• Welcome to ชมรมนิติกรองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น:เว็บไซท์อันดับ๑ของวงการท้องถิ่น.
Main Menu

ทัศนะต่อบทบาทของนิติกรในการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

เริ่มโดย admin, 15-05-2018, 03:46:11

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

admin

ทัศนะต่อบทบาทของนิติกรในการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
โดย  Phachern Thammasarangkoon
https://www.gotoknow.org/posts/582503

ทัศนะต่อบทบาทของนิติกรในการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ทัศนะต่อบทบาทของนิติกรในการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

๑๒ ธันวาคม ๒๕๕๗

นิติกรในฐานะบุคลากรที่รู้ระเบียบกฎหมายของส่วนราชการต่าง ๆ น่าจะมีบทบาทอย่างสำคัญในการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน โดยเฉพาะในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในที่นี้เราลองมาทบทวนดูบทบาทอำนาจหน้าที่ของนิติกรว่า จะมีบทบาทในการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน ได้อย่างไรบ้าง [1]

ลำดับหัวข้อพิจารณาเริ่มจาก (๑) บทบาทอำนาจหน้าที่ของนิติกรจากมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง (๒) ลักษณะของการทุจริตคอร์รัปชันใน อปท. (๓) ทัศนะต่อการทุจริตคอร์รัปชันใน อปท. (๔) บทบาทของนิติกรของ อปท.ที่มีส่วนร่วมในการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชัน (๕) ปัญหาและอุปสรรคในการป้องกันการทุจริต ในบทบาทนิติกร อปท. และ (๖) สาเหตุที่หน่วยงานราชการทำผิดกฎหมายและแพ้คดีปกครองจำนวนมาก ดังนี้

(๑) บทบาทอำนาจหน้าที่ของนิติกรจากมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง

(๑.๑) มาตรฐานกำหนดตำแหน่งในราชการพลเรือนโดยทั่ว ๆ ไป [2] ดังนี้

ตำแหน่งประเภท วิชาการ

ชื่อสายงาน นิติการ

ชื่อตำแหน่งในสายงาน นิติกร

ระดับตำแหน่ง ปฏิบัติการ

หน้าที่ความรับผิดชอบหลัก

ปฏิบัติงานในฐานะผู้ปฏิบัติงานระดับต้น ที่ต้องใช้ความรู้ ความสามารถทางวิชาการในการทำงาน ปฏิบัติงานด้านนิติการ ภายใต้การกำกับ แนะนำ ตรวจสอบ และปฏิบัติงานอื่นตามที่ได้รับมอบหมาย

โดยมีลักษณะงานที่ปฏิบัติในด้านต่าง ๆ ดังนี้

๑. ด้านการปฏิบัติการ

(๑) เสนอความเห็นแก่ผู้บังคับบัญชาในการตอบข้อหารือหรือวินิจฉัยปัญหากฎหมายเกี่ยวกับ

ระเบียบของทางราชการที่มีผลกระทบต่อการดำเนินงานของหน่วยงาน เพื่อเป็นข้อมูลสนับสนุนการ

พิจารณาของผู้บังคับบัญชา

(๒) ศึกษา วิเคราะห์ และวิจัยเพื่อปรับปรุงกฎหมายและระเบียบเกี่ยวกับหน่วยงานที่รับผิดชอบ เพื่อให้ทันกับสถานการณ์และอำนวยความสะดวกในการทำงาน โดยพิจารณาถึงความเหมาะสมและเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย

(๓) ศึกษาข้อมูล รวบรวม แสวงหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย เสนอความเห็นในการดำเนินการเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับวินัยข้าราชการ การร้องทุกข์ การพิทักษ์ระบบคุณธรรม รวมถึงการดำเนินการใดๆ ตามกฎหมายปกครองที่เกี่ยวข้องกับการบริหารราชการ และการดำเนินคดีของหน่วยงาน เพื่อใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงาน และสามารถดำเนินการได้อย่างถูกต้อง

