ.๒๕๕๘/๒๕๕๙)
          ข้อ ๘
          ข้อ ๒๖ วรรคหนึ่ง และวรรคสาม
          ข้อ ๗๔ วรรคหนึ่ง
          ข้อ ๗๗ วรรคหนึ่ง (๑)
          ข้อ ๗๘ วรรคหนึ่ง และวรรคสอง

          ขอบคุณครับ
#116

คำถาม  ๒๒/๑/๖๓
กรณีขาดราชการติดต่อกันเกิน15วัน ให้นับเฉพาะวันทำการหรือรวมวันหยุดด้วยค่ะ และต้องดำเนินการต่ออย่างไร นายกสามารถดำเนินการทางวินัยโดยไม่ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการได้หรือไม่

ตอบ

          การขาดราชการติดต่อในคราวเดียวกันเป็นเวลาเกินกว่า ๑๕ วัน (พนักงานจ้าง/ลูกจ้าง ๗  วัน) โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ให้นับวันหยุดราชการในระหว่างนั้น (วันหยุดตรงกลาง) รวมเข้าไปด้วย (/๑๐๐๐)

          ในฐานะเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบต้องทำบันทึกข้อความรายงานตามลำดับชั้นถึงนายกฯ โดยเร็ว (ข้อ ๒๔ ว ๗) พร้อมแนบสมุดลงเวลามาปฏิบัติหน้าที่ราชการ (ที่ผู้นั้นไม่ลงชื่อ) แล้วเสนอความเห็นว่า "เห็นควรดำเนินการ ดังนี้
          ๑. สืบสวนว่ามีเหตุผลอันสมควรหรือไม่ หากไม่มีเหตุผลอันสมควร ถือเป็นความผิดที่ปรากฏชัดแจ้ง [ข้อ ๔๖ ว ๑ (๓)] ซึ่งนายกฯ จะไม่สอบสวน หรืองดการสอบสวนก็ได้ โดยต้องลงความเห็นว่า ควรปลดออก/ไล่ออก [ข้อ ๗๗ ว ๑ (๒)] แล้วรายงานไปยัง ก.จังหวัด เพื่อขอความเห็นชอบให้ลงโทษวินัยอย่างร้ายแรง (ข้อ ๘๕ ว ๑) ต่อไป" หรือ
          "๒. แต่งตั้งคณะกรรมกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง (ข้อ ๒๖ ว ๖)
          ๓. แจ้งกองคลังเพื่อระงับการจ่ายเงินเดือนระหว่างขาดราชการ (ม.๑๖ ว ๑) และรอจนกว่าการสอบสวนจะแล้วเสร็จ จึงพิจารณาเกี่ยวกับเงินเดือนระหว่างขาดราชการอีกครั้ง"

          อ้างอิง :

          ๑. หนังสือสำนักงาน ก.พ.ที่ นร ๐๗๐๙.๒/๑๐๐๐ ลงวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๓๗
          ๒. หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการสอบสวน การลงโทษทางวินัย (พ.ศ.๒๕๕๘/๒๕๕๙)
               ข้อ ๒๔ วรรคเจ็ด
               ข้อ ๒๖ วรรคหก
               ข้อ ๔๖ วรรคหนึ่ง (๓)
               ข้อ ๗๗ วรรคหนึ่ง (๒)
               ข้อ ๘๕ วรรคหนึ่ง
          ๓. พระราชกฤษฎีกาการจ่ายเงินเดือน เงินปี บำเหน็จ บำนาญ หรือเงินอื่นที่มีลักษณะเดียวกัน พ.ศ.๒๕๓๕
               มาตรา ๑๖ วรรคหนึ่ง   
          ๔. มาตรฐานทั่วไปเกี่ยวกับอัตราเงินเดือนและวิธีการจ่ายเงินเดือนฯ ลงวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๔
               ข้อ ๑ 

