• Welcome to ชมรมนิติกรองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น:เว็บไซท์อันดับ๑ของวงการท้องถิ่น.
Main Menu

ตอนที่ 04 หลักการอ่านหนังสือเตรียมสอบ ภาค ก

เริ่มโดย admin, 02-09-2020, 09:31:48

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

admin

เตรียมสอบท้องถิ่น ตอนที่ 4
หลักการอ่านหนังสือเตรียมสอบ ภาค ก (ท้องถิ่น)

เนื้อหาที่จะมีในการสอบภาคความรู้ความสามารถทั่วไป (ภาค ก) ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้อ่านควรกำหนดอ่านหนังสือให้ครอบคลุมเนื้อหา ดังนี้
     (1) วิชาสามารถในการศึกษา วิเคราะห์และสรุปเหตุผล มีคะแนนเต็ม 25 คะแนน
   จะทดสอบความสามารถในการศึกษา วิเคราะห์และสรุปเหตุผล โดยการให้สรุปความหรือจับประเด็นในข้อความหรือเรื่องราว หรือให้วิเคราะห์เหตุการณ์หรือสรุปเหตุผลทางการเมือง เศรษฐกิจ หรือสังคม หรือให้หาแนวโน้มหรือความเปลี่ยนแปลงที่น่าจะเป็นไปตามข้อมูลหรือสมมุติฐาน
   จากการสอบในอดีตที่ผ่านมา ในส่วนนี้จะต้องใช้ความรู้ทางด้านคณิตศาสตร์ ข้อสอบเคยออกถึง "การหาค่าของเลขอนุกรม , การหาร้อยละ , โจทย์เงื่อนไขทางคณิตศาสตร์ , การอ่านค่าจากตาราง กราฟ แผนภูมิ"
     (2) วิชาภาษาไทย มีคะแนนเต็ม 25 คะแนน
   จะทดสอบความรู้ความสามารถในการใช้ภาษาไทย โดยการให้สรุปความและหรือตีความจากข้อความสั้นๆ หรือบทความและให้พิจารณาเลือกใช้ภาษาในรูปแบบต่างๆจากคำหรือกลุ่มคำประโยคหรือข้อความสั้นๆ
   จากการสอบในอดีตที่ผ่านมา ในส่วนนี้จะต้องใช้ความรู้ทางด้านภาษาไทย ข้อสอบเคยออกถึง "อุปมา อุปไมย , เงื่อนไขทางภาษา , การเรียงประโยค , การเติมคำ , การตีความจากบทความยาว , คำราชาศัพท์ , สำนวน สุภาษิตไทย"
     (3) วิชาความรู้พื้นฐานในการปฏิบัติราชการ มีคะแนนเต็ม 50 คะแนน
   จะทดสอบความรู้เกี่ยวกับกฎหมายระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน กฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งและอำนาจหน้าที่ของ องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล ระเบียบงานสารบรรณ และการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี
   จากการสอบในอดีตที่ผ่านมา ในส่วนนี้จะต้องใช้ความรู้ทางด้านกฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้องกับท้องถิ่น "โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญ หมวดที่ 14 ว่าด้วยการปกครองท้องถิ่น , พระราชบัญญัติ อบจ./เทศบาล/อบต."

    จากนี้ จะขอแนะนำหลักการอ่านหนังสือเพื่อเตรียมสอบ ไม่ว่าจะเป็น ภาค ก หรือ ภาค ข ก็สามารถนำข้อหลักการ 9 ข้อนี้ ไปประยุกต์ใช้ในการอ่านหนังสือของท่านได้ ดังนี้



1. ทำตารางการอ่านหนังสือ
   ผู้อ่านควรทำตารางการอ่านหนังสือทุกวันโดยให้ครอบคลุมเนื้อหาของการสอบในภาค ก ทั้งหมด  เพื่อเป็นการตั้งเป้าหมายและหัวข้อในการอ่านหนังสือ ทั้งนี้ควรอ่านเรียงกันไปทีละหัวข้อ เช่น อ่านหัวข้อ "เลขอนุกรม" อ่านจบก็ติ๊กเครื่องหมายว่าอ่านแล้ว พอวันต่อไปก็อ่านหัวข้อถัดไป ทำอย่างนี้จนครบทุกหัวข้อ จะถือว่าครบ 1 รอบ เมื่ออ่านครบ 1 รอบก็ให้รางวัลกับตัวเองเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจในการอ่านหนังสือรอบต่อไป จากนั้นก็อ่านหนังสือเรียงหัวข้อไปเรื่อยๆ หลายๆรอบ จนกว่าจะถึงวันสอบ หากทำแบบนี้แล้วรับรองจำเนื้อหาได้ขึ้นใจ