๒. ด้านการวางแผน

วางแผนการทำงานที่รับผิดชอบ ร่วมดำเนินการวางแผนการทำงานของหน่วยงานหรือโครงการ เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามเป้าหมายและผลสัมฤทธิ์ที่กำหนด

๓. ด้านการประสานงาน

(๑) ประสานงานทำงานร่วมกันทั้งภายในและภายนอกทีมงานหรือหน่วยงาน เพื่อให้เกิดความร่วมมือและผลสัมฤทธิ์ตามที่กำหนด

(๒) ชี้แจงและให้รายละเอียดเกี่ยวกับข้อมูล ข้อเท็จจริง แก่บุคคลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความเข้าใจหรือความร่วมมือในการดำเนินงานตามที่ได้รับมอบหมาย

๔. ด้านการบริการ

ให้คำปรึกษาแนะนำด้านกฎหมายแก่บุคคลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความเข้าใจในข้อกฎหมายที่เป็นปัญหา และให้ความรู้ถึงข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องและเป็นประโยชน์กับการดำเนินงานของบุคคลหรือหน่วยงานดังกล่าว

(๑.๒) มาตรฐานกำหนดตำแหน่งในราชการบริหารส่วนท้องถิ่น [3]

นิติกร ๓

หน้าที่และความรับผิดชอบ

ปฏิบัติงานขั้นต้นเกี่ยวกับกฎหมายภายใต้การกำกับตรวจสอบโดยใกล้ชิดและปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่ได้รับมอบหมาย

ลักษณะงานที่ปฏิบัติ

เป็นเจ้าหน้าที่ชั้นต้นทำหน้าที่รวบรวมข้อเท็จจริงและเอกสารหลักฐานตลอดจนกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อเสนอความเห็นประกอบการพิจารณาดำเนินการทางกฎหมายด้านต่าง ๆเช่นการร่างหรือแก้ไขเพิ่มเติมเทศบัญญัติกฎระเบียบและข้อบังคับการสอบสวนตรวจพิจารณาดำเนินการเกี่ยวกับวินัยพนักงานเทศบาลและการร้องทุกข์หรืออุทธรณ์การวินิจฉัยปัญหากฎหมายการดำเนินการทางคดีการดำเนินการเกี่ยวกับความรับผิดทางแพ่งจัดทำนิติกรรมหรือเอกสารที่มีผลผูกพันทางกฎหมายและปฏิบัติหน้าที่อื่นที่เกี่ยวข้อง

(๒) ลักษณะของการทุจริตคอร์รัปชันใน อปท.

รูปแบบของการทุจริตคอร์รัปชันใน อปท. ที่พบบ่อย มีลักษณะ ดังนี้

๑. การทุจริตเลือกตั้ง ทั้งการซื้อเสียง การให้สิ่งของ การสัญญาว่า จะบรรจุเข้าทำงานใน อปท. การช่วยงานบุญ งานแต่ง ฯ

๒. การทุจริตเรียกรับเงินจากการบรรจุแต่งตั้งพนักงาน ลูกจ้าง การเลื่อนระดับ การโอน(ย้าย) ฯลฯ

๓. การทุจริตปกปิดงานโครงการ การไม่เปิดเผยการประกาศสอบราคา การให้ตัวแทนมาเป็นผู้เสนอราคางานจ้างฯ การแก้ไขเอกสารการยื่นซองเสนอราคา อาทิ การสั่งการพนักงาน และอาศัยโอกาสที่กรรมการชุมชนหรือผู้เกี่ยวข้องอื่นไม่มีความรู้เรื่องระเบียบ กฎหมาย

๔. การปิดบังข้อมูลข่าวสาร รวมถึงการจัดทำเอกสารหลักฐานเท็จ การให้การเท็จ รายงานเท็จ ในกรณีมีการตรวจสอบข้อเท็จจริง การทำลายเอกสารให้เสียหายหรือการทำลายเสีย เนื่องจากเอกสารอยู่ในครอบครองจึงง่ายต่อการเปลี่ยนแปลงแก้ไข

