• Welcome to ชมรมนิติกรองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น:เว็บไซท์อันดับ๑ของวงการท้องถิ่น.
Main Menu

แนวทางชี้แจง สตง. เห็นบางท่านบอกว่าเมื่อ สตง. ทักท้วงแล้วทำอะไรไม่ได้ ชี้แจงไปก็เท่านั้น และสุดท้าย

เริ่มโดย admin, 16-05-2018, 15:38:42

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

admin



แนวทางชี้แจง สตง.

เห็นบางท่านบอกว่าเมื่อ สตง. ทักท้วงแล้วทำอะไรไม่ได้ ชี้แจงไปก็เท่านั้น และสุดท้ายเมื่อส่งเรื่องให้ผู้ว่าชี้ขาดก็ให้ทำตามความเห็นของ สตง. อยู่ดี ผมเองมีประสบการณ์ชี้แจงต่อข้อทักท้วงของ สตง. ประมาณ 10 เรื่อง ซึ่ง สตง.ก็ไม่เคยล้างข้อทักท้วง แต่เมื่อส่งเรื่องให้ผู้ว่าชี้ขาด ผู้ว่าเห็นด้วยกับผมทุกเรื่องครับ
ช่วงนี้เห็นปอร์ดเงียบ ๆ เลยนำเอาแนวทางการชี้แจงต่อข้อทักท้วงของ สตง. ของผมที่เคยทำมา อาจเป็นประโยชน์ต่อใครหลายคนโดยเฉพาะนิติกร นำเอาไปปรับใช้ กับ อปท. ของตนเอง บอกตามตรงผมเองไม่เคยไปอบรมแนวทางการชี้แจงต่อข้อทักท้วงของ สตง. จากสำนักอบรมใดเลยจนถึงปัจจุบันนี้ เลยไม่รู้ว่าที่อื่นเขาทำกันและมีรูปแบบอย่างไร แต่แนวทางของผมเป็นแบบนี้ครับซึ่งเอาชนะ สตง.มาได้ตลอด ลองอ่านดูนะครับ อันนี้เรื่องท้ายสุดที่ชี้แจง
เรื่อง ขอชี้แจงต่อข้อทักท้วงของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ตามรายงานการตรวจสอบงบการเงินสำหรับ
ปีสิ้นสุดวันที่............
เรียน ผู้อำนวยการสำนักตรวจเงินแผ่นดินจังหวัด.........
อ้างถึง หนังสือ ลับ ที่ ตผ .................. ลงวันที่.........
สิ่งที่ส่งมาด้วย .....ฯลฯ......
ตามหนังสือที่อ้างถึง สำนักตรวจเงินแผ่นดินจังหวัด......... แจ้งผลการตรวจสอบงบการเงินขององค์การบริหารส่วนตำบล......... สำหรับปีสิ้นสุดวันที่......... และให้องค์การบริหารส่วนตำบล......... ดำเนินการตามข้อเสนอแนะ ความละเอียดแจ้งแล้ว นั้น
องค์การบริหารส่วนตำบล......... ได้รับหนังสือที่อ้างถึงเมื่อวันที่........แต่ไม่เห็นพ้องด้วยกับความเห็นของสำนักตรวจเงินแผ่นดินจังหวัด.........บางส่วน จึงขอชี้แจงต่อข้อทักท้วงหรือข้อเสนอแนะโดยมีรายละเอียดการชี้แจง ดังจะกล่าวต่อไปนี้
ข้อเท็จจริงจากการตรวจสอบของสำนักตรวจเงินแผ่นดินข้อที่ 4.1 (3) ความว่า
"ฎีกาเลขที่คลังรับ..........ลงวันที่......... เบิกจ่ายเงินค่าจัดซื้อเสื้อที่ใช้ในการแข่งขันเรือ จำนวน 221 ตัว ๆ ละ 135.00 บาท เป็นเงิน 29,835.00 บาท ตามโครงการจัดงานแข่งขันเรือตำบล......... ครั้งที่ 6 ประจำปีงบประมาณ 2558 ณ ..........ตำบล.........อำเภอ.........จังหวัด....... ...ฯลฯ...
พิจารณาแล้วเห็นว่า การเบิกจ่ายเงินค่าจัดซื้อเสื้อจำนวน 221 ตัว ให้แก่นักกีฬาและคณะกรรมการจัดการแข่งขันเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องดังกล่าวข้างต้นเป็นโครงการจัดงานแข่งเรือ มิใช่การแข่งขันกีฬาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จึงเป็นการเบิกจ่ายเงินโดยไม่มีระเบียบ กฎหมาย หรือหนังสือสั่งการ ให้กระทำได้
เป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการรับเงิน การเบิกจ่ายเงิน การฝากเงิน การเก็บรักษาเงิน และการตรวจเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2547 ข้อ 67 กำหนดว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะจ่ายเงินหรือก่อหนี้ผูกพันได้แต่เฉพาะที่กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หรือหนังสือสั่งการที่กระทรวงมหาดไทยกำหนดไว้
สาเหตุเกิดจากเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่า การเบิกจ่ายเงินค่าจัดซื้อเสื้อให้กับผู้เข้าร่วมการแข่งขันสามารถเบิกจ่ายได้เหมือนกับค่าใช้จ่ายในการแข่งขันกีฬา
ข้อเสนอแนะ
ให้เรียกเงินจำนวน 29,835.00 บาท จากเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบส่งคืนคลังองค์การบริหาร
ส่วนตำบล......... แล้วส่งสำเนาใบเสร็จรับเงินและสำเนาหลักฐานการนำเงินฝากธนาคารให้สำนักตรวจเงินแผ่นดินจังหวัด......... ตรวจสอบ"
องค์การบริหารส่วนตำบล......... พิจารณาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่สำนักตรวจเงินแผ่นดินทักท้วงแล้วเห็นว่ามีประเด็นตามข้อทักท้วงสองประเด็น คือ ประเด็นแรก สำนักตรวจเงินแผ่นดินเห็นว่า โครงการแข่งขันเรือในครั้งนี้มิใช่การแข่งขันกีฬาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประเด็นที่สอง สำนักตรวจเงินแผ่นดินเห็นว่า เมื่อโครงการนี้ไม่ใช่โครงการแข่งขันกีฬาการเบิกจ่ายค่าจัดซื้อเสื้อจึงเป็นการเบิกจ่ายเงินโดยไม่มีระเบียบ กฎหมาย หรือหนังสือสั่งการให้กระทำได้
องค์การบริหารส่วนตำบล......... ได้พิจารณาข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย ระเบียบและหนังสือสั่งการที่เกี่ยวข้องแล้ว ไม่เห็นด้วยกับความเห็นของสำนักตรวจเงินแผ่นดินจึงขอชี้แจงต่อข้อทักท้วง ดังจะกล่าวต่อไปนี้
ประเด็นแรก องค์การบริหารส่วนตำบล......... เห็นว่า การที่จะพิจารณาว่าโครงการใดเป็นโครงการประเพณีหรือเป็นโครงการแข่งขันกีฬา จะต้องพิจารณาถึงสภาพ ลักษณะ เนื้อหา และรูปแบบของกิจกรรมตามโครงการนั้น ๆ เป็นสำคัญ ว่าการดำเนินการโครงการดังกล่าวเป็นโครงการประเภทใด และไม่ได้หมายความว่าเมื่อโครงการใดเป็นโครงการประเภทประเพณีแห่งท้องถิ่นแล้วจะเป็นโครงการประเภทการแข่งขันกีฬาในขณะเดียวกันไม่ได้ เพราะไม่มีกฎหมาย ระเบียบ หนังสือสั่งการ หรือตรรกะใดห้ามไว้ ดังนั้น โครงการหนึ่ง ๆ อาจเป็นทั้งโครงการประเพณีและแข่งขันกีฬาในโครงการเดียวกันได้
เมื่อโครงการประเพณีแข่งเรือตำบล......... จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีเพื่อเป็นการส่งเสริมและอนุรักษ์ขนบธรรมเนียมประเพณีไทยมาแต่โบราณให้รู้จักแพร่หลายและคงอยู่ต่อไป จึงเป็นโครงการบำรุงรักษาศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น และวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่น
ปัญหาที่จะต้องพิจารณาต่อไปมีว่า โครงการนี้เป็นโครงการแข่งขันกีฬาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือไม่ ซึ่งพิจารณาแล้วเห็นว่า คำว่า "กีฬา" ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน หมายถึง "กิจกรรม หรือการเล่นเพื่อความสนุกเพลิดเพลิน เพื่อความผ่อนคลายความเคร่งเครียดทางจิต ตามหลักแล้วมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดความสมัครสมานสามัคคี รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย รู้ถึงขีดความสามารถของตนเอง การบริหารจัดการ การแก้ปัญหาอุปสรรคเฉพาะหน้า รวมทั้งสอนให้รู้จักการทำงานเป็นทีม การใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันกับผู้อื่น และการยอมรับผลที่ตามมาจากการกระทำของตัวเองไม่ว่าดีหรือร้าย" นอกจากนี้ประกาศการกีฬาแห่งประเทศไทย เรื่องกำหนดชนิดกีฬาที่สมาคมซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักเกี่ยวกับการกีฬา หรือส่งเสริมการกีฬาดังกล่าว จะต้องขอรับใบอนุญาตจาก กกท. ตามมาตรา 53 แห่งพระราชบัญญัติการกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2528 ข้อ 1 กำหนดว่า "ชนิดกีฬาที่สมาคมซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักเกี่ยวกับการกีฬา หรือส่งเสริมการกีฬาดังกล่าว จะต้องขอรับใบอนุญาตจาก กกท. ตามมาตรา 53 แห่งพระราชบัญญัติการกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2528 ได้แก่..ฯลฯ..(25) กีฬาแข่งเรือ (เรือพาย เรือกรรเชียง)..ฯลฯ.." เมื่อโครงการประเพณีแข่งเรือตำบล......... นอกจากมีวัตถุประสงค์ที่กล่าวมาแล้ว ยังมีวัตถุประสงค์และเป้าหมายให้ประชาชนในตำบล......... จำนวน 12 หมู่บ้าน และส่วนราชการในตำบล......... จำนวน 3 หน่วยงาน แข่งเรือพายเพื่อสร้างความสามัคคีในหมู่คณะ ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ และได้ออกกำลังกาย ซึ่งผู้ที่เข้าแข่งขันจะต้องมีการฝึกซ้อมการแข่งขันเป็นทีมมาก่อนจึงจะแข่งขันได้ ตามลักษณะทางกายภาพและรูปแบบของการแข่งขันประเภทนี้ นอกจากนี้ทีมเรือจะต้องปฏิบัติการแข่งขันตามกฎกติกาที่กำหนดอย่างชัดเจน ทำให้เกิดความสมัครสมานสามัคคี รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย รู้ถึงขีดความสามารถของตนเอง มีการบริหารจัดการ การแก้ปัญหาอุปสรรคเฉพาะหน้า รวมทั้งสอนให้รู้จักการทำงานเป็นทีม การใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันกับผู้อื่น ดังนั้น ตามเหตุผลที่กล่าวมาและประกาศการกีฬาแห่งประเทศไทยฯ ข้างต้น การแข่งขันเรือตามประเพณีแข่งเรือตำบล......... จึงเป็นการแข่งขันกีฬาแข่งเรือ (เรือพาย) อันเป็นการแข่งขันกีฬาประเภทหนึ่งปนอยู่กับโครงการประเพณีแข่งเรือ โดยหาได้เป็นแต่เฉพาะโครงการประเพณีเท่านั้นไม่
ประเด็นที่สอง สืบเนื่องมาจากพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ และพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๔๒ รวมทั้งระเบียบและหนังสือของกระทรวงมหาดไทย ให้อำนาจและหน้าที่องค์การบริหารส่วนตำบลในการจัดทำบริการสาธารณะหรือประโยชน์สาธารณะ ซึ่งบางเรื่องบางกรณีก็กำหนดให้มีอำนาจหน้าที่โดยไม่เปิดช่องให้ใช้ดุลพินิจได้ซึ่งเรียกว่า "อำนาจผูกพัน" ซึ่งองค์การบริหารส่วนตำบลจะใช้ดุลพินิจเป็นอย่างอื่นไม่ได้ เพราะต้องดำเนินการตามที่กฎหมายหรือระเบียบกำหนด และบางเรื่องบางกรณีก็ให้อำนาจหน้าที่องค์การบริหารส่วนตำบลเลือกทำได้หลายอย่าง หรือให้เลือกใช้อำนาจหน้าที่ หรือเลือกปฏิบัติตามความจำเป็นหรือเหมาะสมได้ภายใต้กรอบหรือขอบเขตที่กฎหมายกำหนดซึ่งเรียกว่า "อำนาจดุลพินิจ" เมื่อเป็นอำนาจดุลพินิจแล้วองค์การบริหารส่วนตำบลย่อมใช้ดุลพินิจได้ภายใต้กรอบหรือขอบเขตที่กฎหมายหรือระเบียบกำหนด
ซึ่งการแข่งขันกีฬาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนี้ กระทรวงมหาดไทยได้กำหนดหลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินในการแข่งขันกีฬาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตามหนังสือ ที่ มท 0808.4/ว 2589 ลงวันที่ 3 สิงหาคม 2547 ซึ่งแยกหลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินออกเป็นสองกรณี คือ
อยากให้ชาตินี้เป็นชาติสุดท้ายของเรา

