• Welcome to ชมรมนิติกรองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น:เว็บไซท์อันดับ๑ของวงการท้องถิ่น.
Main Menu

นายก ตั้งรองนายกที่ขาดคุณสมบัติ จะมีความผิดหรือไม่อย่างไรบ้าง????

เริ่มโดย admin, 28-02-2020, 07:33:34

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

admin


คำถาม  ๑๕/๑/๖๓
กรณีนายก อบต. ถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวน เนื่องจากออกคำสั่งแต่งตั้งรองนายก อบต. ซึ่งขาดคุณสมบัติ/มีลักษะต้องห้าม

#ข้อเท็จจริง

นายก อบต. จะแต่งตั้ง เอ และ บี เป็นรองนายกฯ แต่ปลัด อบต. ได้มีบันทึก ลว. 19 พ.ย  60 มีข้อความว่าบุคคลทั้งสองไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง สว. 30 มี.ค. 57 และไม่ได้แจ้งเหตุแห่งการไม่ไปใช้สิทธิ จึงเป็นเหตุให้บุคคลทั้งสองขาดคุณสมบัติ ตาม พรบ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารฯ  ม.37(3)  ซึ่งนายกฯ มีความเห็นระบุท้ายบันทึกว่า "ดำเนินการตามม.58/1 และ58/4 โดยบุคคลดังกล่าวมีคุณสมบัติครบถ้วน ให้ดำเนินการแต่งตั้งต่อไป"

ประกอบกับนักทรัพยากรบุคคงได้มีบันทึก ลว. 23 พ.ย. 60 มีสาระเช่นเดียวกันกับบันทึกของปลัดฯ และนายกฯ สั่งท้ายบันทึกว่า "ให้ดำเนินการเบิกจ่ายค่าตอบแทน ให้ยืนยันออกคำสั่งต่อไป" และมีคำสั่งแต่งตั้ง เอ เป็นรองนายกฯ ลว. 24 พ.ย. 60

นอกจากนี้ หัวหน้าสำนักปลัดได้มีบันทึก ลว.7 ธ.ค. 60 (ก่อนมีการแต่งตั้ง บี เป็นรองนายก วันที่ 10 ธ.ค. 60) ระบุว่า กองคลังได้ตรวจสอบบันทึกและคำสั่ง เพื่อเป็นเอกสารแนบการเบิกจ่ายของ เอ รองนายกฯ ปรากฎว่า เอ ไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง สว. และไม่แจ้งเหตุ จึงขาดคุณสมบัติการเป็นรองนายกฯ ดังนั้น การเบิกจ่ายเงินเดือน ค่าตอบแทน ค่าตอบแทนพิเศษของบุคคลดังกล่าวจึงไม่ถูกต้อง เห็นควรทบทวนคำสั่ง ซึ่งนายกฯ ระบุความเห็นท้ายบันทึกว่า "เห็นควรเบิกจ่ายเงินเดือน ค่าตอบแทน ค่าตอบแทนพิเศษต่อไป"

ประกอบกับคณะกรรมการ ปปช. ส่งเรื่องให้ ผวจ. ผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอน กรณีมีการกล่าวหาร้องเรียนนายกฯ กระทำผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าราชการ ซึ่งตามรายงานการแสวงหาข้อเท๊จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานของ สนง.ปปช.จังหวัด ปรากฏข้อเท็จจริงสอดรับกับการสอบสวนของอำเภอ ว่า นายกฯ ใช้อำนาจแต่งตั้งรองนายกฯ โดยมิชอบด้วย ม.58/4 ม.58/1 พรบ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบลฯ ประกอบ ม.37(3) พรบ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารฯ โดยคณะกรรมการปปช.ระบุว่าเป็นการกระทำผิดเล็กน้อย

แต่คณะกรรมการสอบสวนจังหวัด เห็นว่าแม้เป็นความผิดเล็กน้อย แต่กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตมุ่งเน้นไปที่ผลการกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ตาม ปอ. จึงเป็นคนละกรณีกับการกระทำฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อยหรือสวัสดิภาพของประชาชน หรือละเลยไม่ปฏิบัติตามหรือปฏิบัติการไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่ ม.92 แห่งพรบ.สภาตำบลฯ

คณะกรรมการสอบสวนจังหวัด เสียงข้างมาก (4/5)  พิจารณาว่า นายก อบต. มีอำนาจหน้าที่ตามพรบ.สภาตำบลฯ ม.59 กล่าวคือ กำหนดนโยบ่ยไม่ขัดต่อกฎหมาย รับผิดชอบในการบริหาราชการให้เป็นไปตามกฎหมาย นโยบาย แผนฯ ข้อบัญญัติระเบียบ สั่ง อนุญาตและอนุมัติเกี่ยวกับราชการ แต่งตั้งรองนายกฯและเลขานุการ และม.60 ควบคุมและรับผิดชอบในการบริหารราชการ อบต. ตาม กฎหมาย แต่กลับปรากฏพฤติการณ์ตามความเห็นและหลักฐานของ นอภ.

