• Welcome to ชมรมนิติกรองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น:เว็บไซท์อันดับ๑ของวงการท้องถิ่น.
Main Menu

ตอนที่ 10 ช่วงตอบคำถามการเตรียมสอบท้องถิ่น

เริ่มโดย admin, 02-09-2020, 09:38:41

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

admin

ช่วงตอบคำถามการเตรียมสอบท้องถิ่น



อีกไม่นาน ก็คงจะเข้าสู่ฤดูกาลการสอบท้องถิ่น ในระดับภาคแล้ว ถึงแม้จะมีการสอบในจังหวัดต่างๆ อยู่เรื่อยๆ นั้น ก็จะส่งผลให้อัตรากำลังที่ว่างอยู่นั่น ลดน้อยลงไปเรื่อยๆ เช่นเดียวกัน หนทางเดียวที่คนธรรมดาอย่างเราๆ เฝ้ารอและรอคอย คือ กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องเร่งดำเนินการเปิดสอบเองให้เร็วที่สุด

ท่ามกลางการเปิดสอบโดย อบต. และเทศบาล ที่ผ่านมานั้น
กลับไม่ได้เรียกกระแสความศรัทธาในระบบการสอบเข้ารับราชการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กลับคืนมาได้เลย กลับยิ่งตอกย้ำ ซ้ำเติมในปัญหาและในเรื่องเดิมๆ ไม่ว่าจะเป็นมาตรฐานของข้อสอบ (ที่ออกไม่ตรงตามประกาศรับสมัคร)

แต่ผู้เขียนยังคงเชื่อและศรัทธาในระบบการสอบเข้ารับราชการอยู่ ผู้เขียนยังคงเชื่อว่า "องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ดำเนินการจัดสอบเองนั้น ยังมีความโปร่งใส และสุจริตอยู่" จะเห็นได้จากสมาชิกชุมชนคนท้องถิ่นหลายๆท่าน ก็สอบเข้ารับราชการในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ ก็มาจากสนามสอบในระดับ อบต./เทศบาล นี่ล่ะครับ

เพราะถ้ามองในแง่ดี สาเหตุที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตัดสินใจเปิดสอบเองนั้น ก็เพื่อต้องการคนที่มีความสามารถ มีความรู้เหมาะสมที่จะเข้ามาทำงานรับใช้ประชาชน และอีกสาเหตุหนึ่งคือ "คนพื้นที่" ในข้อนี้ ในแต่ละองค์กรก็ต้องการ "คนพื้นที่" เข้ามาทำงาน เพราะใช้เวลาปรับตัวในการทำงานน้อย และการโอนย้ายสับเปลี่ยนบุคลากรก็จะไม่เกิดขึ้น การทำงานพัฒนาพื้นที่ตามนโยบายก็จะต่อเนื่อง อีกทั้ง "คนพื้นที่" ทุกคนต่างก็ต้องการทำงาน พัฒนาบ้านของตัวเองทั้งนั้น

เกริ่นไปไกล ขอกลับมาพูดถึงการเตรียมตัวสอบเข้ารับราชการในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เนื่องจากมีระเบียบการสอบแข่งขันใหม่ ประกอบกับสมาชิกบางท่าน ยังไม่เคยสอบในระดับท้องถิ่นมาก่อน หรือ เคยสอบตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 - 2551 อยากจะบอกว่าตอนนี้หลักเกณฑ์ในการสอบแข่งขันเปลี่ยนแปลงไปแล้วนะครับ

ดังนั้น เพื่อทำความเข้าใจ และไขข้อสงสัยของสมาชิกชุมชนคนท้องถิ่น
ผมจึงพยายามรวบรวม คำถามที่สมาชิกสอบถามกันมา ไม่ว่าจะเป็นทาง PM หรือทาง fanpage ดังนี้