admin

1. กรณีที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นส่งนักกีฬาหรือนักกรีฑาเข้าร่วมการแข่งขัน กับ
2. กรณีที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรับเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน
ซึ่งในที่นี้จะพิเคราะห์เฉพาะประเด็นที่สำนักตรวจเงินแผ่นดินทักท้วงคือเรื่องค่าใช้จ่ายเงินในการจัดซื้อเสื้อให้กับนักกีฬาเท่านั้น ว่าชอบด้วยระเบียบกฎหมายหรือไม่อย่างไร โดยพิจารณาได้ดังนี้ กรณีที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นส่งนักกีฬาหรือนักกรีฑาเข้าร่วมการแข่งขันนั้น เมื่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นส่งนักกีฬาเข้าร่วมแข่งขัน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นย่อมมีหน้าที่ในการจัดหาชุดกีฬาให้ตามหนังสือ ที่ มท 0808.4/ว 2589 ลงวันที่ 3 สิงหาคม 2547 ข้อ 1.3 โดยจะใช้ดุลพินิจเป็นอย่างอื่นไม่ได้เพราะเป็นอำนาจหน้าที่ผูกพัน แต่ในกรณีที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรับเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันนั้น การจัดหาชุดกีฬาหรือเสื้อให้กับนักกีฬาย่อมเป็นอำนาจหน้าที่ดุลพินิจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดหาชุดนักกีฬาหรือเสื้อให้กับนักกีฬา เพราะหนังสือ ที่ มท 0808.4/ว 2589 ลงวันที่ 3 สิงหาคม 2547 ข้อ 2.2 และข้อ 2.7 เปิดช่องให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใช้ดุลพินิจในกรณีนี้ได้โดยจะต้องคำนึงถึงความเหมาะสมเป็นกรณี ๆ ไป ไม่ได้หมายความว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจได้ หากการใช้ดุลพินิจไม่ชอบก็จะทำให้การเบิกจ่ายเงินไม่ชอบด้วยข้อ 2.2 และข้อ 2.7 ดังกล่าว แต่หากการใช้ดุลพินิจชอบด้วยกฎหมายก็ต้องถือว่าการเบิกจ่ายชอบด้วยข้อ 2.2 และข้อ 2.7 ของหนังสือ ที่ มท 0808.4/ว 2589 ลงวันที่ 3 สิงหาคม 2547 ซึ่งจะทำให้การเบิกจ่ายค่าจัดซื้อเสื้อตามโครงการประเพณีกีฬาแข่งเรือขององค์การบริหารส่วนตำบล......... ในครั้งนี้ เป็นการเบิกจ่ายที่ชอบด้วยระเบียบและหนังสือสั่งการกระทรวงมหาดไทย
จากการที่ ข้อ 1.3 ของหนังสือที่ มท 0808.4/ว 2589 ลงวันที่ 3 สิงหาคม 2547 กำหนดให้เป็นหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดหาชุดกีฬาให้กับนักกีฬาในกรณีที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นส่งนักกีฬาหรือนักกรีฑาเข้าร่วมการแข่งขันนี้ ทำให้ได้หลักคิดหรือหลักปฏิบัติว่าชุดกีฬาเป็นอุปกรณ์หรือสิ่งของที่จำเป็นต้องใช้ในการแข่งขันกีฬา หากนักกีฬาไม่มีชุดกีฬาสวมใส่ย่อมทำให้ไม่อาจดำเนินการแข่งขันกีฬาได้
ปัญหาที่จะต้องพิจารณาต่อไปจึงมีว่าแล้วการใช้ดุลพินิจขององค์การบริหารส่วนตำบล.........ในการจัดซื้อเสื้อตามโครงการฯ นี้ชอบด้วยระเบียบกฎหมายหรือไม่ ซึ่งจะต้องพิจารณาด้วยความระมัดระวังสมเหตุสมผล เพราะแต่ละหน่วยงานหรือแต่ละองค์กรก็มีแนวความคิดเห็นที่แตกต่างกันไปตามอำนาจหน้าที่และภูมิหลังของหน่วยงานนั้น ๆ ในส่วนขององค์การบริหารส่วนตำบล.........เองในการจัดทำโครงการฯ นี้ได้คำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นหลักการสำคัญมากกว่าความคุ้มทุนหรือผลกำไร เพราะเป็นหน่วยงานหลักในตำบลมีหน้าที่จัดทำบริการสาธารณะและประโยชน์สาธารณะ ซึ่งการที่ผู้บริหารท้องถิ่นมาจากการเลือกตั้งของประชาชนและพนักงานเจ้าหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนตำบล.........ได้ปฏิบัติหน้าที่อยู่ใกล้ชิดกับประชาชนมาเป็นเวลายาวนานย่อมทำให้มีความเข้าใจถึงความต้องการและสภาพปัญหาของประชาชนได้เป็นอย่างดี ทั้งในขณะนั้นการดำเนินโครงการฯ ไม่ว่าเรื่องนี้หรือเรื่องอื่นต้องคำนึงถึงนโยบายของรัฐบาลและ คสช. ในการคืนความสุขให้กับประชาชนและสร้างความปรองดองให้กับคนในชาติด้วย ซึ่งโครงการในลักษณะนี้จะสนองต่อนโยบายดังกล่าวได้เป็นอย่างดี แต่ถึงกระนั้นก็ดีองค์การบริหารส่วนตำบล......... ย่อมไม่อาจอ้างเอาว่าการใช้ดุลพินิจขององค์การบริหารส่วนตำบล.........ชอบด้วยกฎหมายแล้ว แต่ความชอบด้วยกฎหมายจะต้องพิจารณาถึงหลักการของกฎหมายปกครองเป็นหลักว่าการใช้ดุลพินิจชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ซึ่งในที่นี้เพื่อไม่ให้เยิ่นเย้อจะกล่าวถึงเฉพาะหลักเกณฑ์ของความชอบด้วยกฎหมายของดุลพินิจของฝ่ายปกครองที่เกี่ยวข้องกับการที่ต้องชี้แจงต่อข้อทักท้วงของสำนักตรวจเงินแผ่นดินในกรณีนี้เท่านั้น โดยดุลพินิจของฝ่ายปกครองที่ชอบด้วยกฎหมายจะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้
1. มีกฎหมายให้อำนาจในการใช้ดุลพินิจ
2. การใช้อำนาจดุลพินิจไม่เกินขอบเขตที่กฎหมายหรือระเบียบกำหนด
3. มีข้อเท็จจริงและเหตุผลสนับสนุนการใช้ดุลพินิจ หรือจะเรียกอีกอย่างหนึ่งว่ามีพยานหลักฐานและเหตุผลสนับสนุนการใช้ดุลพินิจ
ซึ่งการดำเนินการขององค์การบริหารส่วนตำบล......... ในการจัดหาเสื้อกีฬาให้กับนักกีฬาแข่งเรือพายและกรรมการตัดสินตามโครงการฯ นี้ เป็นไปโดยครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ที่กล่าวแล้วข้างต้น ดังนี้
หลักเกณฑ์ที่ 1 ต้องมีกฎหมายให้อำนาจ
ตามที่ องค์การบริการส่วนตำบล......... ได้วินิจฉัยมาแล้วว่าโครงการประเพณีแข่งเรือตำบล......... (ที่ถูกคือควรเรียกว่าโครงการประเพณีกีฬาแข่งเรือ) ครั้งที่ 6 ประจำปีงบประมาณ 2558 เป็นทั้งโครงการประเพณีของท้องถิ่นและเป็นโครงการแข่งขันกีฬาของท้องถิ่นในโครงการเดียวกันปนกันอยู่ การดำเนินการโครงการฯ นี้จึงอยู่ในอำนาจหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนตำบล......... ที่จะดำเนินการได้ตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ มาตรา ๖๗ ซึ่งบัญญัติว่า "ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายองค์การบริหารส่วนตำบลมีหน้าที่ต้องทำในเขตองค์การบริหารส่วนตำบล ดังต่อไปนี้..(๘) บำรุงรักษาศิลปะ จารีต ประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น และวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่น.." และพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๖ ซึ่งบัญญัติว่า "ให้เทศบาล เมืองพัทยา และองค์การบริหารส่วนตำบลมีอำนาจและหน้าที่ในการจัดระบบการบริการสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นของตนเองดังนี้..(11) การบำรุงรักษาศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น และวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่น..(14) การส่งเสริมกีฬา..(16) ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของราษฎรในการพัฒนาท้องถิ่น.." ทำให้องค์การบริหารสวนตำบล......... เบิกจ่ายงบประมาณเป็นค่าใช้จ่ายได้ตามหนังสือ ที่ มท 0313.4/ว 1347 ลงวันที่ 19 พฤษภาคม 2541 เรื่องค่าใช้จ่ายในการจัดงานต่าง ๆ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหนังสือกระทรวงมหาดไทย ที่ มท 0808.4/ว 2589 ลงวันที่ 3 สิงหาคม 2547 เรื่องหลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินในการแข่งขันกีฬาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จึงเป็นกรณีที่กฎหมายให้อำนาจองค์การบริหารส่วนตำบล......... ดำเนินการโครงการฯ นี้ได้