๕. การนำทรัพย์สินของทางราชการไปใช้ส่วนตัว อาทิ รถยนต์หลวง น้ำมัน ฯลฯ รวมถึงการสั่งใช้งานส่วนตัวแก่บุคลากรของ อปท. ทั้งทางตรงทางอ้อม

๖. การนำงบประมาณ อปท. ไปใช้จ่ายโดยฟุ่มเฟือย ไม่จะเป็น หรือโดยมิชอบ เพื่อเลี้ยงฐานเสียง อาทิ จัดเลี้ยง ทัศนศึกษาพาเที่ยว แจกเสื้อ แจกของ โดยจัดทำหลักฐานประกอบโครงการที่เกินจริง หรือมีลักษณะที่เป็นเท็จ รายงานความเสียหายจากภัยพิบัติเป็นเท็จ ฯลฯ

๗. การบรรจุแต่งตั้งพนักงาน ลูกจ้างส่วนท้องถิ่น เพื่อมุ่งหวังใช้เป็นฐานเสียง อาทิ โดยการกำหนดปริมาณงาน อันเป็นเท็จ และรายงานภาระค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร (๔๐%) โดยการตกแต่งตัวเลขหรืออันเป็นเท็จ ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง

(๓) ทัศนะต่อการทุจริตคอร์รัปชันใน อปท.

๑. ทุจริตคอร์รัปชัน มาจาก ภาษาอังกฤษ ว่า "corruption" ตรงกับภาษาไทยว่า "ทุจริต" แปลว่า ประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฎหมาย เพื่อประโยชน์แก่ตนเองและหรือผู้อื่น ในสังคมไทยปัจจุบัน การทุจริตคอร์รัปชัน ยิ่งนับวันฝังรากลึก และยากที่จะปรับเปลี่ยนทัศนนิสัยคนไทยได้ในระยะเวลาอันสั้น

๒. อปท. ทุจริตคอร์รัปชัน เรื่องใดบ้าง หากจะกล่าวเรื่องนี้ ก็ต้องดูจาก "อำนาจหน้าที่" ของ อปท. เหมือนคำสุภาษิตที่ว่า "เลี้ยงช้างก็กินขี้ช้าง" หมายความว่า อปท. มีหน้าที่การใด ก็อาศัยประโยชน์ จากงานนั้น เพราะฉะนั้นงานตามอำนาจหน้าที่ของ อปท. ที่มีมากมาย นับตั้งแต่การจัดซื้อจัดจ้างงานโครงสร้างขั้น พื้นฐาน การจัดซื้อจัดจ้างภายในสำนักงาน และการจัดซื้อจัดจ้างอื่น ๆ ทุกประเภท การอนุมัติ อนุญาต ตามหน้าที่ ทั้งของข้าราชการฝ่ายประจำ และ ผู้บริหารท้องถิ่น งานบริหาร การจัดการงานสาธารณะ การค้าขายในที่ทางสาธารณะ งานด้านบริหารงานบุคคลต่าง ๆ นับตั้งแต่การบรรจุ แต่งตั้ง สอบ รับโอนย้าย สรรหาผู้บริหารสายพนักงาน ยิ่งทุจริตได้ง่าย เพราะเป็น "ดุลพินิจ" ของคน ๆ เดียวคือผู้บริหารเท่านั้น สรุปโดยรวม การทุจริตทำได้หากอยู่ในอำนาจหน้าที่

๓. ใครบ้างที่สามารถทำทุจริตได้ อปท. ก็เช่นเดียวกับส่วนราชการอื่นๆ ที่ผู้ที่ทำทุจริตจะเกิดจาก ผู้บริหาร และ ข้าราชการระดับสูง ซึ่งเป็นผู้ที่มีหน้าที่ อนุมัติ อนุญาต ในกิจการใด ตามอำนาจหน้าที่ หรือ มีอำนาจในการใช้ "ดุลพินิจ" มีข้อสังเกตจากข้อเท็จจริงว่า ในระดับท้องถิ่น ผู้น้อย หรือข้าราชการชั้นผู้น้อย จะไม่ทุจริต ถ้าไม่ได้รับคำสั่ง จาก เจ้านาย คือ ผู้บริหาร และข้าราชการระดับสูง และข้าราชการระดับสูง ก็ไม่ทุจริตคอร์รัปชัน ถ้าไม่ถูกสั่งหรือมีใบสั่ง จาก นักการเมือง หรือผู้บริหารระดับสูง กล่าวโดยสรุป ข้าราชการมักจะไม่กล้าทุจริตคอร์รัปชัน ถ้า ไม่รับอนุญาต หรือใบสั่งจากการเมือง