Q : สอบท้องถิ่น ต้องมีใบสอบผ่านภาค ก ก่อนหรือไม่ ?
A : ไม่ต้องมีใบสอบผ่านภาค ก เนื่องจากการสอบแข่งขันเพื่อเข้ารับราชการในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในครั้งนี้ และจากนี้ไป "ทุกคนจะต้องเข้าสอบในภาค ก ทุกคน (ทุกสนาม)" ครับ

Q : มีใบรับรองการสอบผ่านภาค ก ของ ก.พ. นำมาใช้สอบของท้องถิ่นได้ไหม ?
A : ไม่ได้ครับ

Q : ต้องเรียนจบอะไรมา ถึงจะเป็นข้าราชการท้องถิ่นได้ ?
A : ข้าราชการส่วนท้องถิ่น จะมีวุฒิ ปวช. / ปวส. / ปริญญาตรี ซึ่งในแต่ละตำแหน่งนั้น จะมีมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า จะทำงานในตำแหน่งนี้ ต้องใช้วุฒิการศึกษาใด ดังนั้นต้องศึกษาและดูได้จาก "มาตรฐานกำหนดตำแหน่ง"

Q : การสอบที่กรมฯ จะเปิดสอบนั้น เป็นแบบรายภาค คืออะไร ?
A : ขออ้างถึงประกาศคณะกรรมการกลางพนักงานเทศบาลเรื่อง มาตรฐานทั่วไปเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการคัดเลือกโดยการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเป็นข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัด / พนักงานเทศบาล /พนักงานส่วนตำบล
   ในกรณีคณะกรรมการกลางการสอบแข่งขันพนักงานส่วนท้องถิ่นเป็นหน่วยดำเนินการสอบแข่งขัน ให้จังหวัดที่เป็นศูนย์อำนวยการสอบแข่งขันในแต่ละภาค/เขตเป็นเจ้าของบัญชีผู้สอบแข่งได้ สำหรับการแบ่งภาค/เขตในการสอบแข่งขันให้เป็นไปตามประกาศกำหนด
     ณ ตอนนี้หลายๆท่าน คงเฝ้ารอการสอบแบบแบ่งภาค/เขต ตามหลักเกณฑ์ฯ บัญชีผู้สอบแข่งขันได้ของคณะกรรมการกลางการสอบแข่งขันพนักงานส่วนท้องถิ่น (กสถ.) ประกอบด้วยจังหวัดในกลุ่มภาค/เขต เช่น
ภาคกลางเขต ๑ ได้แก่
1.จังหวัดชัยนาท ๒.จังหวัดนนทบุรี ๓.จังหวัดปทุมธานี ๔.จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ๕.จังหวัดลพบุรี ๖.จังหวัดสระบุรี ๗.จังหวัดสิงห์บุรี ๘.จังหวัดอ่างทอง
อ่านทั้งหมด http://www.thailocalmeet.com/index.php/topic,45021.0.html