หลักเกณฑ์ที่ 2 การใช้อำนาจดุลพินิจไม่เกินขอบเขตที่กฎหมายหรือระเบียบกำหนด
เมื่อหนังสือกระทรวงมหาดไทย ที่ มท 0808.4/ว 2589 ลงวันที่ 3 สิงหาคม 2547 เรื่องหลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินในการแข่งขันกีฬาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำหนดหลักเกณฑ์การเบิกค่าใช้จ่ายกรณีที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรับเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน ข้อ 2.2 กำหนดว่า "ค่าอุปกรณ์การแข่งขันให้เบิกจ่ายได้เท่าที่จำเป็นและประหยัด" และข้อ 2.7 กำหนดว่า "ค่าใช้จ่ายรายการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขันกีฬาให้เบิกจ่ายได้เท่าที่จำเป็นและประหยัด" ซึ่งในการจัดซื้อชุดกีฬา(เฉพาะเสื้อ) ให้กับนักกีฬาทีมเรือและกรรมการตัดสิน เสื้อจึงเป็นอุปกรณ์การแข่งขันตามข้อ 2.2 และค่าใช้จ่ายรายการอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการแข่งขันกีฬาตามข้อ 2.7 ที่องค์การบริหารส่วนตำบล......... จะต้องจัดหาให้กับนักกีฬาเนื่องจากมีเหตุผลความจำเป็นตามที่จะต้องจัดหาให้ซึ่งจะได้กล่าวต่อไปในหลักเกณฑ์ที่ 3 หากนักกีฬาเรือพายและกรรมการตัดสินไม่มีเสื้อสวมใส่การแข่งเรือตามโครงการฯ ก็ย่อมไม่อาจดำเนินการต่อไปได้ และองค์การบริหารส่วนตำบล.........ได้เบิกจ่ายโดยประหยัดเนื่องจากได้จัดซื้อเสื้อให้กับนักกีฬาและกรรมการตัดสินคนละหนึ่งตัวเท่านั้น ซึ่งการใช้ดุลพินิจในการจัดหาเสื้อดังกล่าวเป็นการใช้ดุลพินิจที่ไม่เกินขอบเขตตามข้อ 2.2 และ ข้อ 2.7 ของหนังสือกระทรวงมหาดไทยข้างต้น ดังนั้น การใช้อำนาจหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนตำบล......... ดังกล่าวนี้จึงไม่เกินขอบเขตที่กฎหมายกำหนด
หลักเกณฑ์ที่ 3 ต้องมีข้อเท็จจริงและเหตุผลสนับสนุนการใช้ดุลพินิจ
เนื่องจากองค์การบริหารสวนตำบล......... เป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนาตำบล......... จึงได้เป็นเจ้าภาพจัดงานและจัดการแข่งขันประเพณีกีฬาแข่งเรือในครั้งนี้ ซึ่งในการแข่งขันประชาชนในตำบล......... แต่ละหมู่บ้านได้ส่งทีมเรือเข้าร่วมการแข่งขันหมู่บ้านละ 2 ทีม (ทีมชายและทีมหญิง) รวม 12 หมู่บ้าน เป็นจำนวน 24 ทีม และส่วนราชการและองค์กรชุมชนในตำบล......... ได้ส่งทีมเรือจำนวน 6 ทีม ซึ่งทีมเรือแต่ละทีมต้องใช้ผู้เล่นในการแข่งขัน จำนวน 5 คน และมีผู้เล่นสำรองอีก 2-4 คน รายละเอียดตามเอกสารที่สิ่งมาด้วย..... ในการแข่งขันได้แบ่งการแข่งขันออกเป็นประเภทละ 4 สาย (ทีมชาย 4 สาย และทีมหญิง 4 สาย) ผู้ชนะในแต่ละสายจะได้เข้าแข่งขันในรอบต่อไปจนได้ผู้ชนะเลิศและรองผู้ชนะเลิศลำดับต่าง ๆ และในการแข่งขันแต่ละครั้งจะมีคณะกรรมการตัดสินประจำจุดปล่อยเรือ ประจำจุดเส้นชัย และกรรมการควบคุมการแข่งขันและประมวลผล โดยลักษณะของการแข่งขันกีฬาเรือพายที่ต้องแบ่งเป็นทีมและต้องมีคณะกรรมการตัดสินดังกล่าว นักกีฬาเรือพายและคณะกรรมการตัดสินจึงต้องสวมใส่เสื้อผ้าที่ชัดเจน เพื่อแบ่งแยกทีมเรือแต่ละทีมไม่ให้เกิดความสับสนของผู้เล่นแต่ละทีมและกรรมการตัดสิน และเพื่อแยกความแตกต่างของนักกีฬาแต่ละทีมกับกรรมการตัดสินออกจากประชาชนที่มาชมงานซึ่งมีเป็นจำนวนมาก เพื่อให้การจัดการแข่งขันดำเนินไปได้ด้วยความเรียบร้อยตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของโครงการ
ซึ่งการใช้อำนาจหน้าที่ดุลพินิจในการจัดหาชุดกีฬาให้นักกีฬานี้ตาม ข้อ 2.2 และข้อ 2.7 ของหนังสือกระทรวงมหาดไทย ที่ มท 0808.4/ว 2589 ลงวันที่ 3 สิงหาคม 2547 เรื่องหลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินในการแข่งขันกีฬาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนี้ ในแต่ละท้องถิ่นย่อมมีบริบทที่แตกต่างกัน เช่นฐานะ ความมั่งคั่ง ความเป็นอยู่ ขีดความสามารถในการประกอบอาชีพ ความสามารถในการจัดหาสิ่งจำเป็นดำรงชีพและอื่น ๆ ทำให้ความจำเป็นในการจัดหาเสื้อให้กับนักกีฬาย่อมแตกต่างกันไปด้วยและทำให้การใช้ดุลพินิจได้ไม่เท่ากัน ในท้องถิ่นที่ประชาชนเต็มไปด้วยความมั่งคั่ง มีฐานะความเป็นอยู่ดีหรือปานกลางย่อมไม่มีความจำเป็นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องจัดหาชุดกีฬาให้ หากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดหาให้ก็ย่อมเป็นการใช้ดุลพินิจไม่เหมาะสมไม่มีเหตุผลรองรับ ย่อมทำให้การใช้ดุลพินิจไม่ชอบเพราะเป็นการใช้ดุลพินิจเกินขอบเขตของคำว่าจำเป็น และด้วยเหตุผลเดียวกันนี้ก่อนปี พ.ศ. 2557 ในการจัดงานประเพณีกีฬาแข่งเรือของตำบล......... องค์การบริหารส่วนตำบล.........ก็ไม่เคยจัดหาชุดกีฬาให้ เพราะประชาชนในขณะนั้นมีฐานะพอมีพอใช้มีการประกอบอาชีพพอเลี้ยงครอบครัวได้ แต่เมื่อปี พ.ศ. 2557 เป็นต้นมาผลผลิตข้าวไม่ได้ราคาเนื่องจากโครงการประกันราคาและรับจำนำข้าวได้ถูกยกเลิก ส่วนผลผลิตยางพาราเองก็มีราคาตกต่ำมากได้ผลผลิตจำหน่ายได้ไม่คุ้มต้นทุน ถึงกับทำให้ประชาชนในบางภูมิภาคต้องรวมตัวประท้วงเรียกร้องให้รัฐบาลใช้มาตรการช่วยเหลือ ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ของตำบล......... ซึ่งประกอบอาชีพทำนาและทำสวนยางพาราซึ่งมีฐานะยากจนอยู่แล้วได้รับความเดือดร้อนแร้นแค้นมีรายได้ไม่พอต่อค่าครองชีพ ราษฎรบางส่วนต้องเดินทางไปขายแรงงานที่กรุงเทพมหานคร ทำให้ประชาชนไม่สามารถจัดหาชุดกีฬามาใช้ในการแข่งเรือได้ หากองค์การบริหารสวนตำบล......... ไม่จัดหาชุดกีฬาให้ก็จะเป็นที่คาดหมายได้แน่นอนว่าประชาชนจะเข้าร่วมแข่งขันน้อยหรือไม่สนใจเข้าร่วมกิจกรรม อันจะส่งผลให้การดำเนินโครงการฯ ไม่อาจดำเนินการได้หรือดำเนินการได้แต่ไม่สัมฤทธิ์ผลตามวัตถุประสงค์และตามเป้าหมายของโครงการฯ ที่กำหนดไว้ แต่องค์การบริหารส่วนตำบล.........ไม่เลือกที่จะยกเลิกโครงการฯ แต่เลือกที่จะจัดทำโครงการฯ ต่อไป เนื่องจากต้องการที่จะให้ประชาชนได้อนุรักษ์ประเพณีกีฬาแข่งเรือซึ่งได้จัดมาเป็นประจำทุกปี ทั้งได้พบปะนันทนาการสร้างความสมัครสมานสามัคคีในหมู่ประชาชนและส่วนราชการ และเป็นการคืนความสุขและสร้างความปรองดองให้กับประชาชนตามนโยบายของรัฐบาลและ คสช. องค์การบริหารสวนตำบล.........จึงได้จัดหาชุดกีฬาโดยจัดซื้อเฉพาะเสื้อให้กับนักกีฬาทีมเรือจำนวน 30 ทีม เป็นจำนวน 204 คน และกรรมการตัดสินจำนวน 17 คน เป็นจำนวนเสื้อทั้งหมด 221 ตัว โดยเห็นว่าเสื้อเป็นอุปกรณ์การแข่งขันและค่าใช้จ่ายรายการอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการแข่งขันกีฬาที่จำเป็นต้องจัดหาและเบิกจ่ายได้ ตามกรอบแนวทางและขอบเขตตามข้อ 2.2 และ ข้อ 2.7 ของหนังสือกระทรวงมหาดไทย ที่ มท ๐๘๐๘.๔/ว ๒๕๘๙ ลงวันที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๔๗ เรื่องหลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินในการแข่งขันกีฬาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเป็นการใช้จ่ายงบประมาณที่ประหยัดเนื่องจากองค์การบริหารส่วนตําบล......... ได้จัดซื้อเสื้อกีฬาเพียงจำนวน ๑ ตัว ให้กับนักกีฬา ๑ คน การใช้ดุลพินิจในการจัดซื้อเสื้อกีฬาดังกล่าวตามโครงการฯ นี้จึงเป็นการใช้ดุลพินิจที่มีข้อเท็จจริงและเหตุผลสนับสนุนอย่างเพียงพอแล้ว เนื่องจากองค์การบริหารส่วนตำบล......... ไม่ได้ดำเนินการถึงขนาดว่าจัดหาเสื้อให้กับประชาชนที่มาร่วมงานร่วมเชียร์
ดังนั้น การที่องค์การบริหารส่วนตำบล......... เบิกจ่ายงบประมาณเป็นค่าจัดชื้อเสื้อที่ใช้ในการแข่งขันกีฬาเรือพายตามโครงการฯ ในครั้งนี้จึงเป็นการใช้ดุลพินิจเบิกจ่ายงบประมาณที่ถูกต้องและเหมาะสมตามหนังสือกระทรวงมหาดไทย ที่ มท ๐๘๐๘.๔/ว ๒๕๘๙ ลงวันที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๔๗ ข้อ 2.2 และ ข้อ 2.7 แล้ว
นอกจากนี้เสื้อที่จัดซื้อให้ยังได้จัดพิมพ์ข้อความว่าประเพณีแข่งเรือตำบล......... เพื่อใช้เป็นวัสดุในการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ประเพณีแข่งเรือของตำบล......... เพื่อให้ประชาชนได้ตระหนักและเล็งเห็นความสำคัญของประเพณีแข่งเรืออันเป็นการบำรุงรักษาศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น และวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่นของตำบล......... ทั้งเป็นโครงการที่ทำให้ประชาชนได้พบปะนันทนาการสร้างความสมัครสมานสามัคคีในหมู่ประชาชนและส่วนราชการ และเป็นการคืนความสุขและสร้างความปรองดองให้กับประชาชนตามนโยบายของรัฐบาลและ คสช. ในขณะนั้น ดังนั้น การเบิกจ่ายงบประมาณดังกล่าวนี้นอกจากจะเบิกจ่ายได้โดยชอบตามหนังสือกระทรวงมหาดไทย ที่ มท ๐๘๐๘.๔/ว ๒๕๘๙ ลงวันที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๔๗ แล้ว ยังเป็นการเบิกจ่ายได้ตามหนังสือ ที่ มท 0313.4/ว 1347 ลงวันที่ 19 พฤษภาคม 2541 เรื่องค่าใช้จ่ายในการจัดงานต่าง ๆ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งเป็นการเบิกจ่ายที่จำเป็นและประหยัดแล้ว โดยอาศัยหลักการและเหตุผลเดียวกันกับการเบิกจ่ายในลักษณะของการแข่งขันกีฬาที่ได้กล่าวมาข้างต้น
ดังได้เรียนชี้แจงมาแล้วข้างต้น การที่องค์การบริหารส่วนตำบล......... เบิกจ่ายเงินเป็นค่าจัดซื้อเสื้อที่ใช้ในการแข่งขันกีฬาเรือพายตามโครงการประเพณีแข่งเรือตำบล......... ครั้งที่ 6 ปีงบประมาณ 2558 จึงเป็นไปตามอำนาจหน้าที่โดยชอบแล้ว และเป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชนโดยตรง โดยทางราชการไม่ได้รับความเสียหายแต่อย่างใด องค์การบริหารส่วนตำบล......... จึงใคร่ขอเรียนสำนักตรวจเงินแผ่นดินจังหวัด......... ได้โปรดพิจารณาทบทวนข้อเสนอแนะในกรณีนี้อีกครั้งหนึ่ง
จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบและพิจารณาดำเนินการต่อไป

นิติกรgan 1.179.170.* [ วันศุกร์ ที่ 20 มกราคม 2560 เวลา 11:32 น. ]
อยากให้ชาตินี้เป็นชาติสุดท้ายของเรา

admin

ขอบคุณสำหรับแนวทางครับ
ขึ้นอยู่กับผวจ.ด้วย
ผวจ.บางท่าน กลัวสตง. หรือชอบเข้าข้างสตง.ก็มี
ชี้แจงอะไรไปไม่เคยเห็นด้วยกับท้องถิ่น
ส่งเรื่องเดียวกัน ให้ผวจ.คนละจังหวัดวินิจฉัย ผลออกมาอาจจะไม่เหมือนกัน
เวลาผวจ.วินิจฉัยออกมาแล้ว จังหวัดอื่นก็ไม่จำต้องถือเป็นบรรทัดฐาน

โดยคุณ นิติกรชายแดน 1.1.133.* [ วันจันทร์ ที่ 23 มกราคม 2560 เวลา 16:16 น. ] ผู้ตอบคนที่ 1
[ ลบคำตอบที่ 1 ]

ยอดเยี่ยม ครับ
ขอบคุณครับ กำลังหาแนวตอบ อยู่่พอดี
โดยคุณ ขอบคุณ 116.58.243.* [ วันอังคาร ที่ 24 มกราคม 2560 เวลา 09:17 น. ] ผู้ตอบคนที่ 2
[ ลบคำตอบที่ 2 ]

เยี่ยมครับ
โดยคุณ ผู้ไม่รู้ 110.77.231.* [ วันอังคาร ที่ 24 มกราคม 2560 เวลา 11:42 น. ] ผู้ตอบคนที่ 3
[ ลบคำตอบที่ 3 ]

ขอบคุณครับ ถ้ามีกรณีอื่นอีก ช่วยลงด้วยนะครับ
เพื่อเป็นแนวทางให้ กับ อปท. อื่น ๆ
หรือท่านมีกรณีแบบนี้ ช่วยลงด้วยก็ดีนะครับ
โดยคุณ Spt 182.53.62.* [ วันพุธ ที่ 25 มกราคม 2560 เวลา 10:17 น. ] ผู้ตอบคนที่ 4
[ ลบคำตอบที่ 4 ]

รบกวนถามเพิ่มครับ สมมุติว่าเรื่องนี้เทศบาลไมได้จัดชื้อเสื้อเอง แต่อุดหนุนเงินให้ชุมชนไปชื้อเอง ผลจะเป็นอย่างไร ครับ
โดยคุณ ผู้ไม่รู้ 110.77.231.* [ วันอังคาร ที่ 31 มกราคม 2560 เวลา 14:45 น. ] ผู้ตอบคนที่ 5
[ ลบคำตอบที่ 5 ]
อยากให้ชาตินี้เป็นชาติสุดท้ายของเรา