          ขอบคุณทุกความเห็น ครับ
#117

***ซักซ้อมความเข้าใจกรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐถูกกล่าวหาร้องเรียนต่อคณะกรรมการ  ป.ป.ช.***
"กรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐมีเรื่องถูกกล่าวหาร้องเรียนอยู่ในระหว่างการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการ  ป.ป.ช. ไม่ว่าจะอยู่ในขั้นตอนใด หากคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังมิได้พิจารณามีมติวินิจฉัยว่ามีมูลความผิด ย่อมถือไม่ได้ว่าผู้นั้นมีความผิดในเรื่องที่ถูกกล่าวหาร้องเรียน ผู้บังคับบัญชาจึงไม่ควรนำเหตุนี้ไปเป็นเหตุผลในการพิจารณาปรับย้าย การเลื่อนเงินเดือน การเลื่อนระดับ หรือตำแหน่ง หรือการให้สิทธิประโยชน์อื่นๆ ในทางที่เป็นโทษแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ถูกกล่าวหา" -หนังสือสำนักงาน ป.ป.ช. ที่ปช ๐๐๑๙/ว ๐๐๑ ลว. ๑๐ ก.พ. ๒๕๕๓- #ด้วยจิตคารวะ #เศรษฐพงศ์ฯ
#118

คำถาม  ๒๔/๑/๖๓
1.กรณีที่ศาลปกครองสูงสูดมีคำพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งลงโทษปลดออก เนื่องจากเห็นว่าเป็นความผิดวินัยฐานที่นอกเหนือจากที่กำหนดในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ป.ป.ช.ซึ่งกำหนดให้ใช้สำนวนสอบสวนของ ป.ป.ช.ในการสั่งลงโทษได้ กรณีนี้ไม่ได้ตั้งคณะกรรมการสอบวินัยก่อน แต่มีการยึดสำนวนการชี้มูลของ ป.ป.ช.ลงโทษ เห็นว่าเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลสั่งเพิกถอนคำสั่งลงโทษดังกล่าวพร้อมทั้งให้คืนสิทธิประโยชน์ที่พึงได้รับเสมือนมิได้ถูกลงโทษปลดออก เมื่อได้เพิกถอนคำสั่งลงโทษแล้ว สามารถดำเนินการคืนสิทธิประโยชน์ที่พึงได้รับ คือส่วนเงินเดือนในระหว่างที่ถูกปลดออกได้เลยหรือไม่หรือต้องรอกระบวนการทางวินัยเสร็จสิ้นก่อนคะ
2.การคืนเงินเดือนในระหว่างถูกปลดออก หากผู้ฟ้องคดีมีหนี้ที่ต้องชำระให้กับหน่วยงานสามารถทำสัญญาหักกลบลบหนี้ได้หรือไม่คะ มีกฎหมายระเบียบที่กำหนดไว้หรือไม่ ขอบคุณมากค่ะ

ตอบ

          สรุป

          ๑. เงินเดือนระหว่างปลดออกจากราชการ จะจ่ายได้ต่อเมื่อคดีหรือกรณีถึงที่สุด
          ๒. ลูกหนี้อาจให้หักเงินเดือนเพื่อใช้หนี้ได้