Q : การสอบของ ก.พ. กับการสอบของท้องถิ่น อันเดียวกันใช่ไหม ?
A : ขออธิบายดังนี้ การสอบของ ก.พ. หรือเรียกเต็มๆว่า "คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน" ซึ่งแต่ละปีจะเปิดรับสมัครบุคคลทั่วไปเข้าสอบแข่งขันเพื่อแต่งตั้งเป็นข้าราชการพลเรือน ในกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ โดยที่ผ่านมาจะมีการสอบ ภาค ก ภาค ข และ ภาค ค ซึ่งโดยปกติแล้ว การสอบภาค ก นั้น ก.พ. จะเป็นผู้ดำเนินการจัดสอบเอง เมื่อผู้ที่สามารถสอบผ่านในภาค ก จะมี "ใบรับรองการสอบผ่านภาค ก ของ ก.พ."
จากนั้นผู้ที่มีใบรับรองการสอบผ่านภาค ก ของ ก.พ. จะสามารถสมัครสอบแข่งขันเพื่อเข้ารับราชการ (การสอบภาค ข และ ค) ตามที่กระทรวง/กรม เปิดรับสมัครได้ * ทั้งนี้ใบรับรองการสอบผ่านภาค ก ของ ก.พ. ไม่สามารถนำมาใช้ในการสมัครสอบเข้ารับราชการของท้องถิ่น
ส่วนการสอบแข่งขันเพื่อเข้ารับราชการในองค์ปกครองส่วนท้องถิ่น (อบจ./เทศบาล/อบต.) นั้น ก็แบ่งออกเป็นการสอบภาค ก ภาค ข และภาค ค โดยจะมีอยู่ด้วยกัน 2 กรณี ดังนี้ ในกรณีอบจ./เทศบาล/อบต.เป็นหน่วยดำเนินการสอบแข่งขัน ให้อบจ./เทศบาล/อบต.เป็นเจ้าของบัญชี หมายถึง เทศบาลอื่นๆ หรือ อบต.อื่นๆ ไม่สามารถขอใช้บัญชีผู้สอบแข่งขันได้ การขึ้นบัญชีและใช้บัญชีจะใช้ได้เฉพาะหน่วยงานที่จัดสอบเท่านั้น และในกรณีคณะกรรมการกลางการสอบแข่งขันพนักงานส่วนท้องถิ่นเป็นหน่วยดำเนินการสอบแข่งขัน ให้จังหวัดที่เป็นศูนย์อำนวยการสอบแข่งขันในแต่ละภาค/เขตเป็นเจ้าของบัญชีผู้สอบแข่งได้ สำหรับการแบ่งภาค/เขตในการสอบแข่งขันให้เป็นไปตามประกาศกำหนด
โดยทั้ง 2 กรณีข้างต้น ทุกคนที่สมัครสอบจะเข้าสอบในภาค ก ทุกคน (ทุกสนาม)


Q : อยากรู้กลุ่มจังหวัดที่อยู่ในภาคเหนือที่จะเปิดสอบเป็นรายภาค
A : ตามระเบียบสอบใหม่ ได้แบ่งกลุ่มจังหวัด ออกเป็นรายภาคต่างๆ ในส่วนของภาคเหนือ คือ
ภาคเหนือเขต ๑ ได้แก่
๑.จังหวัดชียงราย ๒.จังหวัดเชียงใหม่ ๓.จังหวัดน่าน ๔.จังหวัดพะเยา ๕.จังหวัดแพร่ ๖.จังหวัดแม่ฮ่องสอน ๗.จังหวัดลำปาง ๘.จังหวัดลำพูน
ภาคเหนือเขต ๒ ได้แก่
๑.จังหวัดกำแพงเพชร ๒.จังหวัดตาก ๓.จังหวัดนครสวรรค์ ๔.จังหวัดพิจิตร ๕.จังหวัดพิษณุโลก ๖.จังหวัดเพชรบูรณ์ ๗.จังหวัดสุโขทัย ๘.จังหวัดอุตรดิตถ์ ๙.จังหวัดอุทัยธานี
ในส่วนของจังหวัดอื่นๆ ดูได้ที่ http://www.thailocalmeet.com/index.php/topic,45021.0.html

