• Welcome to ชมรมนิติกรองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น:เว็บไซท์อันดับ๑ของวงการท้องถิ่น.
Main Menu

พนง.จ้างตามภารกิจ ตำแหน่ง พนง.ขับรถยนต์ มีความเสี่ยงต่อการติดสุรา สามารถดำเนินการอย่างไรได้บ้าง?

เริ่มโดย admin, 28-02-2020, 04:27:17

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

admin


คำถาม  ๓๑/๑/๖๓
พนักงานจ้างตามภารกิจ ตำแหน่ง พนักงานขับรถยนต์ ได้ยื่นใบลาป่วยพร้อมใบรับรองแพทย์ระบุว่าป่วยพิษสุราเรื้อรัง (ชัก)  ซึ่งกรณีดังกล่าวมีผลทำให้พนักงานจ้างรายดังกล่าวเป็นผู้คุณสมบัติในการเป็นพนักงานจ้าง ตามข้อ ๔ (๔) ของประกาศ ก.จังหวัด เรื่อง หลักเกณฑ์และเงื่อนไขเกี่ยวกับพนักงานจ้าง ประกอบกับข้อ ๖ (๕) (จ) ของประกาศ ก.จังหวัด เรื่อง หลักเกณฑ์และเงื่อนไขเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคของเทศบาล และอันมีผลให้สัญญาจ้างสิ้นสุดลง ตามข้อ ๕๔ (๒) ของประกาศ ก.จังหวัด เรื่อง หลักเกณฑ์และเงื่อนไขเกี่ยวกับพนักงานจ้าง ซึ่งนายกเทศมนตรีต้องทำความเห็นเสนอ ก.ท.จ. ให้ความเห็นชอบเพื่อออกคำสั่งให้พนักงานจ้างรายดังกล่าวออกจากราชการ ตามข้อ ๕ และข้อ ๖ ของประกาศ ก.จังหวัด เรื่อง หลักเกณฑ์และเงื่อนไขเกี่ยวกับการให้ออกจากราชการ เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวเทศบาลจึงได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงขึ้นทำการสอบสวนและเสนอความเห็นประกอบการพิจารณาดำเนินการของนายกเทศมนตรี ซึ่งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง พิจารณาแล้วเห็นว่า เพื่อให้ได้ความจริงที่ถูกต้องครบถ้วนบังเกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย จึงมีมติให้แพทย์เฉพาะทาง (แผนกจิตเวช) ทำการตรวจวินิจฉัยพนักงานจ้างรายดังกล่าวอีกครั้ง และได้ส่งตัวพนักงานจ้างรายดังกล่าวให้แพทย์แผนกจิตเวช โรงพยาบาลประจำจังหวัดทำการตรวจวินิจฉัย ผลการตรวจวินิจฉัยแพทย์มีความเห็นสรุปความว่า ผู้ป่วยมีปัญหาจากการดื่มสุรา มีความเสี่ยงต่อการติดสุรา แนะนำให้เข้ารับการรักษา มีประเด็นคำถาม ดังนี้ (๑) พนักงานจ้างรายดังกล่าวยังคงถือว่าเป็นโรคพิษสุราเรื้อรังอยู่หรือไม่ อย่างไร และ (๒) กรณีดังกล่าวคณะกรรมการฯ ควรทำความเห็นเสนอแนวทางใด เพื่อให้บังเกิดความยุติธรรมกับทุกฝ่าย (ทั้งฝ่ายหน่วยงานและพนักงานจ้าง) จึงเรียนมาเพื่อขอความกรุณาท่านอาจารย์โปรดพิจารณาให้คำแนะนำ ขอกราบขอบพระคุณท่านอาจารย์เป็นอย่างสูงมา ณ โอกาสนี้

ตอบ

          การดำเนินการทางวินัยแก่ข้าราชการส่วนท้องถิ่น ซึ่งมีกรณีอันมีมูลที่ควรกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัย ให้สอบสวนเพื่อให้ได้ความจริงและยุติธรรมโดยไม่ชักช้า (ข้อ ๒๖ ว ๑) ผู้สั่งลงโทษต้องสั่งลงโทษให้เหมาะสมกับความผิด และมิให้เป็นไปโดยพยาบาท โดยอคติ หรือโดยโทสจริต หรือลงโทษผู้ไม่มีความผิด (ข้อ ๘๖ ว ๑) หลักการดังกล่าว นำมาใช้กับการให้ออกจากราชการในบางกรณีด้วย