          ขยายความ

          ๑. ข้าราชการส่วนท้องถิ่นผู้ใดถูกสั่งลงโทษปลดออกจากราชการ ต่อมาผู้นั้นได้อุทธรณ์คำสั่งลงโทษต่อ ก.จังหวัด และ ก.จังหวัดมีมติให้ยกเลิกคำสั่งลงโทษปลดออก หรือผู้นั้นได้ฟ้องคดีต่อศาลปกครอง และศาลปกครองมีคำพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งลงโทษปลดออก อันเนื่องมาจากกระบวนการไม่ชอบ นายกฯ ต้องดำเนินการทางวินัยใหม่ให้ถูกต้อง กรณีนี้ผู้นั้นต้องกลับเข้าปฏิบัติหน้าที่หรือกลับเข้ารับราชการและถูกดำเนินกระบวนการทางวินัยใหม่
               สำหรับเงินเดือนระหว่างถูกปลดออกจากราชการยังไม่อาจจ่ายได้ (มิใช่กรณียกเลิกคำสั่งลงโทษเพราะมิได้กระทำความผิด) จนกว่าคดีหรือกรณีจะถึงที่สุด
               เมื่อคดีหรือกรณีถึงที่สุด ให้พิจารณาจ่ายเงินเดินระหว่างถูกปลดออกจากราชการ ตามความในข้อ ๔ ของหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเดือนฯ
               ส่วนการคืนสิทธิด้านอื่น ต้องเป็นไปตามระเบียบว่าด้วยการนั้น หรือตามคำพิพากษา

          ๒. เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิจะเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ได้ (ม.๑๙๔) และข้าราชการส่วนท้องถิ่นผู้เป็นหนี้ ต้องชำระหนี้ หาไม่แล้วอาจมีความผิดทางวินัยฐานประพฤติชั่ว (ข้อ ๒๓ ว ๑) นอกจากนี้ยังมีกฎหมายซึ่งกำหนดให้ลูกหนี้มีหน้าที่ต้องชำระหนี้ เช่น กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) หรือการกู้ยืมเงินจากสหกรณ์ เป็นต้น
          ดังนั้น ลูกหนี้จึงอาจขอให้หน่วยงานหักเงินเดือนเพื่อใช้หนี้ได้
          อย่างไรก็ตาม กรณีดังกล่าวหากมีปัญหาในทางปฏิบัติ ควรหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง

          อ้างอิง :

          ๑. หลักเกณฑ์วิธีการจ่ายเงินเดือนข้าราชการส่วนท้องถิ่นผู้ถูกสั่งพักราชการ ผู้ถูกสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน ผู้ร้องทุกข์คำสั่งให้ออกจากราชการ ผู้อุทธรณ์คำสั่งลงโทษปลดออกหรือไล่ออกจากราชการ พ.ศ.๒๕๔๖
              ข้อ ๔
          ๒. ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
               มาตรา ๑๙๔
          ๓. หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการสอบสวน การลงโทษทางวินัย (พ.ศ.๒๕๕๘/๒๕๕๙)
               ข้อ ๒๓ วรรคหนึ่ง

          ขอบคุณครับ
#119

คำถาม  ๒๗/๑/๖๓
เทศบาลมีคำสั่งแต่งคณะกรรมการสอบวินัยร้ายแรง พนักงานจ้าง ในเรื่องละทิ้งการทำงานเกินกว่า 7 วัน แต่ในทางสอบสวนทราบว่าการที่ผู้ถูกกล่าวหาละทิ้งการทำงาน มีสาเหตุมาจากถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุม ข้อกล่าวหา มียาเสพติดไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ปัจจุบันถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำ (ศาลยังไม่ได้ตัดสิน) อยากเรียนถามว่า

การสรุป สว 6 ต้องสรุปว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำผิดวินัยร้ายแรงในเรื่องละทิ้งการทำงานเกินกว่า 7 วัน อันมีสาเหตุมาจากถูกคุมขัง ด้วยข้อกล่าวหามียาเสพติดไว้ในครอบครอง หรือต้องสรุปเป็นความผิดฐานใด และลงโทษสถานไหนคะ