๔. ทัศนคติใดบ้างที่ เป็นปัญหา และสนับสนุน แนวคิดในการทุจริตคอร์รัปชัน แนวคิดหลัก สนับสนุนการทุจริตคอร์รัปชัน คือ

๔.๑ ระบบอุปถัมภ์ (Patronage System) หรือเรียกว่า หมูไปไก่มา น้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า สินน้ำใจ กิจกรรมทางสังคม ที่ทำเป็นประเพณี ผู้ใหญ่ ต้องเลี้ยงผู้น้อย เวลาไปไหนมาไหนผู้ใหญ่จึงต้องหาเงิน ไว้ดูแล และรักษาหน้าตาของตนเอง สุดท้ายก็ทุจริตคอร์รัปชัน ผู้น้อย เข้าหาผู้ใหญ่ต้องการสนิทสนม ก็ต้องมีการดูแลเจ้านาย เช่น ในวันโอนย้ายรับตำแหน่งใหม่ วันเกิด วันขึ้นบ้านโหม่ ฯลฯ ทั้งนี้ ถือเป็นประเพณี มาถึงเรือนชานต้องต้อนรับ โดยเฉพาะผู้ใหญ่มาตรวจงานตรวจราชการ ก็เลี้ยงดูจนเป็นที่พอใจ จากกิจกรรมและพฤติกรรมดังกล่าวย่อมทำให้ข้าราชการหรือส่วนราชการระดับล่าง โดยเฉพาะข้าราชการผู้น้อยต้องแสวงหา หรือทำให้ได้มาซึ่งปัจจัยต่าง ๆ จนกลายเป็นประเพณี นอกจากนี้ การเรี่ยไรงานบุญงานกุศลต่าง ๆ ก็ไม่พ้นข้าราชการในระดับล่าง ๆ อาทิ สลากบัตรการกุศลที่แกมบังคับขายให้หน่วยงานที่อยู่ภายใต้อำนาจ เป็นทอดๆ เช่น จังหวัดส่งสลากการกุศลให้หน่วยงานจำหน่ายเป็นหลักหมื่น บางครั้ง ๓-๔ หมื่น ต่อหนึ่งหน่วยงาน ซึ่งเป็นภาระต่อหน่วยงานในระดับล่างที่มาสามารถหาเงินหรือเบิกจ่ายชำระได้ ทำให้เป็นภาระต้องหาเงินนอกระบบมาจ่ายชำระ

๔.๒ การซื้อเสียงในการเลือกตั้ง หรือที่เรียกว่า เงินไม่มากาไม่เป็น ทำนองเงินไม่มาผ้าไม่หลุด สรุปว่า การซื้อเสียงในพื้นที่ชนบทโดยนักการเมืองท้องถิ่นและระดับชาติยังมีอยู่ ฉะนั้น เมื่อการเมืองมีต้นทุน หรือมีการลงทุน ผู้ลงทุนก็ต้องถอนทุนคืน หาก อปท. ที่ใดมีการซื้อเสียงจากประชาชน ที่นั่นย่อมมีการทุจริตเป็นเรื่องปกติ เพราะคงไม่มีใครที่ลงทุนไปโดยไม่ถอนทุนคืน