admin

แนวทางอีกเรื่องแต่ครั้งเดียวกัน สตง.ยอมยุติ 2 เรื่อง จึงต้องส่งให้ผู้ว่าวินิจฉัยต่อไปอีก 1 เรื่อง ลองอ่านดูครับ...
เรื่อง ขอชี้แจงต่อข้อทักท้วงของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ตามรายงานการตรวจสอบงบการเงินสำหรับ
ปีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2558
เรียน ผู้อำนวยการสำนักตรวจเงินแผ่นดินจังหวัด........
อ้างถึง หนังสือ ลับ ที่ ตผ ๐๐๔8.๕ ..../...... ลงวันที่ 13 กันยายน 2559
สิ่งที่ส่งมาด้วย 1. สำเนาเนาหนังสือที่ บก 80301/ว 203 ลงวันที่ 8 เมษายน 2558 จำนวน 2 แผ่น
2. สำเนาทะเบียนรายชื่อผู้รับเบี้ยยังชีพ จำนวน 155 แผ่น
3. ภาพถ่ายการร่วมกิจกรรม จำนวน 12 แผ่น
4. ภาพถ่ายกิจกรรมการนวด จำนวน 2 แผ่น
5. สำเนาใบสมัครทีมเรือ จำนวน 15 แผ่น
6. สำเนาคำสั่ง อบต......... ที่ 431/2559 ลงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2559 จำนวน 1 แผ่น
7. สำเนาใบเสร็จรับเงิน จำนวน 20 แผ่น
ตามหนังสือที่อ้างถึง สำนักตรวจเงินแผ่นดินจังหวัด........ แจ้งผลการตรวจสอบงบการเงินขององค์การบริหารส่วนตำบล........ สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2558 และให้องค์การบริหารส่วนตำบล........ ดำเนินการตามข้อเสนอแนะ รายละเอียดแจ้งแล้ว นั้น
องค์การบริหารส่วนตำบล........ ได้รับหนังสือที่อ้างถึงเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2559 แต่ไม่เห็นพ้องด้วยกับความเห็นของสำนักตรวจเงินแผ่นดินจังหวัด........บางส่วน จึงขอชี้แจงต่อข้อทักท้วงหรือข้อเสนอแนะโดยมีรายละเอียดการชี้แจง ดังจะกล่าวต่อไปนี้
ข้อเท็จจริงจากการตรวจสอบของสำนักตรวจเงินแผ่นดินข้อที่ 4.1 ความว่า
"(1) ฎีกาเลขที่คลังรับ 397/2558 ลงวันที่ 23 เมษายน 2558 เบิกจ่ายเงินตามโครงการจัดงานรดน้ำขอพรผู้สูงอายุในวันสงกรานต์ ประจำปีงบประมาณ 2558 โดยเบิกจ่ายเป็นค่าจ้างเหมาผู้ฝึกนวดด้านการนวดคลายเส้นนวดเพื่อสุขภาพ จำนวน 4 ชั่วโมง ๆ ละ 200.00 บาท รวม 10 ราย เป็นเงิน 8,000.00 บาท
(2) ฎีกาเลขที่คลังรับ 443/2558 ลงวันที่ 29 เมษายน 2558 เบิกจ่ายเงินตามโครงการจัดงานรดน้ำขอพรผู้สูงอายุในวันสงกรานต์ ประจำปีงบประมาณ 2558 โดยเบิกจ่ายเป็นค่าอาหารกลางวัน จำนวน 601 ราย ๆ ละ 50.00 บาท เป็นเงิน 30,050.00 บาท และค่าอาหารว่างและเครื่องดื่ม จำนวน 601 ราย ๆ ละ 25.00 บาท จำนวน 2 คาบ เป็นเงิน 30,050.00 บาท รวมเป็นเงิน 60,100.00 บาท ...ฯลฯ...
ข้อเสนอแนะ
1. ให้เรียกเงินจำนวน 8,000.00 บาท จากเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบส่งคืนคลังองค์การบริหารส่วนตำบล........ แล้วส่งสำเนาใบเสร็จรับเงินและสำเนาหลักฐานการนำเงินฝากธนาคารให้สำนักตรวจเงินแผ่นดินจังหวัด........ตรวจสอบ
2. สั่งกำชับเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบบทบทวนการเบิกจ่ายค่าอาหารให้กับผู้เข้าร่วมโครงการตามความเป็นจริง เหมาะสม และประหยัด และคำนวณยอดเงินส่วนต่างส่งคืนคลังองค์การบริหารส่วนตำบล........โดยเร็ว และในโอกาสต่อไปให้จัดทำโครงการหรือกิจกรรมที่ให้ประโยชน์และอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนเป็นการทั่วไปโดยถือปฏิบัติตามหนังสือกระทรวงมหาดไทยดังกล่าว โดยเคร่งครัด
เมื่อดำเนินการตามข้อ 1 – 3 แล้วแจ้งผลการดำเนินการให้สำนักตรวจเงินแผ่นดินจังหวัด ........ตรวจสอบ"
องค์การบริหารส่วนตำบล........ พิจารณาข้อทักท้วงของสำนักตรวจเงินแผ่นดินแล้ว เห็นว่ามีประเด็นตามข้อทักท้วงหรือข้อเสนอแนะตามโครงการจัดงานรดน้ำขอพรผู้สูงอายุในวันสงกรานต์ ประจำปีงบประมาณ 2558 โดยแยกออกเป็น 3 กรณี คือ
1. กรณีเบิกจ่ายเป็นค่าจ้างเหมาผู้ฝึกนวดด้านการนวดคลายเส้นและนวดเพื่อสุขภาพ
2. กรณีเบิกจ่ายเป็นค่าอาหารกลางวันและค่าอาหารว่างและเครื่องดื่ม
3. กรณีให้ทบทวนการจัดโครงการฯ ให้ตรงกับวันที่ 13 เมษายน ของทุกปี
ซึ่งกรณีที่ 3 นั้นองค์การบริหารส่วนตำบล........ เห็นด้วยกับข้อเสนอแนะของสำนักตรวจเงินแผ่นดินโดยในโอกาสต่อไปจะได้จัดงานประเพณีรดน้ำขอพรผู้สูงอายุให้ตรงกับวันสงกรานต์ในวันที่ 13 เมษายน ของทุกปี จึงขอชี้แจงเฉพาะข้อทักท้วงใน 2 กรณีแรก ดังต่อไปนี้
กรณีที่ 1 การเบิกจ่ายเป็นค่าจ้างเหมาผู้ฝึกนวดด้านการนวดคลายเส้นและนวดเพื่อสุขภาพ
การที่องค์การบริหารส่วนตำบล........ จัดงานประเพณีรดน้ำขอพรผู้สูงอายุในวันสงกรานต์ ก็เพื่อให้บุตรหลานได้แสดงออกถึงความรัก ความเคารพนับถือ และความกตัญญูต่อผู้สูงอายุในตำบล........ และเป็นการสืบทอดอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่นและของชาติ จึงได้จัดทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่จำเป็นไว้ในโครงการฯ เพื่อเป็นการแสดงออกถึงความรักความเคารพและให้ความสำคัญต่อผู้สูงอายุ เช่น การรดน้ำขอพร และสรงน้ำพระ การประกวดเว้าผญา ประกวดเว้าสอย ประกวดร้องเพลงกล่อมลูก การละเล่นพื้นบ้านต่าง ๆ ตรวจสุขภาพให้กับผู้สูงอายุ และสุดท้ายก็เป็นการให้ความรู้ผู้สูงอายุในเรื่องการนวดเพื่อสุขภาพและนวดคลายเส้น รวมทั้งให้บริการการนวดคลายเส้นและนวดคลายกล้ามเนื้อผู้สูงอายุที่มีอาการปวดเส้นเอ็นและปวดเมื่อยร่างกายในระหว่างการร่วมกิจกรรม อันเป็นมูลปัญหาให้สำนักตรวจเงินแผ่นดินทักท้วงในครั้งนี้
การที่ผู้สูงอายุซึ่งมีอายุมากกว่า 60 ปี ต้องทำกิจกรรมทั้งวันหรือแม้แต่การนั่งนานๆ ย่อมเป็นการหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีผลกระทบต่อร่างกาย เป็นต้นว่า ปวดเมื่อย ปวดหลัง ปวดเอว และเคล็ดขัดยอกตามร่างกาย หรือผลกระทบอื่น ๆ ทำให้ในการจัดทำโครงการฯ ไม่อาจมองข้ามเรื่องเหล่านี้แต่ต้องคำนึงถึงกิจกรรมทุกอย่างในการปฏิบัติต่อผู้สูงอายุ โดยไม่ได้จัดทำแต่กิจกรรมรดน้ำขอพร การประกวดเว้าผญา ประกวดเว้าสอย ประกวดร้องเพลงกล่อมลูก และการละเล่นพื้นบ้านต่าง ๆ ซึ่งเป็นกิจกรรมในทางที่สร้างความเมื่อยล้าหรือปวดเมื่อยต่อร่างกายเท่านั้น แต่ได้คำนึงถึงกิจกรรมในเชิงเป็นประโยชน์กับร่างกายด้วย เช่น การจัดรถพยาบาลฉุกเฉิน การตรวจสุขภาพและให้ความรู้ด้านสาธารณสุขโดยเจ้าหน้าที่จากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล การบำบัดหรือทุเลาต่อการปวดเมื่อย ปวดหลัง ปวดเอว และเคล็ดขัดยอกตามร่างกายของผู้สูงอายุ เนื่องจากผู้สูงอายุวัยนี้จะมีปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับอาการปวดของร่างกายได้ตลอด ซึ่งหากจะต้องทำกิจกรรมนวดให้กับผู้สูงอายุแล้วก็ควรจะต้องให้ความรู้ในการนวดดังกล่าวนี้ให้กับผู้สูงอายุด้วย เพราะเป็นกิจกรรมที่ให้ประโยชน์ในสองลักษณะที่ทำไปพร้อมกันได้ในขณะเดียวกัน อันเป็นกิจกรรมให้ประโยชน์และอำนวยความสะดวกแก่ผู้สูงอายุเป็นการทั่วไปโดยไม่ได้เลือกปฏิบัติต่อผู้สูงอายุคนหนึ่งคนใดโดยเฉพาะ ดังนั้น ในการจัดทำโครงการฯ องค์การบริหารส่วนตำบล........ จึงได้จัดให้มีกิจกรรมการนวดนี้ไว้ในโครงการฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ
1. ต้องการนวดบำบัดและผ่อนคลายกล้ามเนื้อและคลายเส้นให้กับผู้สูงอายุที่ร่วมกิจกรรมแล้วมีอาการปวดเมื่อย ปวดหลัง ปวดเอว และเคล็ดขัดยอกตามร่างกาย หรือผลกระทบอื่น ๆ ต่อร่างกายในระหว่างร่วมกิจกรรม เพราะหากผู้สูงอายุที่ร่วมกิจกรรมมีอาการดังกล่าวแล้ว แต่ไม่ได้รับการบำบัดหรือผ่อนคลายอาการปวดย่อมทำให้เบื่อหน่ายการร่วมกิจกรรมอื่นของโครงการฯ ซึ่งจะทำให้โครงการฯ ไม่อาจดำเนินการได้ หรือดำเนินการได้แต่ไม่บรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการฯ จึงเป็นหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนตำบล........ ซึ่งเป็นเจ้าภาพที่จะต้องจัดกิจกรรมการนวดนี้
2. เพื่อให้ผู้สูงอายุบางส่วนที่มีความสนใจหาความรู้ในการฝึกนวดเพื่อสุขภาพและนวดคลายเส้นได้รับความรู้เกี่ยวกับการนวดเบื้องต้นเพื่อนวดให้กับตนเองหรือผู้อื่นได้ ซึ่งไม่จำเป็นต้องถึงกับนำไปประกอบอาชีพได้เพราะเป็นการให้ความรู้และฝึกนวดระยะสั้น ๆ และเป็นกิจกรรมเสริมที่จัดให้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมหลักเท่านั้น โดยให้ผู้สูงอายุนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ประโยชน์ต่อไปได้ตามสมควร เช่น การนวดผ่อนคลาย นวดคลายอาการปวดกล้ามเนื้อ นวดกระตุ้นกล้ามเนื้อและการหายใจ นวดคลายอาการปวดเข่าปวดเท้า ฯลฯ ให้ตนเองและบุคคลในครอบครัว หรือเพื่อนบ้านผู้สูงอายุด้วยกันในยามที่จำเป็นต้องให้การช่วยเหลือกัน ได้ ซึ่งจะทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่าไม่ได้อยู่อย่างโดดเดี่ยว และไม่ได้เป็นภาระให้แก่บุตรหลานและสังคมอย่างเดียว
ดังนั้น การที่องค์การบริหารส่วนตำบล........ กำหนดให้มีกิจกรรมการนวดและให้ความรู้เรื่องการนวดเพื่อสุขภาพไว้ในโครงการฯ จึงเป็นการกำหนดกิจกรรมที่เหมาะสมและสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของโครงการฯ แล้ว แต่เนื่องจากมีข้อจำกัดเรื่องระยะเวลาและมีภารกิจตามอำนาจหน้าที่เป็นจำนวนมากที่ต้องดำเนินการ รวมทั้งความเข้าใจคลาดเคลื่อนของผู้รับผิดชอบโครงการฯ ทำให้การเขียนโครงการฯ ไม่อาจบรรยายรายละเอียดตามเจตนารมณ์และวัตถุประสงค์ข้างต้นได้ละเอียดครบถ้วน
ซึ่งในการดำเนินกิจกรรมในวันจัดงาน ได้มีผู้สูงอายุและประชาชนที่มาร่วมงานสนใจเข้ารับความรู้จากหมอนวดพื้นบ้านเป็นจำนวนมาก และมีผู้สูงอายุที่ได้รับผลกระทบด้านร่างกายจากการร่วมกิจกรรมเข้ารับการนวดบำบัด นวดคลายเส้น และนวดผ่อนคลายเป็นจำนวนมาก แต่การดำเนินโครงการฯ มีความบกพร่องไม่ได้จัดทำหลักฐานหรือเก็บข้อมูลการรับบริการและรับความรู้เกี่ยวกับการนวดไว้ในรูปของเอกสารเพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบในภายหลัง มีเพียงเอกสารการรับบริการบางส่วนที่พอหาได้ตามเอกสารสิ่งที่ส่งมาด้วย 4 ซึ่งเห็นว่าข้อผิดพลาดหรือบกพร่องดังกล่าวนี้ เป็นสิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้บนพื้นฐานปกติของการทำงาน เพราะเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบมีจำนวนจำกัด แต่ต้องดูแลผู้สูงอายุและประชาชนที่มาร่วมโครงการฯ มากกว่า 600 คน และเจ้าหน้าที่อาจให้ความสำคัญกับกิจกรรมอื่นที่มีอีกเป็นจำนวนมาก จึงทำให้เกิดความผิดพลาดในกรณีนี้ขึ้น ดังนั้น เมื่อองค์การบริหารส่วนตำบล........ได้ทำกิจกรรมการนวดดังกล่าวนี้จริง การที่บกพร่องไม่ได้จัดทำหลักฐานหรือเก็บข้อมูลการรับบริการและรับความรู้เกี่ยวกับการนวดไว้ หาทำให้กิจกรรมเกี่ยวกับการนวดที่ดำเนินการแล้วกลับเป็นไม่ได้ดำเนินการไม่ องค์การบริหารส่วนตำบล........จึงมีอำนาจและหน้าที่ในการเบิกจ่ายเงินเป็นค่าจ้างหรือค่าวิทยากรให้กับหมอนวดพื้นบ้านซึ่งทำหน้าที่นวดคลายเส้นและนวดเพื่อสุขภาพรวมทั้งการให้ความรู้เกี่ยวกับการนวดให้กับผู้สูงอายุ อันเป็นรายจ่ายที่จำเป็นและประหยัดตามหนังสือกระทรวงมหาดไทย ที่ มท 0313.4/ว 1347 ลงวันที่ 19 พฤษภาคม 2541 เรื่องค่าใช้จ่ายในการจัดงานต่าง ๆ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ปัญหาที่จะต้องพิจารณาต่อไปมีว่า เมื่อได้จัดทำกิจกรรมการนวดคลายเส้น นวดเพื่อสุขภาพและการให้ความรู้ในการนวดดังกล่าวนี้แล้ว แต่ในการจัดกิจกรรมเจ้าหน้าที่ไม่ได้จัดให้มีการลงทะเบียนหรือเก็บข้อมูลหลักฐานที่แสดงว่ามีผู้สูงอายุรับบริการและเข้ารับความรู้ในการฝึกนวดจำนวนเท่าใด จะทำให้กิจกรรมนี้กลายเป็นไม่ใช่การให้ความรู้เรื่องการนวดเพื่อสุขภาพแก่ผู้สูงอายุหรือไม่ เห็นว่าองค์การบริหารส่วนตำบล........ ได้จัดกิจกรรมนี้จริงและได้จ้างหมอนวดพื้นบ้านมาให้บริการและให้ความรู้เรื่องการนวดข้างต้นจริง องค์การบริหารส่วนตำบล........ จึงสามารถเบิกจ่ายเงินเป็นค่าจ้างหรือค่าวิทยากรให้กับหมอนวดพื้นบ้านดังกล่าวนี้ได้ ทั้งนี้โดยเทียบเคียงคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดหมายเลขแดงที่ อ. 23/2548 ซึ่งจะได้
กล่าวถึงต่อไปในการชี้แจงกรณีการเบิกจ่ายค่าอาหาร อาหารว่างและเครื่องดื่มในโครงการฯ เดียวกันนี้
ดังได้เรียนชี้แจงมาแล้วข้างต้น การเบิกจ่ายเป็นค่าจ้างเหมาผู้ฝึกนวดด้านการนวดคลายเส้นนวดเพื่อสุขภาพ จำนวน 8,000.00 บาท ตามโครงการจัดงานรดน้ำขอพรผู้สูงอายุในวันสงกรานต์ ประจำปีงบประมาณ 2558 จึงเป็นไปตามอำนาจหน้าที่โดยชอบแล้ว และเป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชนโดยตรง โดยทางองค์การบริหารส่วนตำบล........ไม่ได้รับความเสียหายแต่อย่างใด องค์การบริหารส่วนตำบล........ จึงใคร่ขอเรียนสำนักตรวจเงินแผ่นดินจังหวัด........ ได้โปรดพิจารณาทบทวนข้อเสนอแนะในกรณีนี้อีกครั้งหนึ่ง ในส่วนที่เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบโครงการฯ มีความบกพร่องไม่ได้จัดทำหลักฐานหรือเก็บข้อมูลการรับบริการและรับความรู้เกี่ยวกับการนวดไว้เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบในภายหลัง องค์การบริหารส่วนตำบล........ จะได้ว่ากล่าวตักเตือนให้แก้ไขปรับปรุงการปฏิบัติงาน ต่อไป
กรณีที่ 2 การเบิกจ่ายเป็นค่าอาหารกลางวันและค่าอาหารว่างและเครื่องดื่ม
การที่องค์การบริหารส่วนตำบล........ จัดงานประเพณีรดน้ำขอพรผู้สูงอายุในวันสงกรานต์ ก็เพื่อให้บุตรหลานได้แสดงออกถึงความรัก ความเคารพนับถือ และความกตัญญูต่อผู้สูงอายุในตำบล........ และเป็นการสืบทอดอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่นและของชาติ จึงได้จัดทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่จำเป็นไว้ในโครงการฯ เพื่อเป็นการแสดงออกถึงความรักความเคารพและให้ความสำคัญต่อผู้สูงอายุ เช่น การรดน้ำขอพร และสรงน้ำพระ การประกวดเว้าผญา ประกวดเว้าสอย ประกวดร้องเพลงกล่อมลูก การละเล่นพื้นบ้านต่าง ๆ ซึ่งกำหนดให้มีการร่วมกิจกรรมทั้งวันตั้งแต่เวลา 07.30 – 16.30 น. ซึ่งการจัดกิจกรรมทั้งวันเช่นนี้จึงจำเป็นต้องจัดหาอาหารกลางวันให้กับผู้สูงอายุและผู้เข้าร่วมกิจกรรม 1 มื้อ และจัดอาหารว่างพร้อมเครื่องดื่มครึ่งวันก่อนเที่ยงจำนวน 1 มือ และครึ่งวันหลังเที่ยงจำนวน 1 มือ รวมเป็น 2 มื้อ ซึ่งหากผู้สูงอายุและประชาชนที่มาร่วมกิจกรรมตามโครงการฯ ไม่ได้รับประทานอาหาร อาหารว่างและเครื่องดื่มย่อมจะมีความหิวกระหาย ทำให้ไม่อาจร่วมกิจกรรมได้ซึ่งจะทำให้การดำเนินโครงการฯ ไม่บรรลุวัตถุประสงค์ ดังนั้นค่าอาหาร อาหารว่างและเครื่องดื่มจึงเป็นค่าใช้จ่ายที่จำเป็น และการเบิกจ่ายค่าอาหาร อาหารว่างและเครื่องดื่มในการดำเนินโครงการฯ นี้ไม่มีระเบียบหรือหนังสือสั่งการใดกำหนดอัตราการเบิกจ่ายไว้โดยเฉพาะ จึงต้องเทียบเคียงกับการเบิกจ่ายในกรณีอื่น ๆ ซึ่งได้แก่อัตราการเบิกจ่ายค่าอาหาร อาหารว่างและเครื่องดื่มที่ระเบียบว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมย่อมให้เบิกจ่ายได้ในกรณีที่ส่วนราชการดำเนินการจัดฝึกอบรม ซึ่งเมื่อเทียบเคียงกันแล้วปรากฏว่าองค์การบริหารส่วนตำบล........ ไม่ได้เบิกจ่ายเกินอัตราที่ระเบียบฯ ดังกล่าวนี้กำหนด โดยเบิกจ่ายค่าอาหารกลางวันเพียงรายละ 50 บาท และค่าอาหารว่างและเครื่องดื่มเพียงมื้อละ 25 บาท ต่อ ราย จึงเป็นการเบิกจ่ายที่ประหยัดแล้ว
อยากให้ชาตินี้เป็นชาติสุดท้ายของเรา