          ประเด็น

          "ป่วยพิษสุราเรื้อรัง (ชัก)" กับ "มีความเสี่ยงต่อการติดสุรา" ถือว่าเป็น "โรคพิษสุราเรื้อรัง" หรือไม่

          สรุป

          แพทย์ลงความเห็นว่า "ป่วยพิษสุราเรื้อรัง (ชัก)" ตั้งแต่ครั้งแรก อาจถือได้ว่า "เป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง"

          ขยายความ

          ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ ไม่พบคำว่า "ป่วยพิษสุราเรื้งรัง (ชัก)" พบเพียงคำว่า "โรคพิษสุราเรื้องรัง" โดยให้ความหมายว่า "เป็นชื่อโรคชนิดหนึ่ง ซึ่งสมองและประสาทเสื่อม เนื่องจากดื่มสุรามากเป็นเวลานาน มีอาการมือสั่น เดินเซ สติปัญญาเสื่อม บางครั้งชักแบบลมบ้าหมู"
          กรณียื่นใบลาป่วยพร้อมมีใบรับรองแพทย์ที่ระบุว่า "ป่วยพิษสุราเรื้อรัง (ชัก)" น่าจะเพียงพอในการวินิจฉัยว่าเป็น "โรคพิษสุราเรื้อรัง" และแม้ผลการตรวจของแพทย์เฉพาะทางครั้งหลัง ไม่ชัดเจนเหมือนครั้งแรก แต่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน จึงอาจทำให้บุคคลดังกล่าวเป็นผู้ขาดคุณสมบัติ ดังนั้น นายกฯ จะเสนอ ก.จังหวัด เพื่อส่งเรื่องให้อนุวินัยทำความเห็นเสนอ ก.จังหวัด [ข้อ ๖ (๓)] เพื่อให้ออกจากราชการ เพราะขาดคุณสมบัติ โดย ก.จังหวัด อาจเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ หรือให้แสวงหาข้อมูลข้อเท็จจริงเพิ่มเติมก็ได้
          คณะกรรมการตรวจสอบฯ จึงต้องแสวงหาข้อเท็จจริง โดยปราศจากฉันทาคติ (ลำเอียงเพราะรัก) ซึ่งกรณีดังกล่าว นอกจากความเห็นของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว ยังต้องมีความเห็นของนายกฯ ความเห็นของอนุวินัยฯ และความเห็นของ ก.จังหวัด ดังนั้น จึงไม่ต้องกังวลว่า พนักงานจ้างรายดังกล่าว จะไม่ได้รับความเป็นธรรม

          ประเด็นคำถาม

          ๑. ด้วยเหตุผลข้างต้น เห็นว่า พนักงานจ้างรายนี้ เป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง หากเห็นต่างควรหารือ
          ๒. ควรทำความเห็นเสนออย่างเป็นกลาง ตามพยานหลักฐานและข้อเท็จจริงที่พบ โดยไม่เสนอความรู้สึกลงไปในผลการตรวจสอบขัอเท็จจริง เพราะสุดท้าย ก.จังหวัด จะเป็นผู้พิจารณามีมติ ซึ่งนายกฯ ต้องสั่งหรือปฏิบัติให้เป็นไปตามมตินั้น

          อ้างอิง :

          ๑. หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการให้ออกจากราชการ (พ.ศ.๒๕๕๘/๒๕๕๙)
              ข้อ ๖ (๓)
          ๒. หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการสอบสวน การลงโทษทางวินัย (พ.ศ.๒๕๕๘/๒๕๕๙)
               ข้อ ๒๖ วรรคหนึ่ง
               ข้ด ๘๖ วรรคหนึ่ง
          ๓. พจนานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔

          ขอบคุณครับ
อยากให้ชาตินี้เป็นชาติสุดท้ายของเรา