Q : ภาค ก จะออกสอบอะไรบ้าง ?
A : ภาค ก. ?
        เมื่อสนใจและต้องการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุเข้ารับราชการ เริ่มแรกจะต้องสอบ ภาค ก. หรือมีชื่อเต็มอย่างเป็นทางการว่า "ภาคความรู้ความสามารถทั่วไป" การสอบจะกำหนดคะแนนเต็มไว้ที่ 100 คะแนน
โดยจะทดสอบด้วย "ข้อสอบปรนัย" (ข้อสอบแบบมีตัวเลือก) โดยหน่วยดำเนินการสอบจะคำนึงถึงระดับความรู้ความสามารถที่ต้องการตามระดับตำแหน่ง ซึ่งจะแบ่งเนื้อหาขอบเขตของข้อสอบ ภาค ก. ได้ดังนี้
      (๑) วิชาสามารถในการศึกษา วิเคราะห์และสรุปเหตุผล กำหนดคะแนนเต็ม ๒๕ คะแนน
จะทดสอบความสามารถในการศึกษา วิเคราะห์และสรุปเหตุผล โดยการให้สรุปความหรือจับประเด็นในข้อความหรือเรื่องราว หรือให้วิเคราะห์เหตุการณ์หรือสรุปเหตุผลทางการเมือง เศรษฐกิจ หรือสังคม หรือให้หาแนวโน้มหรือความเปลี่ยนแปลงที่น่าจะเป็นไปตามข้อมูลหรือสมมุติฐาน
จากการสอบในอดีตที่ผ่านมา ในส่วนนี้จะต้องใช้ความรู้ทางด้านคณิตศาสตร์ ข้อสอบเคยออกถึง "การหาค่าของเลขอนุกรม , การหาร้อยละ , โจทย์เงื่อนไขทางคณิตศาสตร์ , การอ่านค่าจากตาราง กราฟ แผนภูมิ"
      (๒) วิชาภาษาไทย กำหนดคะแนนเต็ม ๒๕ คะแนน
จะทดสอบความรู้ความสามารถในการใช้ภาษาไทย โดยการให้สรุปความและหรือตีความจากข้อความสั้นๆ หรือบทความและให้พิจารณาเลือกใช้ภาษาในรูปแบบต่างๆจากคำหรือกลุ่มคำประโยคหรือข้อความสั้นๆ
จากการสอบในอดีตที่ผ่านมา ในส่วนนี้จะต้องใช้ความรู้ทางด้านภาษาไทย ข้อสอบเคยออกถึง "อุปมา อุปไมย , เงื่อนไขทางภาษา , การเรียงประโยค , การเติมคำ , การตีความจากบทความยาว , คำราชาศัพท์ , สำนวน สุภาษิตไทย"
      (๓) วิชาความรู้พื้นฐานในการปฏิบัติราชการ กำหนดคะแนนเต็ม ๕๐ คะแนน
จะทดสอบความรู้เกี่ยวกับกฎหมายระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน กฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งและอำนาจหน้าที่ของ องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล ระเบียบงานสารบรรณ และการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี
จากการสอบในอดีตที่ผ่านมา ในส่วนนี้จะต้องใช้ความรู้ทางด้านกฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้องกับท้องถิ่น "โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญ หมวดที่ 14 ว่าด้วยการปกครองท้องถิ่น , พระราชบัญญัติ อบจ./เทศบาล/อบต."

ภาค ข. ?
     หลังจากการสอบภาค ก. เราก็ต้องมาสอบภาค ข. (ภาคความสามารถเฉพาะตำแหน่ง) ว่าง่ายๆ ก็คือความรู้ความเข้าใจในตำแหน่งที่เราสมัครสอบ (เหมือนกับเวลาเราไปสมัครงานบริษัทเอกชน เราก็ต้องรู้ใช่ไหมว่าตำแหน่งที่เราสมัครต้องทำหน้าที่อะไรบ้าง ซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้องรู้ *งานราชการก็เช่นกัน)
     ซึ่งภาคความรู้ความสามารถเฉพาะสำหรับตำแหน่ง(ภาค ข) กำหนดคะแนนเต็มไว้ที่ ๑๐๐ คะแนน
โดยจะทดสอบความรู้ความสามารถในทางที่จะใช้ในการปฏิบัติงานในหน้าที่โดยเฉพาะตามที่ระบุไว้ในมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง โดยวิธีการสอบข้อเขียนหรือวิธีสอบปฏิบัติ หรือวิธีอื่นใดวิธีหนึ่งหรือหลายวิธีก็ได้ตามความเหมาะสม แต่ทั้งนี้จะรวมสอบเป็นวิชาเดียวหรืออย่างเดียว หรือแยกสอบเป็นสองวิชาหรือสองอย่าง แต่เมื่อรวมคะแนนทุกแบบทดสอบแล้วต้องมีคะแนนเต็ม ๑๐๐ คะแนน โดยเมื่อจะทดสอบความรู้ความสามารถในทางใดและโดยวิธีใด หน่วยดำเนินการสอบจะระบุไว้ในประกาศรับสมัครสอบด้วย