admin

เนื่องจากเขตตำบล........ มีผู้สูงอายุที่มีสิทธิรับเบี้ยยังชีพ จำนวน 569 ราย มีผู้พิการที่มีสิทธิรับเบี้ยยังชีพจำนวน 152 คน และมีผู้สูงอายุอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่มีสิทธิรับเบี้ยยังชีพ ซึ่งในลักษณะและสภาพของโครงการฯ ประเภทนี้จะต้องให้ญาติและบุตรหลานของผู้สูงอายุเข้าร่วมกิจกรรมด้วยโดยเฉพาะการรดน้ำขอพรจากผู้สูงอายุ และการดูแลผู้สูงอายุในระหว่างดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ จึงมีความจำเป็นต้องให้ญาติและบุตรหลานของผู้สูงอายุเข้าร่วมกิจกรรมด้วย นอกจากนี้ยังถือเป็นโอกาสอันดีที่จะให้ผู้พิการได้เข้าร่วมกิจกรรมด้วยเช่นกัน เพื่อเป็นการให้ความสำคัญกับผู้พิการโดยไม่รู้สึกว่าคนเล่านี้ถูกสังคมทอดทิ้ง ดังนั้น ในการจัดทำโครงการฯ เมื่อนับบุคคลที่กล่าวมาทั้งหมดจึงหลีกไม่พ้นที่จะต้องมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมมากกว่า 600 คน อย่างแน่นอน องค์การบริหารส่วนตำบล........ จึงกำหนดการเบิกจ่ายงบประมาณในการดำเนินการที่เป้าหมายผู้เข้าร่วมกิจกรรม 601 คน และในวันจัดงานตามโครงการฯ จริงก็ปรากฏว่ามีผู้สูงอายุ ผู้พิการ ญาติและบุตรหลานของผู้สูงอายุและผู้พิการมาร่วมกิจกรรมในวันจัดงานเกินเป้าหมายที่กำหนดไว้มากกว่า 601 คน แต่เนื่องจากในการดำเนินการตามโครงการฯ มีข้อผิดพลาดบกพร่องเพราะเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบมีจำนวนจำกัด แต่ต้องดูแลผู้สูงอายุ ผู้พิการ และประชาชนที่มาร่วมกิจกรรมจำนวนหลายร้อยคน รวมทั้งต้องปฏิบัติหน้าที่หลายอย่างในขณะเดียวกัน นอกจากนี้ผู้สูงอายุและผู้เข้าร่วมกิจกรรมบางส่วนก็ไม่ให้ความร่วมมือในการลงทะเบียนอันเนื่องมาจากเหตุปัจจัยบางอย่าง เช่น เขียนชื่อหรือลงลายมือชื่อไม่เป็น มีความรำคาญหรือลำบากในการลงทะเบียนเพราะต้องเข้าแถวยาว ฯลฯ เป็นเหตุให้การดำเนินการลงทะเบียนไว้ตรวจสอบมีความบกพร่องไม่ทั่วถึงและครบถ้วน
แต่ในการดำเนินโครงการจัดงานรดน้ำขอพรผู้สูงอายุนี้ องค์การบริหารส่วนตำบล........ ได้จัดให้มีการรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และผู้พิการ ในวันจัดงานรดน้ำขอพรผู้สูงอายุพร้อมกับการร่วมกิจกรรม ต่าง ๆ เพราะต้องการให้ผู้สูงอายุ และผู้พิการ ได้ร่วมกิจกรรมทุกคน ซึ่งในการรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และผู้พิการ จะต้องลงลายมือชื่อรับเงินในใบทะเบียนผู้สูงอายุ และผู้พิการ รายละเอียดตามเอกสารสิ่งที่ส่งมาด้วย 1 และสิ่งที่ส่งมาด้วย 2 และในการดำเนินกิจกรรมตามโครงการฯ ก็ได้มีการถ่ายภาพกิจกรรมต่าง ๆ ไว้บางส่วนตามรายละเอียดตามเอกสารสิ่งที่ส่งมาด้วย 3 ดังนั้น จึงถือได้ว่าทะเบียนการรับเงินและภาพถ่ายดังกล่าวนี้เป็นพยานหลักฐานที่แสดงว่าผู้มีรายชื่อในทะเบียนฯ ตามจำนวนดังกล่าวนี้ได้เข้าร่วมกิจกรรมจริง จำนวน 581 คน นอกจากนี้ลักษณะของกิจกรรมโดยเฉพาะอย่างยิ่งการรดน้ำขอพรจากผู้สูงอายุจะต้องกระทำกับบุตรหลานรวมทั้งประชาชนทั่วไปอีกเป็นจำนวนมาก ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าในการดำเนินโครงการจัดงานรดน้ำขอพรผู้สูงอายุในวันสงกรานต์ ประจำปีงบประมาณ 2558 นี้มีผู้สูงอายุกับบุตรหลานและประชาชนเข้าร่วมกิจกรรมทั้งหมดมากกว่า 601 คน จริง
ปัญหาต่อไปมีว่าเมื่อองค์การบริหารส่วนตำบล........ ได้ดำเนินโครงการฯ โดยมีผู้สูงอายุและประชาชนเข้าร่วมกิจกรรมทั้งหมดมากกว่า 600 คน แต่การดำเนินการลงทะเบียนผู้ร่วมกิจกรรมมีความบกพร่องได้ไม่ครบจำนวน 601 คน จะสามารถเบิกจ่ายค่าอาหารกลางวัน ค่าอาหารว่างและเครื่องดื่มได้ตามเป้าหมายของโครงการฯ ซึ่งกำหนดไว้ที่ 601 คนได้หรือไม่ เห็นว่าเมื่อองค์การบริหารส่วนตำบล........ ดำเนินโครงการจัดงานรดน้ำขอพรผู้สูงอายุในวันสงกรานต์ ประจำปีงบประมาณ 2558 โดยมีผู้สูงอายุ บุตรหลานและประชาชนเข้าร่วมกิจกรรมมากกว่า 601 คน ระยะเวลาดำเนินกิจกรรม ตั้งแต่ 07.30 – 16.30 น. องค์การบริหารส่วนตำบล........ จึงสามารถเบิกจ่ายค่าอาหารกลางวัน และค่าอาหารว่างและเครื่องดื่มได้ตามหนังสือ ที่ มท 0313.4/ว 1347 ลงวันที่ 19 พฤษภาคม 2541 เรื่องค่าใช้จ่ายในการจัดงานต่าง ๆ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แม้ว่าจะไม่มีหลักฐานการลงทะเบียนผู้เข้าร่วมกิจกรรมถึง 601 คนก็ตาม ทั้งนี้เนื่องจากใบลงทะเบียนผู้เข้าร่วมกิจกรรมมีวัตถุประสงค์ให้ผู้มีอำนาจอนุมัติเบิกจ่ายได้ตรวจสอบผลการปฏิบัติงานว่าเป็นไปตามโครงการหรือไม่ และมีวัตถุประสงค์ให้มีหลักฐานการจ่ายเงินเพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบ ทั้งนี้ โดยเทียบเคียงคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ในคดีหมายเลขแดงที่ อ. 23/2548 ซึ่งวินิจฉัยสรุปย่อได้ความว่า "ข้าราชการผู้เบิกเงินค่าตอบแทนการทำงานนอกเวลาราชการได้อยู่เวรปฏิบัติงานในช่วงเวลาที่เบิกจริง โดยกรณีเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการจ่ายเงินค่าตอบแทนฯ ตามข้อบังคับกระทรวงสาธารณสุข ว่าด้วยเงินค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่ของหน่วยบริการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ.2536 ข้าราชการดังกล่าวจึงเป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าตอบแทนข้างต้น แม้ว่าการเบิกเงินค่าตอบแทนฯ จะไม่มีหลักฐานบัญชีลงเวลาการปฏิบัติงานนอกเวลาราชการก็ตาม ทั้งนี้เนื่องจากหลักเกณฑ์ตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการจ่ายเงินค่าตอบแทนการปฏิบัติงานนอกเวลาราชการ พ.ศ.2536 ที่หน่วยงานฯ หยิบยกมาเป็นเหตุวินิจฉัยว่าข้าราชการผู้เบิกเงินค่าตอบแทนฯ ปฏิบัติไม่ชอบทำให้ไม่มีสิทธิได้รับเงินดังกล่าว มีวัตถุประสงค์ให้ผู้มีอำนาจอนุมัติเบิกจ่ายได้ตรวจสอบผลการปฏิบัติงานนอกเวลาของผู้ปฏิบัติงานว่าคุ้มค่าเหมาะสมกับค่าตอบแทนที่ทางราชการจ่ายให้หรือไม่ และมีวัตถุประสงค์ให้มีหลักฐานการจ่ายเงินเพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบ ดังนั้น การที่หน่วยงานฯ วินิจฉัยว่าข้าราชการผู้เบิกเงินค่าตอบแทนฯ ไม่มีสิทธิได้รับเงินดังกล่าว เนื่องจากไม่มีหลักฐานบัญชีลงเวลาการปฏิบัติงานนอกเวลาราชการตามระเบียบข้างต้นจึงไม่ถูกต้อง"
แม้คำพิพากษาจะผูกพันเฉพาะคู่ความและข้อเท็จจริงจะไม่เหมือนกันเสียทีเดียว แต่หลักกฎหมายที่ศาลปกครองสูงสุดวางไว้ย่อมเป็นการแปลข้อกฎหมายและระเบียบในลักษณะทำนองเดียวกัน และใช้เป็นหลักปฏิบัติราชการร่วมกันได้
ทั้งนี้ ในการดำเนินโครงการฯ องค์การบริหารส่วนตำบล........ ไม่ได้มีเจตนาหลีกเลี่ยงหรือละเลยไม่ให้ความสำคัญกับการจัดทำเอกสารการดำเนินงานเพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบ หรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และระเบียบแบบแผนของทางราชการ แต่ข้อผิดพลาดหรือบกพร่องที่เกิดขึ้นเกิดจากการที่องค์การบริหารส่วนตำบล........ ไม่อาจควบคุมความเสี่ยงได้ทั้งหมดเพราะมีเหตุปัจจัยหลายอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในรูปแบบองค์การบริหารส่วนตำบลพึ่งจะจัดตั้งได้ไม่นาน ทำให้ระบบบริหารราชการโดยเฉพาะอย่างยิ่งงานด้านเอกสารยังไม่ได้มาตรฐานของส่วนราชการ ในส่วนของบุคลากรของหน่วยงานเองก็ยังขาดประสบการณ์และทักษะในการทำงานที่หลากหลายรวมทั้งความรู้ที่จำเป็นต้องใช้ในการปฏิบัติราชการ รวมถึงความเข้าใจในการจัดทำเอกสารประกอบการเบิกจ่ายและการตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณ ทำให้ขาดความละเอียดรอบคอบในการปฏิบัติงานและการจัดทำเอกสารจนเป็นเหตุให้เกิดความบกพร่องเช่นนี้ขึ้น แต่แท้ที่จริงแล้วพนักงานเจ้าหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนตำบล........ โดยเฉพาะผู้รับผิดชอบโครงการฯ นี้มีความตั้งใจดีที่จะปฏิบัติหน้าที่รับใช้ราชการและประชาชนด้วยความตั้งใจ เป็นต้นว่า แม้องค์การบริหารส่วนตำบล........ จะมีงบประมาณที่จำกัด เจ้าหน้าที่ดังกล่าวนี้ก็ยังอุตสาหะประสานหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องด้วยความยากลำบาก เพราะต้องแข่งกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นในการขอรับการสนับสนุนจนสามารถจัดฝึกอบรมอาชีพให้กับประชาชนในตำบล........ได้ เช่น เมื่อปี พ.ศ. 2558 ถึง พ.ศ. 2559 ก็ได้จัดฝึกอบรมอาชีพการทำพวงกุญแจจากลูกปัด การเพาะเห็ดนางฟ้า การทำขนมไทย การเลี้ยงปลาในบ่อพลาสติก เป็นต้น เพื่อเป็นการส่งเสริมการประกอบอาชีพให้กับประชาชนในตำบล........ นอกจากนี้ยังได้จัดตั้งกลุ่มอาชีพต่าง ๆ เช่น กลุ่มอาชีพเพาะเห็ดตำบล........ กลุ่มอาชีพการทำปลาร้าบองบ้านเจริญสุข กลุ่มอาชีพการทำขนมบ้านเจริญสุข กลุ่มอาชีพจักสานบ้านโนนงาม กลุ่มอาชีพการทำน้ำยาเอนกประสงค์บ้านบ่อพนา เป็นต้น
ดังได้เรียนชี้แจงมาแล้วข้างต้น การเบิกจ่ายค่าอาหาร ค่าอาหารว่างและเครื่องดื่ม ตามโครงการจัดงานรดน้ำขอพรผู้สูงอายุในวันสงกรานต์ ประจำปีงบประมาณ 2558 จึงเป็นไปโดยชอบแล้ว และเป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชนโดยตรง โดยทางราชการไม่ได้รับความเสียหายแต่อย่างใด องค์การบริหารส่วนตำบล........ จึงใคร่ขอเรียนสำนักตรวจเงินแผ่นดินจังหวัด........ ได้โปรดพิจารณาทบทวนข้อเสนอแนะในกรณีนี้อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งจากการที่สำนักตรวจเงินแผ่นดิน ได้ให้ข้อเสนอแนะจากรายงานการตรวจสอบในครั้งนี้นับเป็นโอกาสอันดีที่องค์การบริหารส่วนตำบล........ จะนำไปปรับปรุงกระบวนทัศน์และวิธีการทำงานเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อทางราชการและประชาชน ต่อไป
ข้อเท็จจริงจากการตรวจสอบของสำนักตรวจเงินแผ่นดินข้อที่ 4.1 (3) ความว่า
"ฎีกาเลขที่คลังรับ 47/2558 ลงวันที่ 17 พฤศจิกายน 2557 เบิกจ่ายเงินค่าจัดซื้อเสื้อที่ใช้ในการแข่งขันเรือ จำนวน 221 ตัว ๆ ละ 135.00 บาท เป็นเงิน 29,835.00 บาท ตามโครงการจัดงานแข่งขันเรือตำบล........ ครั้งที่ 6 ประจำปีงบประมาณ 2558 ณ ห้วยน้ำใส บ้านดงสว่าง ตำบล........ อำเภอ........ จังหวัด........ ...ฯลฯ...(อันนี้คือโครงการแข่งเรือด้านบนนั้นเอง).."
จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบและพิจารณาดำเนินการต่อไป
ขอแสดงความนับถือ
.............................................
ส่วนที่ 2 กรณีการส่งเรื่องให้ผู้ว่าชี้ขาด
เรื่อง ขอส่งเรื่องให้ผู้ว่าราชการจังหวัดวินิจฉัย กรณีการเบิกจ่ายเงินเป็นค่าจ้างเหมาผู้ฝึกนวดเพื่อสุขภาพ ตามโครงการจัดงานรดน้ำขอพรผู้สูงอายุในวันสงกรานต์ ประจำปีงบประมาณ 2558
เรียน นายอำเภอ........
สิ่งที่ส่งมาด้วย 1 สำเนาหนังสือสำนักตรวจเงินแผ่นดินจังหวัด........ ลับ ที่ ตผ ๐๐๔8.๕ ...../0339 ลงวันที่ 13 กันยายน 2559 จำนวน 13 แผ่น
2 สำเนาหนังสือองค์การบริหารส่วนตำบล........ ที่ .... ๘๐๓๐๑/731 ลงวันที่ 8 พฤศจิกายน 2559 จำนวน 13 แผ่น
3 สำเนาหนังสือสำนักตรวจเงินแผ่นดินจังหวัด........ ลับ ที่ ตผ ๐๐๔8.๕ .../0158 ลงวันท31 กรกฎาคม 2560 จำนวน 3 แผ่น
4 สำเนาฎีกาเลขที่คลังรับ 397/2558 ลงวันที่ 23 เมษายน 2558 จำนวน 15 แผ่น