2. ตำราหนังสือข้อสอบเก่า(อาจารย์ชั้นดี)
   ผู้อ่านควรหาหนังสือที่น่าเชื่อถือและเป็นที่ยอมรับ หนังสือที่ดีจะต้องอธิบายหลักการได้ชัดเจนและถูกต้อง และมีแนวข้อสอบเก่าที่มีเฉลยคำตอบและอธิบายหลักการหาคำตอบให้ด้วย เคล็ดลับสำหรับการเลือกซื้อหนังสือ ลองหยิบหนังสือขึ้นมา เปิดอ่านดู หากเราอ่านแล้วเริ่มจะเข้าใจก็ซื้อได้เลย หากเปิดอ่านดูแล้วงงๆ ก็วางแล้วลองเลือกดูเล่มใหม่ และควรเลือกหนังสือที่เขียนโดยสถาบันหรือสำนักพิมพ์ที่เชื่อถือได้ (ช่วงนี้มีหนังสือที่ข้าราชการของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นรวมกลุ่มกัน รวบรวมเนื้อหาจัดทำเป็นหนังสือเตรียมสอบท้องถิ่นโดยเฉพาะ ลองๆหาดูในร้านหนังสือชั้นนำทั่วไปนะครับ) พยายามหาหนังสือเตรียมสอบเล่มที่เราเข้าใจและเหมาะกับเรามากที่สุด เพราะหนังสือนี้จะอยู่กับเราไปอีกนาน
   สิ่งที่ผู้อ่านหนังสือเตรียมสอบฯ จะต้องมี คือ 3 สิ่ง ดังต่อไปนี้ 1. หนังสืออธิบายความหมาย-หลักการ (หนังสือเตรียมสอบ) 2. เอกสาร/หนังสือสรุปใจความสำคัญ (ที่ทำขึ้นเองหรือดาวน์โหลดในเว็บไซต์) 3.แนวข้อสอบ/ข้อสอบเก่า (ซื้อมาเองหรือดาวน์โหลดในเว็บไซต์)

3. สื่อสารสนเทศ
   ในระหว่างการอ่านหนังสือ ส่วนใหญ่จะเกิดอาการง่วงและเบื่อหน่ายการอ่านหนังสือ ทางออกที่ดีที่สุด คือ เปิดดูวีดีโอติวการสอบ หรือ ฟังเสียงบรรยายการสอบ ควบคู่ไปกับการอ่านหนังสือ วิธีนี้จะทำให้ผู้อ่านสามารถเข้าใจในเนื้อหาได้ดียิ่งขึ้น และทำให้การอ่านหนังสือมีสีสันมากขึ้น ผู้อ่านจะได้รับฟังและอ่านหนังสือไปพร้อมๆกัน เนื่องจากบางครั้งการอ่านหนังสือเอง เราอาจจะไม่เข้าใจ จากการเปิดดูวิดีโอติวการสอบ จะทำให้เราได้เคล็ดลับในการจดจำเนื้อหาจากอาจารย์ผู้สอนได้


4. Mind map
   แผนที่ความคิด ในการอ่านทุกๆหัวข้อ ผู้อ่านจะต้องจินตนาการก่อให้เกิดแผนที่ความคิด (Mind map) ให้ได้ ผู้อ่านจะต้องสามารถถ่ายทอดความรู้ที่ได้จากการอ่านออกมาเป็นแผนผังที่มีลักษณะเกี่ยวโยงกันได้
   เช่น พรบ. เทศบาล ผู้อ่านจะต้องสามารถถ่ายทอดออกมาเป็นแผนผังได้ว่า ประกาศใช้เมื่อใด? แบ่งเทศบาลออกเป็นกี่ประเภท? เทศบาลแต่ละประเภทมีอะไรบ้าง? ฝ่ายบริหารเทศบาลคือ? ฝ่ายนิติบัญญัติเทศบาลคือ?
   หากผู้อ่านสามารถถ่ายทอดความรู้ที่ได้จากการอ่านออกมาเป็นแผนผังที่มีลักษณะเกี่ยวโยงกันได้แล้ว ประมาณว่า "หลับตานึกแล้วเห็นภาพเลย" ตอนอยู่ในห้องสอบผู้อ่านจะสามารถทำข้อสอบได้อย่างฉลุย


