
คำถาม ๒๔/๑/๖๓
1.กรณีที่ศาลปกครองสูงสูดมีคำพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งลงโทษปลดออก เนื่องจากเห็นว่าเป็นความผิดวินัยฐานที่นอกเหนือจากที่กำหนดในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ป.ป.ช.ซึ่งกำหนดให้ใช้สำนวนสอบสวนของ ป.ป.ช.ในการสั่งลงโทษได้ กรณีนี้ไม่ได้ตั้งคณะกรรมการสอบวินัยก่อน แต่มีการยึดสำนวนการชี้มูลของ ป.ป.ช.ลงโทษ เห็นว่าเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลสั่งเพิกถอนคำสั่งลงโทษดังกล่าวพร้อมทั้งให้คืนสิทธิประโยชน์ที่พึงได้รับเสมือนมิได้ถูกลงโทษปลดออก เมื่อได้เพิกถอนคำสั่งลงโทษแล้ว สามารถดำเนินการคืนสิทธิประโยชน์ที่พึงได้รับ คือส่วนเงินเดือนในระหว่างที่ถูกปลดออกได้เลยหรือไม่หรือต้องรอกระบวนการทางวินัยเสร็จสิ้นก่อนคะ
2.การคืนเงินเดือนในระหว่างถูกปลดออก หากผู้ฟ้องคดีมีหนี้ที่ต้องชำระให้กับหน่วยงานสามารถทำสัญญาหักกลบลบหนี้ได้หรือไม่คะ มีกฎหมายระเบียบที่กำหนดไว้หรือไม่ ขอบคุณมากค่ะ
ตอบ
สรุป
๑. เงินเดือนระหว่างปลดออกจากราชการ จะจ่ายได้ต่อเมื่อคดีหรือกรณีถึงที่สุด
๒. ลูกหนี้อาจให้หักเงินเดือนเพื่อใช้หนี้ได้
ขยายความ
๑. ข้าราชการส่วนท้องถิ่นผู้ใดถูกสั่งลงโทษปลดออกจากราชการ ต่อมาผู้นั้นได้อุทธรณ์คำสั่งลงโทษต่อ ก.จังหวัด และ ก.จังหวัดมีมติให้ยกเลิกคำสั่งลงโทษปลดออก หรือผู้นั้นได้ฟ้องคดีต่อศาลปกครอง และศาลปกครองมีคำพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งลงโทษปลดออก อันเนื่องมาจากกระบวนการไม่ชอบ นายกฯ ต้องดำเนินการทางวินัยใหม่ให้ถูกต้อง กรณีนี้ผู้นั้นต้องกลับเข้าปฏิบัติหน้าที่หรือกลับเข้ารับราชการและถูกดำเนินกระบวนการทางวินัยใหม่
สำหรับเงินเดือนระหว่างถูกปลดออกจากราชการยังไม่อาจจ่ายได้ (มิใช่กรณียกเลิกคำสั่งลงโทษเพราะมิได้กระทำความผิด) จนกว่าคดีหรือกรณีจะถึงที่สุด
เมื่อคดีหรือกรณีถึงที่สุด ให้พิจารณาจ่ายเงินเดินระหว่างถูกปลดออกจากราชการ ตามความในข้อ ๔ ของหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเดือนฯ
ส่วนการคืนสิทธิด้านอื่น ต้องเป็นไปตามระเบียบว่าด้วยการนั้น หรือตามคำพิพากษา
๒. เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิจะเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ได้ (ม.๑๙๔) และข้าราชการส่วนท้องถิ่นผู้เป็นหนี้ ต้องชำระหนี้ หาไม่แล้วอาจมีความผิดทางวินัยฐานประพฤติชั่ว (ข้อ ๒๓ ว ๑) นอกจากนี้ยังมีกฎหมายซึ่งกำหนดให้ลูกหนี้มีหน้าที่ต้องชำระหนี้ เช่น กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) หรือการกู้ยืมเงินจากสหกรณ์ เป็นต้น
ดังนั้น ลูกหนี้จึงอาจขอให้หน่วยงานหักเงินเดือนเพื่อใช้หนี้ได้
อย่างไรก็ตาม กรณีดังกล่าวหากมีปัญหาในทางปฏิบัติ ควรหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง
อ้างอิง :
๑. หลักเกณฑ์วิธีการจ่ายเงินเดือนข้าราชการส่วนท้องถิ่นผู้ถูกสั่งพักราชการ ผู้ถูกสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน ผู้ร้องทุกข์คำสั่งให้ออกจากราชการ ผู้อุทธรณ์คำสั่งลงโทษปลดออกหรือไล่ออกจากราชการ พ.ศ.๒๕๔๖
ข้อ ๔
๒. ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา ๑๙๔
๓. หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการสอบสวน การลงโทษทางวินัย (พ.ศ.๒๕๕๘/๒๕๕๙)
ข้อ ๒๓ วรรคหนึ่ง
ขอบคุณครับ