หากอาจารย์มีข้อเสนอใดแนะนำขอความกรุณาให้คำแนะนำด้วยค่ะ .... ขอขอบคุณค่ะ

ตอบ

          การออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง ต้องมีมูลเพียงพอเสียก่อนว่า มีการละทิ้งการทำงานจริง แต่การตรวจสอบเฉพาะสมุดลงเวลามาปฏิบัติงานอย่างเดียว บางครั้งอาจไม่เพียงพอ ดังนั้น จึงต้องมีการสืบสวนหรือพิจารณาในเบื้องต้นว่า มีมูลว่าเขากระทำผิดวินัยหรือไม่ (ข้อ ๒๔ ว ๕) กรณีนี้อาจไม่จำต้องตั้งกรรมการข้อเท็จจริง (ข้อ ๒๔ ว ๗) เพียงมีการสืบสวนเท่านั้น
          และถ้าได้ดำเนินการตามข้างต้นแล้ว ข้อกล่าวหาในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงดังกล่าว อาจเปลี่ยนไป จาก "ละทิ้งการทำงานติดต่อเกินกว่า ๗ วัน" เป็น "ถูกจับกุมในคดียาเสพติด" ซึ่งคำถามนี้จะไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน !!

          การละทิ้งการทำงานติดต่อกันเกินกว่า ๗ วันของพนักงานจ้าง (ข้าราชการ ๑๕ วัน) โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร เป็นกรณีไม่อาจไปไหนมาไหนได้ตามปกติ แต่การถูกควบคุม ขัง หรือจำคุกในคดีอาญา แม้ต้องการมาทำงาน ก็ไม่อาจกระทำได้โดยแท้ !!!

          ดังนั้น กรณี (เมื่อความปรากฏแก่นายกฯ ว่า) พนักงานจ้างต้องหาคดีอาญา นายกฯ ต้องดำเนินการทางวินัยไปพร้อมกัน (ว ๔) และเมื่อเป็นคดีเกี่ยวกับยาเสพติด จึงต้องออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง แล้วรายงานไปยัง ก.จังหวัด เพื่อขอความเห็นชอบให้ผู้นั้นออกจากงานไว้ก่อน (ว ๗๓๓)
          ซึ่งหากผลการสอบสวนทางวินัยยังไม่อาจฟังลงโทษผู้ถูกกล่าวหาได้ ให้รอสั่งการเด็ดขาดทางวินัยไว้ก่อน จนกว่าจะทราบผลทางคดีอาญา (ว ๙)

          คำแนะนำ

          ๑. ควรออกคำสั่งอีก ๑ คำสั่ง เพื่อเพิ่มเติมข้อกล่าวหา กรณีเกี่ยวข้องกับยาเสพติด โดยเท้าความถึงคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเดิม
          ๒. ควรรอการจัดทำรายงานการสอบสวน (สว.๖) กรณีละทิ้งการทำงานติดต่อกันเกินกว่า ๗ วัน ไว้จัดทำและเสนอในคราวเดียว (เพราะผลการสอบสวนอาจเปลี่ยนไป)
          ๓. กรณีมียาเสพติดไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย เป็นความผิดทางวินัย ฐานประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง (ข้อ ๒๓ ว ๒) และโทษที่จะได้รับ คือ ไล่ออกจากราชการ (สำหรับพนักงานจ้าง) ทั้งนี้ ย่อมขึ้นอยู่กับผลการสอบสวนพิจารณา
          ๔. กรณีละทิ้งการทำงานติดต่อกันเกินกว่า ๗ วัน อาจเสนอความเห็นให้ยุติเรื่องได้

          อ้างอิง :

          ๑. หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการสอบสวน การลงโทษทางวินัย (พ.ศ.๒๕๕๘/๒๕๕๙)
               ข้อ ๑๖ วรรคสอง
               ข้อ ๒๓ วรรคสอง
               ข้อ ๒๔ วรรคห้า และวรรคเจ็ด
          ๒. มาตรฐานทั่วไปเกี่ยวกับพนักงานจ้าง ลงวันที่ ๑๒ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๔๗
               ขัอ ๔๘
               ข้อ ๔๙ วรรคสอง
          ๓. หนังสือสำนักงาน ก.พ.ทึ่ สร ๐๙๐๕/ว ๔ ลงวันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๐๙
          ๔. หนังสือสำนักงาน ก.พ.ที่ สร ๐๙๐๕/ว ๙ ลงวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๐๙
          ๕. หนังสือสำนักงาน ก.อบต., ก.ท. และ ก.จ. ที่ มท ๐๘๐๙.๑/ว ๗๓๓ ลงวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๔๖