     ยกตัวอย่างเช่น ถ้าสมัครตำแหน่งเจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป ก็ต้องเตรียมอ่านแล้วว่า ตำแหน่งนี้ทำหน้าที่อะไร รับผิดชอบอะไรบ้าง พรบ.หรือข้อกฎหมายที่เราควรทราบ อย่างเช่น  งานพัสดุ งานสารบรรณ งานเลขานุการ งานบริหารบุคคล เป็นต้น สามารถศึกษาหน้าที่และลักษณะงานของแต่ละตำแหน่งของท้องถิ่นได้ตาม "มาตรฐานกำหนดตำแหน่ง ของ อบจ./เทศบาล/อบต." (http://local.chiangmai.go.th/noui/math/) และที่สำคัญต้องสังเกตในส่วนท้ายของประกาศการรับสมัครสอบด้วยว่า "ขอบเขตเนื้อหาในการสอบตำแหน่งนั้นๆ จะออกเนื้อหาในส่วนใดบ้าง" ซึ่งส่วนใหญ่ที่ผ่านมาหน่วยดำเนินการสอบจะระบุแจ้งไว้อย่างชัดเจน

ภาค ค. ?
    ภาค ค. (ภาคความเหมาะสมเฉพาะตำแหน่ง) ก็คือ "การสอบสัมภาษณ์" นั่นเอง ซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้าย
ซึ่งภาคความเหมาะสมกับตำแหน่ง (ภาค ค) กำหนดคะแนนเต็มไว้ที่ ๑๐๐ คะแนน โดยจะประเมินบุคคลเพื่อพิจารณาความเหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่จากประวัติส่วนตัว ประวัติการศึกษา ประวัติการทำงานและพฤติกรรมที่ปรากฏทางอื่นของผู้เข้าสอบ "จากการสัมภาษณ์" ทั้งนี้หน่วยดำเนินการสอบอาจใช้วิธีการอื่นใดเพิ่มเติมอีกก็ได้ เพื่อพิจารณาความเหมาะสมในด้านต่างๆ เช่น ความรู้ที่อาจใช้ประโยชน์ในการปฏิบัติงานในหน้าที่ ความสามารถ ประสบการณ์ ท่วงทีวาจา อุปนิสัย อารมณ์ ทัศนคติ จริยธรรมและคุณธรรม การปรับตัวเข้ากับผู้ร่วมงาน รวมทั้งสังคมและสิ่งแวดล้อม ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ปฏิภาณไหวพริบ และบุคลิกภาพอย่างอื่น เป็นต้น

Q : อยากสอบทำงานใน อบต. แถวบ้าน แต่ยังไม่รู้เรื่องของท้องถิ่นเลย ควรทำยังไง ?
A : แนะนำให้อ่านรัฐธรรมนูญ หมวด 14 การปกครองส่วนท้องถิ่น , พรบ.บริหารราชการแผ่นดิน , พรบ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, พรบ.อบต. ฯลฯ

Q : อบต. ตัดหน้ากรมฯ เปิดสอบเอง ไม่ควรไปสอบใช่ไหม ?
A : การที่ อบต. ดำเนินการเปิดสอบแข่งขันเองนั้น ก็เป็นการปฏิบัติตามระเบียบฯ ที่ อบต. สามารถพึงกระทำได้ แต่หากจะถามว่าโปร่งใสหรือไม่นั้น ผมก็ต้องตอบว่า "โปร่งใส" แต่หากจะถามว่ามีมาตรฐานเทียบเท่าที่กรมฯเปิดสอบหรือไม่นั้น ผมเองก็คงลังเลที่จะตอบคำถามในข้อนี้ แต่ผมยังเชื่อมั่นในระบบการสอบอยู่เสมอ
มองในแง่ดี การได้ไปสอบ ก็จะได้มีประสบการณ์กับข้อสอบ ได้มีโอกาสสัมผัสกับบรรยากาศการสอบแข่งขันของท้องถิ่นครับ ดังนั้น ถ้าไม่ติดภารกิจใดๆ แนะนำให้ไปลองสอบ เอาประสบการณ์ดีกว่าครับ