ด้วย สำนักตรวจเงินแผ่นดินจังหวัด........ แจ้งผลการตรวจสอบงบการเงินขององค์การบริหารส่วนตำบล........ สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2558 ซึ่งตามข้อสังเกตจากรายงานการตรวจสอบ ข้อที่ 4.1 ได้มีข้อทักท้วงให้เรียกเงินคืนจากเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ 3 กรณี คือ
(1) ฎีกาเลขที่คลังรับ 397/2558 ลงวันที่ 23 เมษายน 2558 เบิกจ่ายเงินเป็นค่าจ้างเหมาผู้ฝึกนวดด้านการนวดคลายเส้นนวดเพื่อสุขภาพ เป็นเงิน 8,000 บาท ตามโครงการจัดงานรดน้ำขอพรผู้สูงอายุในวันสงกรานต์ ประจำปีงบประมาณ 2558
(2) ฎีกาเลขที่คลังรับ 443/2558 ลงวันที่ 29 เมษายน 2558 เบิกจ่ายเงินเป็นค่าอาหารกลางวัน ค่าอาหารว่างและเครื่องดื่ม เป็นเงิน 60,100 บาท ตามโครงการจัดงานรดน้ำขอพรผู้สูงอายุในวันสงกรานต์ ประจำปีงบประมาณ 2558 และ
(3) ฎีกาเลขที่คลังรับ 47/2558 ลงวันที่ 17 พฤศจิกายน 2557 เบิกจ่ายเงินค่าจัดซื้อเสื้อที่ใช้ในการแข่งขันเรือ เป็นเงิน 29,835 บาท ตามโครงการจัดงานแข่งขันเรือตำบล........ ครั้งที่ 6 ประจำปีงบประมาณ 2558
รายละเอียดตามเอกสารสิ่งที่ส่งมาด้วย 1

