• Welcome to ชมรมนิติกรองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น:เว็บไซท์อันดับ๑ของวงการท้องถิ่น.
Main Menu

เทคนิคการอ่าน พ.ร.บ.

เริ่มโดย admin, 02-09-2020, 09:42:39

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

admin

เทคนิคการอ่าน พ.ร.บ. กฎ ระเบียบต่างๆ ให้เข้าใจและจำง่าย

        แบ่งปันเทคนิคการอ่าน พระราชบัญญัติ กฎหมาย ระเบียบ หลักเกณฑ์ต่างๆ ให้เข้าใจและจำได้ง่ายๆ ฉบับครูบ้านนอกดอทคอม ซึ่งวิธีนี้ เป็นวิธีที่ตัวผมเองได้ใช้และแนะนำคนอื่นๆ ได้ลองนำไปปรับใช้ในการอ่านหนังสือเตรียมสอบมาในหลายๆ ตำแหน่ง  ผมพอจะสรุปได้ประมาณ 10 ข้อ ลองอ่านดู เผื่อมีประโยชน์นะครับ

1. จัดเรียงตามลำดับ
        กฎหมาย ระเบียบต่างๆ จะมีวันที่ออก และประกาศใช้ ให้ลองนำมาเรียงลำดับ ก่อน - หลัง จะได้ดูง่ายขึ้น

2. แยกหมวดหมู่
        เป็นการแยกหมวดหมู่ และแบ่งเนื้อหาออกเป็นกลุ่มๆ ให้อยู่ในหมวดหมู่ หรือกลุ่มเดียวกัน จะช่วยทำให้เราสามารถเชื่อมโยงกันได้ง่ายขึ้น

3. จำชื่อ จำเรื่อง ให้ถูกต้อง
        กฎหมาย และระเบียบหลายๆ ฉบับ จะมีชื่อเรียกคล้ายๆ กัน อย่าสับสน ควรจำให้ได้ว่าแต่ละฉบับ มีชื่อเรื่องที่ถูกต้องว่าอย่างไร เช่น ระเบียบว่าด้วย.....     ประกาศ เรื่อง...... เป็นต้น

4. ทำไฮไลต์เนื้อหาสำคัญ
การทำไฮไลต์เนื้อหาส่วนที่สำคัญ และควรที่จะจดจำได้ จะช่วยให้ตอนมาอ่านทบทวนรอบที่สอง รอบที่สาม สามารถหาคำสำคัญได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น

5. สรุปออกเป็นแผนผังความคิด
        ตรงนี้หลายๆ คนไม่เคยได้ลองทำ แต่เชื่อเถอะครับ ถ้าได้ลองเขียนออกมาเป็นแผนผัง หรือบางคนอาจจะใช้วิธีการทำเป็นรูปภาพ ประมาณ InfoGraphic ก็จะช่วยให้เราจำได้ง่ายขึ้น เพราะการจำเป็นภาพ จะจำได้ง่ายกว่าจำเป็นตัวอักษร เช่น กรณีจำนวนขององค์คณะบุคคลในคณะกรรมการต่างๆ ถ้าเราทำเป็นรูปภาพแทนตัวหนังสือ เราจะจำได้ง่าย เหมือนสอนนักเรียนโดยใช้รูปผลไม้แทนจำนวนตัวเลขนั่นเองครับ

6. พยายามอ่านออกเสียงในคำสำคัญๆ
        การอ่านออกเสียง จะเป็นการเพิ่มการรับรู้ทางประสาทสัมผัสอีกช่องทางหนึ่งครับ คือถ้าอ่านในใจ เราก็รับรู้ในช่องทางสายตา เวลาเจอข้อสอบ เราก็จะพยายามคิดใช่ไหม ว่าเคยอ่าน เคยผ่านตามาหรือเปล่า แต่ถ้าเราได้รับข้อมูลเดียวกันนี้ผ่านทางการได้ยินด้วยแล้ว ก็จะช่วยเพิ่มช่องทางในการค้นหาคำตอบจากระบบประสาทสัมผัสต่างๆ ของเราได้ดีขึ้น