          ขอบคุณทุกความเห็น ครับ
#120

คำถาม  ๒๙/๑/๖๓
กรณีพนักงานครูเทศบาล ขาดราชการติดต่อกันเกินว่า 15 วัน โดยไม่ทราบสาเหตุนั้น  ถื่อเป็นการกระทำผิดทางวินัยที่ปรากฏชัดแจ้ง สมควรแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงหรืออาจจะไม่แต่งตั้งก็ได้ เพื่อดำเนินการทางวินัยกับบุคคลดังดังกล่าว  แต่ทางกองการศึกษามาทราบภายหลังว่าถูกดำเนินคดีทางอาญาฐานยักยอกทรัพย์มรดก และได้รับโทษหนักให้จำคุก 1 ปี โดยไม่รอการลงโทษ  ซึ่งถือว่าเป็นความผิดที่หนักกว่าความผิดการขาดราชการเกินกว่า 15 วัน และมีความเห็นดังนี้ 1. ระงับการเบิกจ่ายเงินเดือน และสทิธิ/สวัสดิการต่างๆ 2. ให้ประสานงานกับศาลจังหวัดเพื่อให้ทราบเรื่องที่ชัดเจนว่าคดีได้ถึงที่สุดแล้วหรือยัง และข้อ 3 หากคดีนี้ได้ถึงที่สุดแล้ว ให้ดำเนินการตามประกาศคณะกรรมการพนักงานเทศบาลจังหวัด เรื่องหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการให้ออกจากราชการ  ความเห็นนี้ถูกต้องหรือไม่ค่ะ  หรือ ต้องมาแต่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงหรือไม่ประการใด ขอความกรุณาชี้แนะด้วยค่ะอาจารย์/ขอบพระคุณมากค่ะ

ตอบ

          เพิ่งตอบไปว่า
          "การออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง ต้องมีมูลเพียงพอเสียก่อนว่า มีการละทิ้งการทำงานจริง แต่การตรวจสอบเฉพาะสมุดลงเวลามาปฏิบัติงานอย่างเดียว บางครั้งอาจไม่เพียงพอ ดังนั้น จึงต้องมีการสืบสวนหรือพิจารณาในเบื้องต้นก่อนว่า มีมูลว่าเขากระทำผิดวินัยหรือไม่ (ข้อ ๒๔ ว ๕) " (คำถาม  ๒๗/๑/๖๓)
          การสืบสวนหรือพิจารณาในเบื้องต้น อาจกระทำได้ โดยการตั้งกรรมการ
          ๑. สืบสวน
          ๒. สอบสวน หรือ
          ๓. ตรวจสอบ
          ข้อเท็จจริง ก็ได้ (ข้อ ๒๔ ว ๘)

          ดังนั้น กรณีที่จำต้องสืบสวนหรือพิจารณาในเบื้องต้นว่ามีมูลเพียงพอที่จะดำเนินการทางวินัยได้หรือไม่ เช่น
          ๑. มีหนังสือร้องเรียนโดยปรากฏตัวผู้ร้อง
          ๒. มีกรณีเป็นที่สงสัยว่าข้าราชการส่วนท้องถิ่นกระทำผิดวินัย
          โดยยังไม่มีพยานหลักฐานในเบื้องต้น (ข้อ ๒๔ ว ๕) ซึ่งการไม่ลงชื่อมาปฏิบัติราชการ บางครั้งอาจอยู่ในความหมายนี้ (ต้องพิจารณาข้อเท็จจริงเป็นเรื่อง ๆ ไป)

          สรุป 

          ๑. ข้าราชการผู้ใดไม่มาทำงาน (โดยไม่อาจอ้างกฎหมายได้) ผู้นั้นไม่มีสิทธิได้รับเงินเดือน
          ๒. และ ๓. ถูกต้องแล้ว