5. กำลังใจ เป้าหมายในชีวิต
   เป็นสิ่งสำคัญในการอ่านหนังสือ ผู้อ่านจะต้องหมั่นสร้างกำลังใจให้กับตนเอง และต้องกำหนดจุดเป้าหมายในชีวิตไว้ ผู้อ่านจะต้องทำให้ได้ ทำให้สำเร็จ  "กำลังใจ" สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ผู้อ่านทุกคนหาและสร้างขึ้นเองได้ แหล่งที่มาของกำลังใจ อาจจะสร้างขึ้นเองหรือหาได้จากคนรอบข้าาง ที่แน่ๆสามารถหาได้ในชุมชนคนท้องถิ่น ในระหว่างการอ่านหนังสือต้องคอยเติมและเพิ่มกำลังใจสม่ำเสมอ อย่าให้กำลังใจหมดไป อย่าได้ท้อแท้ คนที่ประสบความสำเร็จในการสอบ ทุกคนต่างก็ต้องผ่านการอ่านหนังสือมามากๆ เช่นกัน

6. ตั้งใจแบ่งเวลา
   "เวลา" เป็นสิ่งสำคัญอีกประเด็นหนึ่ง แต่ด้วยเนื่องจากผู้อ่านส่วนใหญ่จะต้องทำงานประจำ ดังนั้นในแต่ละวัน ควรจัดสรรแบ่งเวลาให้กับการอ่านหนังสืออย่างน้อย 2-3 ชั่วโมงต่อวัน เช่น วันจันทร์ถึงวันศุกร์ กำหนดอ่านหนังสือตั้งแต่เวลา 18.00 น. จนถึง 21.00 น.  ส่วนวันเสาร์-วันอาทิตย์ อาจจะอ่านเต็มวัน (ช่วงเช้า 1 วิชา ช่วงบ่าย 1 วิชา) เป็นต้น
   ในเมื่อมีหนังสือแล้ว อย่าปล่อยวางไว้เฉยๆ จะต้องหมั่นเปิดอ่าน เพื่อทำความเข้าใจในเนื้อหาอยู่สม่ำเสมอ และท่องไว้เสมอว่า "อย่าผัดวันประกันพรุ่ง" ต้องสามารถวินัยในการอ่านหนังสือของตนเอง

7. หาข้อด้อย เสริมจุดเด่น
   ในระหว่างการอ่านหนังสือสอบ ผู้อ่านต้องพิจารณาข้อด้อยและข้อเด่นของตัวเอง ว่ามีปัญหาในหัวข้อเนื้อหาการสอบวิชาใด จากนั้นต้องมาอ่านเสริมทำความเข้าใจเพิ่มเติม หากยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อีก ก็ต้องพึ่งพาผู้รู้จากการสอบถามเพื่อให้ตัวเองเข้าใจ เช่น ผู้อ่านมีปัญหาในการอ่านค่าจากตารางและการคิดร้อยละ ในส่วนนี้มีออกอยู่ในข้อสอบแน่นอน ดังนั้นหากไม่อยากสูญเสียคะแนนตรงนี้ไป ผู้อ่านต้องพยายามศึกษาทำความเข้าใจการอ่านค่าจากตารางและการคิดร้อยละให้ได้

8. อย่าภวังค์กับวันสอบ
   ขอให้ผู้อ่านใช้เวลาทุกวันให้มีค่า ตั้งใจอ่านหนังสือ และหมั่นทบทวนทำข้อสอบเก่า ขอให้ถามตัวเองว่าพร้อมหรือยัง? คุณพร้อมที่จะสอบแข่งขันกับคนอื่นๆหรือยัง? คุณมีดีอะไรที่จะสอบแข่งขันได้หรือไม่? ถ้ายังไม่สามารถตอบคำถามเหล่านี้ได้ ก็ขยันอ่านหนังสือให้มากขึ้น และอ่านหนังสือต่อไป
และอย่ากังวลใจว่า "จะเปิดสอบเมื่อไร" เพราะจะทำให้ผู้อ่านไม่มีสมาธิ ขอให้ตั้งเป้าหมายไว้กับการอ่านหนังสือแต่เพียงอย่างเดียว

9. ชุมชนคนท้องถิ่น
   ผู้อ่านสามารถหาความรู้ หากำลังใจ และข่าวสารการสอบต่างๆ ได้ที่ชุมชนคนท้องถิ่นแห่งนี้ เพื่อนๆสมาชิกทุกคนยินดีที่จะแบ่งบันสิ่งดีๆให้แก่กัน ขอเพียงท่านผู้อ่านตั้งใจจริง เราก็พร้อมเดินเคียงข้างไปกับท่านเสมอครับ
อยากให้ชาตินี้เป็นชาติสุดท้ายของเรา