ต่อมา นายก อบต. ได้มีคำสั่งให้เอและบีพ้นจากตำแหน่งรองนายกฯ หลังจากได้รับแจ้งผลวินิจฉัยของ นอภ. เพียง 5 วัน คณะกรรมการสอบสวนจังหวัดเห็นว่า คำสั่งดังกล่าวหามีผลทางกฎหมาย เนื่องจากเอและบีต้งพ้นจากตำแหน่งตามคำวินิจฉัย นอภ. โดยมีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ได้มีการแต่บตั้ง ไม่ถือว่านายกฯ มีเจตนาจะแก้ไขหรือเยียวยาผลร้ายในการที่ตนได้กระทำผิดกฎหมาย ถือจะถือเป็นเหตุอันควรปราณีให้ลงโทษเป็นว่ากล่าวตักเตือน ดังนั้นคณะกรรมการฯ เห็นควรมีคำสั่งให้นายกฯ พ้นจากตำแหน่ง

แต่ทั้งนี้ มีความเห็นเสียงข้างน้อย (1/5) ระบุว่า การที่นายกฯ มีคำสั่งให้รองนายกฯ ทั้วสองพ้นจากตำแหน่ง 12 มิ.ย. 61 ภายหลังจากที่ได้รับแจ้งผลวินิจฉัยจากอำเภอเพียง 5 วัน แสดงให้เห็นว่ามีเจตนาจะแก้ไข พฤติการณ์ยังไม่ร้ายแรงเพียงพอให้สั่งพ้นจากตำแหน่ง และขอเสนอให้ ผวจ. แจ้ง นอภ. ว่ากล่าวตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษรว่าอย่าให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก ตามความเห็นท้องถิ่นจังหวัด เนื่องจากหากให้พ้นจากตำแหน่งจะต้องถูกตัดสิทธิทางการเมืองถึง 5 ปี

คำถาม
1) กรณีความเห็นของคณะกรรมการสอบสวนมีสองทาง ควรดำเนินการอย่างไร
2) กรณีปปช.แจ้งมายัง ผวจ. ว่าเป็นการกระทำผิดเล็กน้อย ให้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ นั้น นอกจากดำเนินการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนจังหวัดแล้ว ควรให้พนง.สอบสวนดำเนินการตาม ป.วิ.อ. หรือไม่ อย่างไรคะท่านอาจารย์ @p.prawit

ตอบ

          เป็นคำถามเกี่ยวกับการสอบสวนผู้บริหารท้องถิ่นตามระเบียบ มท.ว่าด้วยการสอบสวนฯ ปี ๕๔ กรณี ป.ป.ช.ส่งเรื่อง
          ท่านอาจารย์สัญจิต พวงนาค (โทร.๐๘๑๑๗๔๓๗๖๙) ตอบดังนี้...

          "คำถาม
          1) กรณีความเห็นของคณะกรรมการสอบสวนมีสองทาง ควรดำเนินการอย่างไร
          ตอบ ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการสอบสวนผู้บริหารท้องถิ่นฯ ข้อ 15 วรรคสอง กำหนดว่า ความเห็นของคณะกรรมการสอบสวนให้ถือเสียงข้างมากของกรรมการที่มาประชุม ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานกรรมการออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งเสียงเป็นเสียงชี้ขาด และข้อ 23 วรรคหนึ่ง กำหนดว่า ถ้ากรรมการสอบสวนคนใดมีความเห็นแย้งจะทำความเห็นแย้งติดไว้กับสำนวนการสอบสวนก็ได้ ดังนั้น เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า คณะกรรมการสอบสวนของจังหวัดจำนวน 4 คน จากทั้งหมด 5 คน ได้ลงคะแนนเสียงเห็นว่า มีเหตุที่จะสั่งให้ นายก อบต. พ้นจากตำแหน่ง จึงถือเป็นเสียงข้างมาก ส่วนกรรมการสอบสวนที่เป็นเสียงข้างน้อยสามารถทำความเห็นแย้งติดไว้กับสำนวนการสอบสวน แล้วนำมติของคณะกรรมการสอบสวนพร้อมความเห็นแย้งนี้เสนอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณาได้

          2) กรณี ปปช.แจ้งมายัง ผวจ. ว่าเป็นการกระทำผิดเล็กน้อย ให้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ นั้น นอกจากดำเนินการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนจังหวัดแล้ว ควรให้พนง.สอบสวนดำเนินการตาม ป.วิ.อ. หรือไม่ อย่างไรคะท่านอาจารย์
          ตอบ หากผู้ว่าราชการจังหวัดได้ตรวจสอบแล้วเห็นว่า การกระทำของนายก อบต.มีมูลเป็นความผิดทางอาญา ผู้เสียหายก็สามารถร้องทุกข์หรือผู้ว่าราชการจังหวัดสามารถกล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนเพื่อให้ดำเนินคดีอาญาได้"

          อ้างอิง :

          ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการสอบสวนผู้บริหารท้องถิ่น รองผู้บริหารท้องถิ่น ประธานสภาท้องถิ่น รองประธานสภาท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น เลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น และที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.๒๕๕๔
          ข้อ ๑๕ วรรคสอง
          ข้อ ๒๓ วรรคหนึ่ง
         
          ขอบคุณท่านอาจารย์สัญจิต พวงนาค ครับ
อยากให้ชาตินี้เป็นชาติสุดท้ายของเรา