          ขยายความ

          ๑. เงินเดือนเป็นเงินที่จ่ายให้กับผู้มีสิทธิได้รับเท่านั้น ผู้ที่ไม่มาทำงานโดยไม่อาจอ้างกฎหมายได้ ย่อมไม่มีสิทธิได้รับเงินดังกล่าว รวมถึงสิทธิสวัสดิการด้านอื่น ๆ ด้วย (ม.๑๖ ว ๒)
          ๒. กรณีข้าราชการส่วนท้องถิ่นผู้ใดถูกควบคุม ขัง หรือจำคุกในคดีอาญาติดต่อกันเกินกว่า ๑๕ วัน [ข้อ ๑๔ (๔)] ผู้นั้นมีหน้าที่ต้องรายงานให้นายกฯ ทราบ เพื่อขอความเห็นชอบให้ออกจากราชการไว้ก่อน และเพื่อประโยชน์ในการจ่ายเงินเดือน คดีดังกล่าวจำเลยคงปกปิดสถานะความเป็นข้าราชการ และไม่กล้ารายงานให้นายกฯ ทราบ เป็นเหตุให้นายกฯ ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง ดังนั้น ต้นสังกัดชอบที่จะมีหนังสือสอบถามผลคดีไปยังศาลเพื่อดำเนินการต่อไป
          ๓. กรณีข้าราชการส่วนท้องถิ่นต้องหาคดีอาญา หรือถูกฟ้องคดีอาญา นายกฯ ต้องดำเนินการทางวินัยไปพร้อมกัน (ว ๔) ซึ่งกรณีนี้ยังไม่มีการดำเนินการใด ๆ อาจเข้าข่ายละเลยหรือไม่สุจริต (ข้อ ๒๔ ว ๑๒) แต่อย่างไรก็ตาม นายกฯ อาจไม่ทราบข้อมูลด้วยเหตุผลข้างต้น
               ดังนั้น เมื่อ (ความปรากฏต่อนายกฯ ว่า) ข้าราชการส่วนท้องถิ่นในสังกัดต้องคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุก ๑ ปี โดยไม่รอลงอาญา นายกฯ จึงต้องดำเนินการทางวินัยทันที (ขัอ ๒๔ ว ๔) โดยไม่ต้องตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงอีก
               ส่วนกรณีเป็นความผิดที่ปรากฏชัดแจ้ง ซึ่งนายกฯ จะดำเนินการทางวินัยโดยไม่สอบสวน หรืองดการสอบสวนได้นั้น ต้องเป็นกรณีคำพิพากษาถึงที่สุด [ข้อ ๔๖ (๑)] เท่านั้น

          อ้างอิง :

          ๑. พระราชกฤษฎีกาการจ่ายเงินเดือน เงินปี บำเหน็จ บำนาญ และเงินอื่นในลักษณะเดียวกัน พ.ศ.๒๕๓๕
              มาตรา ๑๖ วรรคสอง
              มาตรา ๒๑ วรรคหนึ่ง
              มาตรา ๒๒
          ๒. หนังสือสำนักงาน ก.พ.ที่ สร ๐๙๐๕/ว ๔ ลงวันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๐๙
          ๓. หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการสอบสวน การลงโทษทางวินัย (พ.ศ.๒๕๕๘/๒๕๕๙)
              ข้อ ๑๕
              ข้อ ๑๗ วรรคสอง
              ข้อ ๒๓ วรรคสอง
              ข้อ ๒๔ วรรคสี่ วรรคห้า วรรคเจ็ด และวรรคสิบสอง
              ข้อ ๔๖ (๑)
          ๔. หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการให้ออกจากราชการ (พ.ศ.๒๕๕๘/๒๕๕๙)
               ข้อ ๑๔ (๔)

          ขอบคุณครับ