๕. ในฐานะ "นิติกร" จะทำอย่างไรเพื่อแก้ไขปัญหาของการทุจริตคอร์รัปชันได้ ต้องยอมรับความจริงว่า เป็นเรื่องลำบาก แต่อย่างไรก็ตาม อปท. อาจสมารถทำได้ อาทิเช่น โดยการรวมคนที่ไม่ทุจริตคอร์รัปชันให้เป็นส่วนใหญ่ในสังคมเข้าด้วยกัน รวมทั้งบุคลากรในสำนักงานด้วย โดยการสร้างแนวร่วมไม่ทุจริต และไม่ยอมรับการทุจริตใด ๆ ให้เกิดแก่ประชาชนและหน้าที่การงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าราชการในระดับผู้บังคับบัญชา และคนใกล้ตัวครอบครัวที่บ้าน ในที่ทำงาน และต้องปฏิบัติงานโดยใช้ระเบียบกฎหมายเป็นหลัก และทำตัวเป็นตัวอย่างในการปฏิบัติงาน และที่สำคัญผู้บังคับบัญชาต้องทำตนและทำงานจนเป็นที่ประจักษ์ในความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อให้ประสบความสำเร็จ มีการกำหนด นโยบาย แนวคิด และสานต่อ แนวคิดหยุดการโกง เพื่อให้คนดีได้ปกครองบ้านเมือง และไม่ให้คนไม่ดีได้มีอำนาจ ทำไม่ดีต่อไป ตามพระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั่นเอง

(๔) บทบาทของนิติกรของ อปท.ที่มีส่วนร่วมในการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชัน ดังนี้

๑. ตรวจสอบ วิเคราะห์ รวบรวมหลักฐานส่งหลักฐานให้กับ สตง. หรือ ปชช. กรณีมีข้อทักท้วงว่า มีการปฏิบัติงานโดยไม่เป็นไปตาม กฎ ระเบียบของทางราชการ

๒. สืบสวน สอบสวน ดำเนินการตามกระบวนการทางวินัยแก่พนักงาน อปท.และลูกจ้าง กรณีมีการกระทำความผิดทางวินัย

๓. จัดอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติงาน แก่บุคลากรในองค์กรและกรรมการชุมชนที่เป็นคณะกรรมการร่วมตามที่ระเบียบกำหนด อาทิ การป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ กฎหมายเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๔๒ และกฎหมาย ระเบียบและแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของ อปท.

๔. ตรวจสอบเทศบัญญัติ ข้อบังคับ(สำหรับอบต.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณว่า มีความถูกต้องเป็นไปตามที่กฎหมาย ระเบียบ หนังสือสั่งการ นโยบายของรัฐบาลหรือไม่ รวมทั้งการแนะนำระเบียบข้อกฎหมายแก่สภา อปท. และแก่ นายก อปท.

๕. ตรวจสอบให้ความเห็นการกำหนดราคากลางงานก่อสร้างว่าเป็นไปตามหนังสือสังการหรือไม่ ตรวจสอบเงื่อนไข รายละเอียด และข้อกำหนดในสัญญาจ้างว่าเป็นไปตามที่ระเบียบกำหนดหรือไม่ กล่าวคือ กฎหมาย ระเบียบ คำสั่ง มติคณะรัฐมนตรี และประกาศต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

๖. ตรวจสอบเรื่องร้องเรียน ร้องทุกข์ เพื่อเสนอแนะข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง กรณีที่มีเหตุแห่งการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้อง และแก้ไขปัญหาในเบื้องต้นต่อไป

๗. นิติกรในฐานะอนุกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคประจำเทศบาลมีบทบาทในการประสานงานกับส่วนราชการ หรือหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจและหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภค

๘. การจัดทำประมวลจริยธรรมของผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น รวมทั้งข้าราชการพนักงานส่วนท้องถิ่น เพื่อการควบคุมคุณธรรมและจริยธรรมของเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติราชการ

๙. การดำเนินการตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.๒๕๔๐ ซึ่งเป็นหลักการของการป้องกันการทุจริตที่ผู้ทุจริตเกรงกลัว

(๕) ปัญหาและอุปสรรคในการป้องกันการทุจริต ในบทบาทนิติกร อปท.