7. จับประเด็นสำคัญให้ได้
        กฎหมาย ระเบียบต่างๆ นั้น จะมีใจความสำคัญ หรือวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน ให้อ่านและจับประเด็นให้ได้ว่าเรื่องนี้ ออกมาด้วยเหตุผลใด มีหลักเกณฑ์และวิธีการอย่างไร การดำเนินการในลักษณะไหน เป็นต้น ตรงนี้อาจจะมีเทคนิคย่อยๆ คือ ลองทำเป็นกลอน หรือ คำย่อๆ ที่จำได้ง่ายๆ (ซึ่งเป็นเทคนิคที่ติวเตอร์ทั้งหลายนิยมใช้) ออกมาเป็นรูปแบบและสไตล์ของเราเองดูก็ได้นะครับ

8. บุคคล หรือตำแหน่งที่เกี่ยวข้องต้องระบุได้
        ตรงนี้หลายๆ คนอาจจะมองข้ามไป จนไม่ได้ใส่ใจว่า ในบางครั้ง ผู้ออกข้อสอบก็จะถามในลักษณะที่อ้างถึงว่า บุคคลใด หรือผู้ที่ดำรงตำแหน่งระดับใด ที่มีอำนาจตามกฎ ระเบียบ แต่ละฉบับ แต่ละเรื่อง จุดนี้ ต้องจำให้ดีครับ

9. ปรึกษาผู้รู้ อย่าปล่อยให้ตัวเองเข้าใจผิดๆ
        เนื่องจากกฎ ระเบียบ ต่างๆ มักจะใช้คำที่เป็นลักษณะภาษาทางด้านกฎหมาย หรือข้อความที่อยู่ในรูปแบบที่เป็นทางการ ดังนั้น ถ้าเราอ่านแล้วเกิดความไม่ชัดเจน ว่าประโยคหรือคำนี้ หมายความว่าเช่นไร ให้ปรึกษาผู้ที่มีประสบการณ์ หรือผู้ที่มีความรู้ทันที อย่าปล่อยให้ตัวเองเข้าใจผิด เพราะความเข้าใจในครั้งแรก มักจะอยู่ทนและนานกว่าความเข้าใจครั้งถัดมา

10. "และ" / "หรือ" คำที่ควรใส่ใจ
        หลีกหนีไม่พ้นครับ สำหรับคำว่า "และ" / "หรือ" ในเอกสารที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย ระเบียบ หลักเกณฑ์ต่างๆ ซึ่งเป็นคำที่เราควรใส่ใจ เพราะเป็นตรรกะ ที่เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และวินิจฉัยคำตอบที่ถูกต้องได้ เมื่อเวลาเจอคำถามที่ดูเหมือนจะมีคำตอบหลายๆ ข้อ

        ทั้ง 10 ข้อที่กล่าวมาข้างต้น เป็นวิธีการหนึ่งที่ผมใช้เป็นหลักในการอ่านและจดจำเกี่ยวกับ กฎ ระเบียบ และหลักเกณฑ์ ต่างๆ นะครับ ซึ่งหลายๆ ท่านอาจจะมีเทคนิควิธีการที่แตกต่างกันออกไป ก็สามารถนำมาแลกเปลี่ยน แบ่งปันกันได้นะครับ ครูบ้านนอกดอทคอม หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้ที่จะก้าวเข้ามาเป็นครูในอนาคต จะเป็นผู้ที่รู้รอบ และรอบรู้ในกฎ ระเบียบ หลักเกณฑ์ ต่างๆ เพื่อเป็นกรอบและแนวทางในการประกอบวิชาชีพ ซึ่งสามารถฟันธงได้เลยว่า ต้องเกิดจากการอ่านนะครับ เพราะถึงแม้ว่าเราจะไปฟังผู้รู้ หรือคนอื่นๆ พูดมา เราก็ควรที่จะจับมาอ่านให้เห็นด้วยตาตนเองสักครั้งหนึ่งก็ยังดีนะครับ

ขอให้ทุกท่านโชคดีนะครับ
อยากให้ชาตินี้เป็นชาติสุดท้ายของเรา