Q : ในท้องถิ่นมีข้าราชการตำแหน่งอะไรบ้าง ?
A :    ตำแหน่งใน อบจ. ดูได้ที่ http://www.thailocalmeet.com/index.php/board,46.0.html
   ตำแหน่งใน เทศบาล ดูได้ที่ http://www.thailocalmeet.com/index.php/board,45.0.html
   ตำแหน่งใน อบต. ดูได้ที่ http://www.thailocalmeet.com/index.php/board,44.0.html

Q : อบจ. เทศบาล อบต. คืออะไร ทำหน้าที่อะไรบ้าง ?
A : แนะนำให้อ่านทั้งหมดได้ใน กระทู้เอกสารเกี่ยวกับ "การปกครองท้องถิ่นไทย" ความรู้ความเข้าใจในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบต่างๆhttp://www.thailocalmeet.com/index.php/topic,21327.0.html

Q : เงินเดือนของข้าราชการท้องถิ่น ซี 2 และซี3  ได้เท่าไร ?
A : ระดับ 2 (ซี2) เงินเดือนรวมค่าต่างๆแล้วจะได้ 9,170 บาท
ระดับ 3 (ซี3) เงินเดือนรวมค่าต่างๆแล้วจะได้ 15,000 บาท

Q : ที่เปิดสอบเป็นระดับ 1 2 3 4 นี่คืออะไร
A : ในปัจจุบันองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ใช้ระบบซี (มาจาก Common Level) ใช้ระบบระดับ
เมื่อเริ่มบรรจุใช้วุฒิ ปวช. สอบเข้ามา จะได้รับแต่งตั้งเป็นระดับ 1 คือ ซี 1
เมื่อเริ่มบรรจุใช้วุฒิ ปวส. สอบเข้ามา จะได้รับแต่งตั้งเป็นระดับ 2 คือ ซี 2
เมื่อเริ่มบรรจุใช้วุฒิ ปริญญาตรี สอบเข้ามา จะได้รับแต่งตั้งเป็นระดับ 3 คือ ซี 3
เมื่อเริ่มบรรจุใช้วุฒิ ปริญญาโท สอบเข้ามา จะได้รับแต่งตั้งเป็นระดับ 4 คือ ซี 4
* ทุกตำแหน่งหลังจากสอบบรรจุได้แล้ว สามารถเลื่อนระดับให้สูงขึ้นได้ จะพิจารณาจากอายุราชการและคุณวุฒิ

Q : ในการสอบแข่งขันนั้น จะสอบเฉพาะภาค ก หรือภาค ข ได้หรือไม่
A : ตามหลักเกณฑ์การสอบใหม่นั้น ทุกๆคน ที่สมัครสอบแข่งขันเพื่อบรรจุเข้ารับราชการในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้อง "เข้าสอบในภาค ก ทุกคน" จากนั้นถึงจะสอบในภาค ข ต่อไปได้ ซึ่งในสนามสอบส่วนใหญ่ที่ผ่านมา จะจัดให้มีการสอบภาค ก ในช่วงเช้า ส่วนภาค ข จะสอบในช่วงบ่าย หลังจากนั้นคณะกรรมการที่จัดการสอบจะตรวจข้อสอบ หากทั้ง 2 ภาค (ก,ข) ผ่าน 60 % ก็จะมีสิทธิสอบสัมภาษณ์ในภาค ค ต่อไป
อยากให้ชาตินี้เป็นชาติสุดท้ายของเรา