องค์การบริหารส่วนตำบล........ ได้ชี้แจงต่อข้อทักท้วงของสำนักตรวจเงินแผ่นดิน ว่าการเบิกจ่ายเงินงบประมาณทั้งสามกรณีเป็นไปตามอำนาจหน้าที่โดยชอบแล้ว เพื่อให้สำนักตรวจเงินแผ่นดินทบทวนข้อทักท้วงอีกครั้งหนึ่ง รายละเอียดตามเอกสารสิ่งที่ส่งมาด้วย 2
ซึ่งสำนักตรวจเงินแผ่นดินจังหวัด........ เห็นด้วยกับการชี้แจงขององค์การบริหารส่วนตำบล........ และยุติเรื่องเฉพาะกรณีตาม (2) และ (3) คงยืนยันตามข้อทักท้วงเดิมในกรณีตาม (1) รายละเอียดตามเอกสารสิ่งที่ส่งมาด้วย 3
องค์การบริหารส่วนตำบล........ พิจารณาแล้วยังคงเห็นว่าการเบิกจ่ายเงินงบประมาณเป็นค่าจ้างเหมาผู้ฝึกนวดด้านการนวดคลายเส้นนวดเพื่อสุขภาพ เป็นเงิน 8,000 บาท ตามโครงการจัดงานรดน้ำขอพรผู้สูงอายุในวันสงกรานต์ ประจำปีงบประมาณ 2558 ตามฎีกาเลขที่คลังรับ 397/2558 ลงวันที่ 23 เมษายน 2558 เป็นไปตามอำนาจหน้าที่โดยชอบแล้ว จึงมีความประสงค์จะให้ผู้ว่าราชการจังหวัด........ ได้วินิจฉัยปัญหาดังกล่าวนี้ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการรับเงิน การเบิกจ่ายเงิน การฝากเงิน การเก็บรักษาเงิน และการตรวจเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2547 ข้อ 103 โดยมีเหตุผลตามที่ได้ชี้แจงต่อสำนักตรวจเงินแผ่นดินจังหวัด........ ตามรายละเอียดเอกสารสิ่งที่ส่งมาด้วย 2 และขอชี้แจงเหตุผลเพิ่มเติมต่อผู้ว่าราชการจังหวัด........ เพื่อวินิจฉัย ดังนี้
การที่องค์การบริหารส่วนตำบล........ จัดงานประเพณีรดน้ำขอพรผู้สูงอายุในวันสงกรานต์ ก็เพื่อให้บุตรหลานได้แสดงออกถึงความรัก ความเคารพนับถือ และความกตัญญูต่อผู้สูงอายุในตำบล........ และเป็นการสืบทอดอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่นและของชาติ จึงได้จัดทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่จำเป็นไว้ในโครงการจัดงานรดน้ำขอพรผู้สูงอายุในวันสงกรานต์ ประจำปีงบประมาณ 2558 เช่น การรดน้ำขอพร และสรงน้ำพระ การประกวดเว้าผญา ประกวดเว้าสอย ประกวดร้องเพลงกล่อมลูก การละเล่นพื้นบ้านต่าง ๆ การตรวจสุขภาพให้กับผู้สูงอายุ และสุดท้ายก็เป็นการให้ความรู้ผู้สูงอายุในเรื่องการนวดเพื่อสุขภาพและนวดคลายเส้นเพื่อให้ผู้สูงอายุนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ดูแลตนเองได้ รวมทั้งเป็นการให้บริการการนวดคลายเส้นและนวดคลายกล้ามเนื้อผู้สูงอายุที่มีอาการปวดเส้นเอ็นและปวดเมื่อยร่างกายในระหว่างการร่วมกิจกรรม ทั้งนี้ เพราะเล็งเห็นและคาดการณ์ล่วงหน้าแล้วว่าการที่ผู้สูงอายุซึ่งมีอายุมากกว่า 60 ปี ต้องทำกิจกรรมทั้งวันหรือแม้แต่การนั่งนานๆ ย่อมเป็นการหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีผลกระทบต่อร่างกาย เป็นต้นว่า ปวดเมื่อย ปวดหลัง ปวดเอว และเคล็ดขัดยอกตามร่างกาย หรือผลกระทบอื่น ๆ ทำให้ในการจัดทำโครงการฯ ไม่อาจมองข้ามเรื่องเหล่านี้แต่ต้องคำนึงถึงกิจกรรมทุกอย่างในการปฏิบัติต่อผู้สูงอายุโดยเฉพาะอย่างการดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุในระหว่างร่วมกิจกรรม โดยไม่ได้จัดทำแต่กิจกรรมรดน้ำขอพร การประกวดเว้าผญา ประกวดเว้าสอย ประกวดร้องเพลงกล่อมลูก และการละเล่นพื้นบ้านต่าง ๆ ซึ่งเป็นกิจกรรมในทางที่สร้างความเมื่อยล้าหรือปวดเมื่อยต่อร่างกายเท่านั้น แต่ได้คำนึงถึงกิจกรรมในเชิงเป็นประโยชน์กับร่างกายด้วย เช่น การจัดรถพยาบาลฉุกเฉิน การตรวจสุขภาพและให้ความรู้ด้านสาธารณสุขโดยเจ้าหน้าที่จากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล การบำบัดหรือทุเลาต่อการปวดเมื่อย ปวดหลัง ปวดเอว และเคล็ดขัดยอกตามร่างกายของผู้สูงอายุ เนื่องจากผู้สูงอายุวัยนี้จะมีปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับอาการปวดของร่างกายได้ตลอด
นอกจากนี้การจัดกิจกรรมนวดเพื่อสุขภาพไว้ในโครงการฯ ยังมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้สูงอายุได้รู้จักดูแลรักษาสุขภาพตนเอง โดยการให้ความรู้ในการฝึกนวดเพื่อสุขภาพและนวดคลายเส้น เพื่อให้ผู้สูงอายุได้รับความรู้เกี่ยวกับการนวดเบื้องต้นเพื่อนวดให้กับตนเองหรือผู้อื่นได้ โดยไม่จำเป็นต้องถึงกับนำไปประกอบอาชีพได้เพราะเป็นการให้ความรู้และฝึกนวดระยะสั้น ๆ และเป็นกิจกรรมเสริมที่จัดให้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมหลักเท่านั้น โดยให้ผู้สูงอายุนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ประโยชน์ต่อไปได้ตามสมควร เช่น การนวดผ่อนคลาย นวดคลายอาการปวดกล้ามเนื้อ นวดกระตุ้นกล้ามเนื้อและการหายใจ นวดคลายอาการปวดเข่าปวดเท้า ฯลฯ ให้ตนเองและบุคคลในครอบครัว หรือเพื่อนบ้านผู้สูงอายุด้วยกันในยามที่จำเป็นต้องให้การช่วยเหลือกันได้ ซึ่งจะทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่าไม่ได้อยู่อย่างโดดเดี่ยว และเป็นภาระให้แก่บุตรหลานและสังคม อย่างเดียว
ดังที่กล่าวมาแล้วนี้ การจัดกิจกรรมนวดเพื่อสุขภาพในครั้งนี้จึงเป็นกิจกรรมที่จัดให้มีขึ้นเพื่อดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุ อันเป็นการสอดคล้องกับโครงการจัดงานรดน้ำขอพรผู้สูงอายุในวันสงกรานต์ ประจำปีงบประมาณ 2558 ซึ่งเป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนตำบลที่จะดำเนินการได้ เนื่องจากเป็นส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ การบำรุงรักษาจารีตประเพณีและวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่น ตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ มาตรา 67 (6) (8) และพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา 16 (10) (11) และองค์การบริหารส่วนตำบล........ เห็นว่าการจัดกิจกรรมวันผู้สูงอายุสามารถจัดกิจกรรมต่าง ๆ ที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนตำบล เช่น กิจกรรมนี้เสริมเข้าไปได้ถ้ากิจกรรมดังกล่าวเกิดประโยชน์ต่อผู้สูงอายุ ซึ่งแนวคิดดังกล่าวนี้ย่อมมีเหตุและผลรองรับและรับฟังได้ ดังจะเห็นได้จากต่อมาได้มีหนังสือกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ด่วนที่สุด ที่ มท 0810.6/ว709 ลงวันที่ 30 มีนาคม 2560 เรื่องการจัดงานวันผู้สูงอายุแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ 2560 ซักซ้อมแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดงานวันผู้สูงอายุ ความว่า "... 2. การจัดโครงการกิจกรรมอื่นสำหรับผู้สูงอายุที่นอกเหนือจาการจัดงานตาม ข้อ 1 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถดำเนินการได้ตามอำนาจหน้าที่ ได้แก่ การส่งเสริมสุขภาพโดยจัดให้มีการออกกำลังกาย การดูแลสุขภาพ สุขอนามัยผู้สูงอายุ เช่น การตรวจสุขภาพฟัน การตรวจสายตา การตรวจสุขภาพเบื้องต้น การวัดความดัน เบาหวาน รวมทั้งการส่งเสริมอาชีพ เช่น การทำดอกไม้ประดิษฐ์ การทำเครื่องจักสาน การทอผ้า ตลอดจนการอบรมให้ความรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง..." แม้หนังสือซักซ้อมดังกล่าวนี้ใช้เป็นแนวทางในการจัดงานวันผู้สูงอายุประจำปีงบประมาณ 2560 ก็ตาม แต่แนวทางการจัดงานย่อมใช้ร่วมกันได้ เนื่องจากเป็นการจัดทำโครงการ/กิจกรรม ประเภทเดียวกัน
ด้วยเหตุผลทั้งหลายตามที่รายงานมานี้ องค์การบริหารส่วนตำบล........ ยังคงเห็นว่าการ เบิกจ่ายเงินเป็นค่าจ้างเหมาผู้ฝึกนวดด้านการนวดคลายเส้นนวดเพื่อสุขภาพ ตามโครงการจัดงานรดน้ำขอพรผู้สูงอายุในวันสงกรานต์ ประจำปีงบประมาณ 2558 เป็นไปตามอำนาจหน้าที่โดยชอบแล้ว ทั้งงบประมาณทั้งหมดได้ใช้ไปเพื่อประโยชน์ของประชาชนและทางราชการโดยแท้ จึงใคร่ขอความกรุณาจากผู้ว่าราชการจังหวัด........ อาศัยอำนาจตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการรับเงิน การเบิกจ่ายเงิน การฝากเงิน การเก็บรักษาเงิน และการตรวจเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2547 ข้อ 103 ได้วินิจฉัยตามความเห็นขององค์การบริหารส่วนตำบล........ ทั้งนี้ ในการดำเนินกิจกรรมในโครงการดังกล่าวมานี้ พนักงานเจ้าหน้าที่ตลอดจนคณะผู้บริหารขององค์การบริหารส่วนตำบล........ ได้ทุ่มเทแรงกายแรงใจและกำลังสติปัญญาเพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชนในพื้นที่มากที่สุด และเกิดประโยชน์ต่อทางราชการโดยรวม
จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบและพิจารณาดำเนินการต่อไป
ขอแสดงความนับถือ
............
โดยคุณ นิติกรgan 1.179.170.* [ วันพฤหัสบดี ที่ 19 ตุลาคม 2560 เวลา 10:42 น. ] ผู้ตอบคนที่ 6
[ ลบคำตอบที่ 6 ]
อยากให้ชาตินี้เป็นชาติสุดท้ายของเรา

admin

ขอบคุณครับท่าน
โดยคุณ ผู้เล้กน้อย 1.4.136.* [ วันพฤหัสบดี ที่ 19 ตุลาคม 2560 เวลา 13:22 น. ] ผู้ตอบคนที่ 7
[ ลบคำตอบที่ 7 ]

ขอบคุณค่ะ สำหรับแนวทาง ได้ประโยชน์มากค่ะ
โดยคุณ นักจักการ 58.11.24.* [ วันอังคาร ที่ 5 ธันวาคม 2560 เวลา 12:28 น. ] ผู้ตอบคนที่ 8
[ ลบคำตอบที่ 8 ]

อยากได้แนวทางตอบข้อทักท้วง เรื่องอำเภอยิ้มเคลื่อนที่ค่ะ สตง.ตรวจสอบเจอข้อบกพร่อง มีข้อเสนอแนะให้เรียกเงินคืนค่ะ ซึ่งในโครงการ จะมีรายการเบิกอยู่ 4 รายการ
1.ค่าอาหารกลางวัน 200 คน ×75 บาท เป็นเงิน 15,000 บาท
2.ค่าอาหารว่างและเครื่องดื่ม 200 คน×25 บาท เป็นเงิน 5,000 บาท
3.ค่าป้ายโครงการ 1,000 บาท
4.ค่าจ้างเหมาจัดสถานที่ 1,500 บาท
ข้อบกพร่อง : โครงการอำเภอยิ้มเคลื่อนที่ไม่ใช่หน้าที่หรือภารกิจของ อปท. ที่สามารถใช้งบประมาณของ อปท.ได้ จึงเป็นรายจ่ายที่ไม่ระเบียบหรือนั่งสือสั่งการใดให้เบิกจ่ายได้
เป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการรับเงิน การเบิกต่ายเงิน การฝากเงิน การเก็บรักษาเงินและการตรวจเงินจององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2547 ข้อ 67 ที่กำหนดว่า อปท.จะจ่ายเงินหรือก่อหนี้ผูกพันได้แต่เฉพาะที่กฎหมาย ระเบียบข้อบังคับ หรือหนังสือสั่งการที่กระทรวงมหาดไทยกำหนดไว้ ค่ารับรองตามหนังสือกระทรวงมหาดไทย ที่ มท 0808.4/ว 2381 ลงวันที่ 28 กรกฎาคม 2548 เรื่องการตั้งงบประมาณ และการเบิกจ่ายเงิน ค่ารับรอง หรือค่าเบี้ยเลี้ยงรับรองของ อปท. จึงไม่สามารถนำมาเบิจ่ายได้
ข้อเสนอแนะ:
1. ให้เรียกเงิน จำนวน 22,500 บาท จากผู้ที่เกี่ยวข้องส่งคืนคลัง อบต.... แล้ว
ส่งสำเนาใบเสร็จรับเงินพร้อมหลักฐานการนำเงินฝากธนาคารให้ สตง. ตรวจสอบ
2. สั่งการให้ผู้รับผิดชอบศึกษากฎหมาย ระเบียบฯ และหนังสือสั่งการและปฏิบัติให้ถูกต้อง
**อยากทราบแนวทางการตอบข้อทักท้วงค่ะ สตง.ตรวจพบ โครงการฯ นี้ครั้งแรก** .....ต้องขอขอบคุณล่วงหน้านะคะ...
โดยคุณ นักจักการ 58.11.24.* [ วันอังคาร ที่ 5 ธันวาคม 2560 เวลา 13:07 น. ] ผู้ตอบคนที่ 9
[ ลบคำตอบที่ 9 ]

อยากได้แนวทางตอบข้อทักท้วงเรื่อง การส่งนักกีฬาผุ้สูงอายุเข้าร่วมแข่งขันกีฬาผู้สูงอายุ กับ อบจ. โดยจัดกีฬา 2 วัน สตง ทักท้วงเรื่องดังต่อไปนี้
1.ค่าอาหารและเครื่องดื่ม จำนวน 5,000 บาท (สำหรับค่าอาหารและเครื่องดื่ม นักกีฬาและผู้ร่วมงาน จำนวน 20 คน ๆละ 125 บาทต่อวัน)
โดย สตง ทักท้วงว่า สามารถเบิกจ่ายได้เฉพาะนัก+++ฬาเท่านั้น (นักกีฬา 8 คน) นอกนั้นเป็นผุ้สูงอายุที่เข้าร่วมโครงการและเจ้าหน้าที่ที่ดูแลผู้สูงอายุจำนวน 4 คน
อยากทราบแนวทางการตอบข้อทักท้วงค่ะ ค่อนข้างด่วนค่ะ
ขอบคุณล่วงหน้าสำหรับคำตอบ่ค่ะ
โดยคุณ นักพัฒน์ ส่งเมล์ถึง นักพัฒน์ 118.173.116.* [ วันจันทร์ ที่ 30 เมษายน 2561 เวลา 15:17 น. ] ผู้ตอบคนที่ 10
[ ลบคำตอบที่ 10 ]
อยากให้ชาตินี้เป็นชาติสุดท้ายของเรา