อปท.เป็นองค์กรอิสระ ผู้บริหารท้องถิ่นมีอำนาจในการให้คุณ ให้โทษ พนักงานโดยความเห็นชอบของ ก.จังหวัด หากในองค์กรมีการบริหารงาน โดยไม่ชอบ ใช้อิทธิพลครอบงำ หรือ ทุจริตกันเป็นขบวนการ นิติกรก็ไม่อาจทำหน้าที่ตามที่ระเบียบ กฎหมายกำหนดได้

ในประเด็นบทบาทของนิติกร อปท.ในการป้องกันการทุจริตนี้ ค่อนข้างจะขัดกับข้อเท็จจริง เพราะนิติกรต้องอยู่ภายใต้อิทธิพลผู้บังคับบัญชาที่เป็นนักการเมืองท้องถิ่น ทำให้ขาดความเป็นอิสระในการให้ความเห็น หรือ การแสดงความคิดเห็นโต้แย้งในประเด็นต่าง ๆ

(๖) สาเหตุที่หน่วยงานราชการทำผิดกฎหมายและแพ้คดีปกครองจำนวนมาก

ณรงค์ฤทธิ์เพชรฤทธิ์ ทนายความ [4] มีทัศนะต่อนิติกรภาครัฐที่มีมุมมองน่าสนใจว่า จากการที่ได้ทำงานและได้ให้คำปรึกษา ต่อสู้คดีกับหน่วยงานราชการหลายๆ หน่วยงาน ได้พบว่าหน่วยงานหลายๆ แห่งได้ทำผิดกฎหมาย ทำให้เกิดความวุ่นวายสับสนในการบริหารราชการ และแพ้คดีปกครองในหลายคดี ทั้งที่ทุกหน่วยงานมีนักกฎหมาย นิติกร และผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายประจำกระทรวง ประจำกรม สาเหตุสำคัญที่นิติกรหรือนักกฎหมายของหน่วยงานราชการที่มีเยอะแต่ยังทำงานผิดพลาด เพราะสาเหตุหลักเกิดจาก

๑. ทำงานด้วยความกลัว

เมื่อลงมือทำงานก็กลัวจะผิดกฎหมาย กลัวจะผิดวินัย, กลัวจนไม่กล้าที่ให้ความเห็นใด สั่งการเรื่องใด จะต้องหารือไปทุกเรื่อง จนงานไม่สำเร็จและบรรลุผล

๒. มองกฎหมายไม่รอบด้าน ขาดความรอบรู้ในกฎหมายอื่นๆ

นิติกรแต่ละหน่วยงานจะมองและรู้แต่กฎหมายที่ตนเองใช้สำหรับงานนั้นๆ ไม่มองและไม่ศึกษากฎหมายอื่นๆ โดยเฉพาะกฎหมายพื้นฐานที่ตนเองเรียนมาแล้วก็ลืมหมดสิ้น (กฎหมายแพ่ง,กฎหมาย,อาญา,กฎหมายปกครองพื้นฐาน) ทำให้ขาดหลักการที่ถูกต้องในการที่ทำงาน, ให้ความเห็นทางกฎหมาย,การดำเนินทางกฎหมาย

๓. มองไม่ทะลุปัญหา

เมื่อเกิดปัญหาที่จะต้องปรับใช้กฎหมายในหน่วยงานของตนเอง ก็ขาดการศึกษาวิเคราะห์สภาพปัญหา ไม่วิเคราะห์มูลเหตุของปัญหา ที่สำคัญ ไม่วิเคราะห์ผลกระทบของปัญหาที่เกิดให้ทะลุ ไม่ตั้งคำถามในทางสมมุติว่า ถ้าเกิดว่ากรณีที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ แล้วต่อไปจะเป็นอย่างไร เมื่อใช้กฎหมายก็เกิดปัญหาไม่มีที่สิ้นสุดไปเรื่อยๆ

