
สวัสดีครับ
จากนี้ไปจะแนะนำตำแหน่งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่น่าสนใจและจัดอยู่ในตำแหน่งตัวเต็งที่จะเปิดสอบแข่งขันเพื่อบรรจุเป็นข้าราชการส่วนท้องถิ่น ซึ่งจะมีอยู่หลากหลายตำแหน่ง ผมจะค่อยทยอยแนะนำให้รับทราบต่อไปครับ
กระทู้นี้ ขอแนะนำตำแหน่ง "นิติกร"
นิติกร คือ
ตำแหน่งนิติกร คือ ข้าราชการส่วนท้องถิ่น ที่ถูกจัดอยู่ในแท่งประเภทวิชาการ หมายถึงเมื่อเริ่มบรรจุในตำแหน่งนี้ ท่านคือข้าราชการระดับปฏิบัติการครับ และจะพบได้ทั้งในองค์การบริหารส่วนจังหวัด - เทศบาลนคร - เทศบาลเมือง - เทศบาลตำบล และ อบต.
ก่อนอื่นต้องยอมรับก่อนว่าทุกวันนี้ ทุก อปท. จะมีข้อกฎหมายให้พิจารณาอยู่เสมอ ดังนั้นสิ่งหนึ่งที่จะช่วยกรองให้ อปท. ได้เดินถูกทาง และเป็นไปตามกฎหมายนั้น ก็คือ ต้องพึ่งพาตำแหน่งนิติกร ในการสรุปรวบรวม ข้อเท็จจริง และเสนอความเห็นข้อกฎหมายที่เป็นประโยชน์แก่องค์กร
ประกอบกับในปัจจุบันนี้ ในสายงานนิติกรในท้องถิ่น มีค่อนข้างน้อย จึงไม่แปลกที่จะพบเห็นนิติกรช่วยเหลืองานและเป็นที่ปรึกษาให้แก่เพื่อนๆ อปท. ข้างเคียงด้วย
หน้าที่ินิติกร
คือ เป็นเจ้าหน้าที่ชั้นต้น ทำหน้าที่รวบรวมข้อเท็จจริงและเอกสารหลักฐานตลอดจนกฎหมาย ที่เกี่ยวข้องเพื่อเสนอความเห็นประกอบการพิจารณาดำเนินการทางกฎหมายด้านต่าง ๆ เช่น การร่างหรือแก้ไขเพิ่มเติมเทศบัญญัติ กฎ ระเบียบ และข้อบังคับ การสอบสวนตรวจพิจารณาดำเนินการเกี่ยวกับวินัยพนักงาน และการร้องทุกข์หรืออุทธรณ์ การวินิจฉัยปัญหากฎหมาย การดำเนินการทางคดี การดำเนินการเกี่ยวกับความรับผิดทางแพ่ง จัดทำนิติกรรมหรือเอกสารที่มีผลผูกพันทางกฎหมายและปฏิบัติหน้าที่อื่นที่ได้รับมอบหมาย
ความน่าสนใจของตำแหน่งนี้
1. นิติกร เติบโตได้ถึงระดับเชี่ยวชาญ
2. นิติกร (หากมีคุณสมบัติครบถ้วนตามเกณฑ์) จะได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษตำแหน่งนิติกร (พ.ต.ก.) ด้วย
3. นิติกร เป็นที่ต้องการของ อปท.
4. ปัจจุบันนี้ ไม่มีขึ้นบัญชีผู้สอบได้ กสถ.
5. นิติกร จะเติบโตในสายงานของตนเอง (งานนิติการ) ไม่มีใครมาแย่ง
6. นิติกร เหมาะสำหรับคนที่ชอบงานสืบสวน สอบสวน สอบวินัย
7. นิติกร รับเฉพาะวุฒินิติศาสตร์เท่านั้น
คุณวุฒิที่ต้องมีสำหรับตำแหน่งนี้
ได้รับปริญญาตรี หรือเทียบได้ไม่ต่ำกว่านี้ทางนิติศาสตร์ กฎหมาย หรือทางอื่นที่ ก กลาง กำหนดว่าใช้เป็นคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งนี้ได้
*** รับเฉพาะวุฒินิติศาสตร์ ***
ความเติบโตในสายงาน "นิติกร"
ตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่งนั้น นิติกรปฏิบัติการ สามารถเลื่อนตำแหน่งเป็นระดับชำนาญการได้ โดยหากมีวุฒิปริญญาตรีจะใช้เวลา 6 ปี แต่หากมีวุฒิปริญญาโทใช้เวลา 4 ปี และเมื่อครองตำแหน่งระดับชำนาญการครบ 4 ปีแล้ว จะสามารถเลื่อนตำแหน่งเป็นชำนาญการพิเศษ หรือจะเลือกสอบคัดเลือกขึ้นเป็นหัวหน้าฝ่าย (อำนวยการต้น) ก็ได้เช่นกัน
นิติกร สอบบรรจุอย่างไร
เริ่มต้นให้เตรียมตัวสอบในภาค ก (ภาคความรู้ความสามารถทั่วไป)
จากนั้นอ่านหนังสือเตรียมสอบในภาค ข โดยขอบเขตเนื้อหาที่เคยถูกกำหนดไว้ มีดังนี้
1. พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของทางราชการ พ.ศ. 2540
2. พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
3. พระราชบัญญัติว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น พ.ศ. 2542
4. พระราชบัญญัติว่าด้วยการลงคะแนนเสียงเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2542
5. พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
6. พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539
7. พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539
8. ความรู้ด้านกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
9. ความรู้ที่เกี่ยวกับงานตาม "ลักษณะงานที่ปฏิบัติ" ของตำแหน่งนิติกร
สรุป
เป็นตำแหน่งที่มีสายงานโดยตรง สำหรับท่านที่จบนิติศาสตร์
จัดว่าอยู่ในตำแหน่งที่ อปท. ขาดแคลนอีกหนึ่งตำแหน่ง ประกอบกับบัญชี กสถ. ไม่มีตำแหน่งนี้ให้เรียกใช้แล้ว
หากสอบผ่านขึ้นบัญชีได้ แนวโน้มที่จะได้บรรจุสูงมากๆ
สำหรับในการอ่านหนังสือ คงไม่ต้องแนะนำอะไรมาก เพราะสายนิติ อ่านหนังสือเก่งและอย่างหนักกันทุกคนเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว
.../ ไว้กระทู้ถัดไปจะแนะนำตำแหน่งอื่นให้รับทราบต่อไปครับ
ส.เสือ ชุมชนคนท้องถิ่น
แก้ไขข้อมูลใหม่ เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2559
ที่มา:
http://www.thailocalmeet.com/index.php?topic=58503.0