
คำถาม ๒๗/๑/๖๓
เทศบาลมีคำสั่งแต่งคณะกรรมการสอบวินัยร้ายแรง พนักงานจ้าง ในเรื่องละทิ้งการทำงานเกินกว่า 7 วัน แต่ในทางสอบสวนทราบว่าการที่ผู้ถูกกล่าวหาละทิ้งการทำงาน มีสาเหตุมาจากถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุม ข้อกล่าวหา มียาเสพติดไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ปัจจุบันถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำ (ศาลยังไม่ได้ตัดสิน) อยากเรียนถามว่า
การสรุป สว 6 ต้องสรุปว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำผิดวินัยร้ายแรงในเรื่องละทิ้งการทำงานเกินกว่า 7 วัน อันมีสาเหตุมาจากถูกคุมขัง ด้วยข้อกล่าวหามียาเสพติดไว้ในครอบครอง หรือต้องสรุปเป็นความผิดฐานใด และลงโทษสถานไหนคะ
หากอาจารย์มีข้อเสนอใดแนะนำขอความกรุณาให้คำแนะนำด้วยค่ะ .... ขอขอบคุณค่ะ
ตอบ
การออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง ต้องมีมูลเพียงพอเสียก่อนว่า มีการละทิ้งการทำงานจริง แต่การตรวจสอบเฉพาะสมุดลงเวลามาปฏิบัติงานอย่างเดียว บางครั้งอาจไม่เพียงพอ ดังนั้น จึงต้องมีการสืบสวนหรือพิจารณาในเบื้องต้นว่า มีมูลว่าเขากระทำผิดวินัยหรือไม่ (ข้อ ๒๔ ว ๕) กรณีนี้อาจไม่จำต้องตั้งกรรมการข้อเท็จจริง (ข้อ ๒๔ ว ๗) เพียงมีการสืบสวนเท่านั้น
และถ้าได้ดำเนินการตามข้างต้นแล้ว ข้อกล่าวหาในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงดังกล่าว อาจเปลี่ยนไป จาก "ละทิ้งการทำงานติดต่อเกินกว่า ๗ วัน" เป็น "ถูกจับกุมในคดียาเสพติด" ซึ่งคำถามนี้จะไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน !!
การละทิ้งการทำงานติดต่อกันเกินกว่า ๗ วันของพนักงานจ้าง (ข้าราชการ ๑๕ วัน) โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร เป็นกรณีไม่อาจไปไหนมาไหนได้ตามปกติ แต่การถูกควบคุม ขัง หรือจำคุกในคดีอาญา แม้ต้องการมาทำงาน ก็ไม่อาจกระทำได้โดยแท้ !!!
ดังนั้น กรณี (เมื่อความปรากฏแก่นายกฯ ว่า) พนักงานจ้างต้องหาคดีอาญา นายกฯ ต้องดำเนินการทางวินัยไปพร้อมกัน (ว ๔) และเมื่อเป็นคดีเกี่ยวกับยาเสพติด จึงต้องออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง แล้วรายงานไปยัง ก.จังหวัด เพื่อขอความเห็นชอบให้ผู้นั้นออกจากงานไว้ก่อน (ว ๗๓๓)
ซึ่งหากผลการสอบสวนทางวินัยยังไม่อาจฟังลงโทษผู้ถูกกล่าวหาได้ ให้รอสั่งการเด็ดขาดทางวินัยไว้ก่อน จนกว่าจะทราบผลทางคดีอาญา (ว ๙)
คำแนะนำ
๑. ควรออกคำสั่งอีก ๑ คำสั่ง เพื่อเพิ่มเติมข้อกล่าวหา กรณีเกี่ยวข้องกับยาเสพติด โดยเท้าความถึงคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเดิม
๒. ควรรอการจัดทำรายงานการสอบสวน (สว.๖) กรณีละทิ้งการทำงานติดต่อกันเกินกว่า ๗ วัน ไว้จัดทำและเสนอในคราวเดียว (เพราะผลการสอบสวนอาจเปลี่ยนไป)
๓. กรณีมียาเสพติดไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย เป็นความผิดทางวินัย ฐานประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง (ข้อ ๒๓ ว ๒) และโทษที่จะได้รับ คือ ไล่ออกจากราชการ (สำหรับพนักงานจ้าง) ทั้งนี้ ย่อมขึ้นอยู่กับผลการสอบสวนพิจารณา
๔. กรณีละทิ้งการทำงานติดต่อกันเกินกว่า ๗ วัน อาจเสนอความเห็นให้ยุติเรื่องได้
อ้างอิง :
๑. หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการสอบสวน การลงโทษทางวินัย (พ.ศ.๒๕๕๘/๒๕๕๙)
ข้อ ๑๖ วรรคสอง
ข้อ ๒๓ วรรคสอง
ข้อ ๒๔ วรรคห้า และวรรคเจ็ด
๒. มาตรฐานทั่วไปเกี่ยวกับพนักงานจ้าง ลงวันที่ ๑๒ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๔๗
ขัอ ๔๘
ข้อ ๔๙ วรรคสอง
๓. หนังสือสำนักงาน ก.พ.ทึ่ สร ๐๙๐๕/ว ๔ ลงวันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๐๙
๔. หนังสือสำนักงาน ก.พ.ที่ สร ๐๙๐๕/ว ๙ ลงวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๐๙
๕. หนังสือสำนักงาน ก.อบต., ก.ท. และ ก.จ. ที่ มท ๐๘๐๙.๑/ว ๗๓๓ ลงวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๔๖
ขอบคุณทุกความเห็น ครับ