๔. เอาผลประโยชน์หน่วยงานตนเองเป็นที่ตั้ง

ไม่ว่าจะมีปัญหาใดเกิดก็ตาม เมื่อจะต้องปรับใช้กฎหมาย นิติกรของหน่วยงานก็จะมองผลประโยชน์ของหน่วยงานของตนเองเป็นตั้ง ไม่มองในแง่มุมอื่น เช่น สิทธิเสรีภาพประชาชน ผลกระทบต่อหน่วยงานอื่น ทำให้เกิดความผิดเพี้ยนในการตีความ และการปรับบทกฎหมาย

๕. ยึดถือระเบียบหนังสือสั่งการเป็นสำคัญ ไม่ยึดถือกฎหมายเป็นหลัก

ปัญหาใหญ่ๆ ที่นิติกรของหน่วยงานทำให้เกิดการแพ้คดีในศาลปกครองมากที่สุดคือ การถือเอาระเบียบของหน่วยงานตนเอง หนังสือสั่งการเป็นหลักในการปฏิบัติต่ออประชาชนว่าเป็นที่ถูกต้องที่สุดแล้ว โดยไม่คำนึงว่าระเบียบหรือสั่งการนั้นจะผิดกฎหมายแม่บท,กฎหมายอื่น และบางกรณีผิดรัฐธรรมนูญด้วย

การเป็นนิติกรที่ดีของหน่วยงาน จึงต้องกล้าตัดสินใจ, ศึกษากฎหมายให้รอบด้าน มิใช่รู้เพียงแต่กฎหมายของตนเอง, มองให้ทะลุปัญหา ศึกษาข้อเท็จจริงให้รอบด้าน ศึกษาผลกระทบของการบังคับใช้กฎหมาย จะต้องยึดถือเอากฎหมายแม่บทในการปฏิบัติงาน

๖. การขาดความเป็นอิสระในทางการใช้วิชาชีพกฎหมาย (ประเด็นเพิ่มเติม)

สาเหตุสำคัญที่ทำให้นิติกรของหน่วยงานราชการปฏิบัติงานตามที่ระบุในข้อ ๑-๕ นั้น มาจากสาเหตุที่สำคัญคือ การขาดความเป็นอิสระในการใช้วิชาชีพกฎหมาย นิติกรจะต้องอยู่ภายใต้อำนาจบังคับบัญชาของผู้มีอำนาจตามตำแหน่งหน้าที่ จึงเป็นผลสำคัญให้นิติกรบางคนจำใจต้องปฏิบัติตามคำสั่งการของผู้บังคับบัญชา ทั้งๆที่รู้ว่าผิดกฎหมายหรือเป็นการบิดเบือนกฎหมาย หากไม่ทำตามก็จะไม่ก้าวหน้าในอาชีพราชการหรือถูกผู้บังคับบัญชากลั่นแกล้ง แต่ก็ยังมีวิธีการที่นิติกรจะดำรงตนทางวิชาชีพกฎหมายให้ถูกต้องได้แม้จะอยู่ภายใต้อำนาจหรืออิทธิพลของผู้บังคับบัญชา



[1] สรณะ เทพเนาว์, สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ, นายกสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย, ปลัดเทศบาลตำบลแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้นำเสนอใน "โครงการเสวนาเชิงวิชาการ เรื่อง บทบาทของนิติกรภาครัฐในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต", โดยชมรมนิติกรองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย ณ ห้องประชุมสุโขทัย อาคารอเนกนิทัศน์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, ๑๐ ตุลาคม ๒๕๕๗

[2] ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ ๑ : วันที่ ๑๘ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๒

[3] ก.ท.กำหนดเมื่อวันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๔๕ แก้ไขเพิ่มเติมตามมติ ก.ท. ครั้งที่ ๑/๒๕๔๗ เมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๔๗

และมติ ก.ท. ครั้งที่๘/๒๕๔๘ เมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๔๘.

[4] "สาเหตุที่หน่วยงานราชการทำผิดกฎหมายและแพ้คดีปกครองจำนวนมาก", ในหลักกฎหมายปกครองวันละเรื่อง, ปรับปรุงแก้ไข ๙ ตุลาคม ๒๕๕๗. https://www.facebook.com/DroitAdministrative/posts/746046792077900
อยากให้ชาตินี้เป็นชาติสุดท้ายของเรา