
คำถาม ๗/๒/๖๓
พนักงานจ้าง ขาดราชการตั้งแต่ 9 ม.ค. 2563 ถึงปัจจุบัน ถือเป็นการการะทำผิดวินัยร้ายแรง ตามข้อ 49(6) ตามมาตรฐานทั่วไปพนักงานจ้าง 2547 โดยวิธีการดำเนินการทางวินัยใช้ของพนักงานเทศบาล ตามประกาศหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการสอบสวน การลงโทษทางวินัย 2558 โดยอนุโลม กรณีสอบถามว่าจะเข้าข่ายเป็นการกระทำความผิดที่ปรากฏชัดแจ้งหรือไม่ครับ และนายกเทศมนตรีสามารถสั่งลงโทษไล่ออกโดยไม่ต้องสอบสวนได้หรือไม่ครับ ขอบคุณครับ
ตอบ
คำถามเกี่ยวกับการละทิ้งหรือทอดทิ้งหน้าที่ราชการลักษณะนี้มาก และตอบบ่อย ท่านผู้เป็นเจ้าของคำถามคงไม่ได้ติดตาม หรือเพิ่งเข้ามาใหม่ ขออภัยท่านที่ทราบคำตอบแล้ว
ประเด็น
พนักงานจ้างละทิ้งหรือทอดทิ้งการทำงานติดต่อกันเกินกว่า ๗ วัน [ข้อ ๔๙ ว ๑ (๖)] โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร (ข้อ ๕๐ ว ๒)
๑. ถือเป็นความผิดที่ปรากฏชัดแจ้งหรือไม่
๒. นายกฯ จะดำเนินการทางวินัยโดยไม่สอบสวน หรืองดการสอบสวน ได้หรือไม่
สรุป
๑. เป็น
๒. ได้
ขยายความ
๑. พนักงานจ้างละทิ้งหรือทอดทิ้งการทำงานติดต่อกันเกินกว่า ๗ วัน (ข้าราชการส่วนท้องท้องถิ่น ละทิ้งหรือทอดทิ้งหน้าที่ราชการติดต่อกันเป็นเวลาเกินกว่า ๑๕ วัน) และนายกฯ ได้สืบสวนแล้วเห็นว่าไม่มึเหตุผลอันสมควร ถือเป็นความผิดที่ปรากฏชัดแจ้ง [ข้อ ๔๖ ว ๑ (๒)]
๒. เมื่อเป็นความผิดที่ปรากฏชัดแจ้ง นายกฯ จะดำเนินการทางวินัย (สั่งลงโทษ) โดยไม่สอบสวน หรืองดการสอบสวนก็ได้ [ข้อ ๔๖ ว ๑ (๒)] เพราะถือเป็นดุลพินิจ
กรณีพนักงานจ้างละทิ้งหรือทอดทิ้งการทำงาน ตั้งแต่วันที่ ๙ มกราคม ๒๕๖๓ ติดต่อกันถึงปัจจุบันเกินกว่า ๗ วัน [ข้อ ๔๙ ว ๑ (๖)] แล้ว นายกฯ ต้องสืบสวนให้ได้ความว่ามึเหตุผลอันสมควรหรือไม่ก่อน [ข้อ ๔๖ ว ๑ (๒)] หากพบเห็นตัวแต่ไม่ยอมมาทำงาน จึงถือเป็นความผิดที่ปรากฏชัดแจ้ง และเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง แต่ถ้าไม่มีผู้ใดพบเห็นตัว โดยไม่ทราบว่าอยู่ ณ สถานที่แห่งใด เช่น อาจถูกจับกุม คุมขัง หรือถูกลักพาตัว เป็นต้น ยังไม่อยู่ในเงื่อนไขเป็นความผิดที่ปรากฏชัดแจ้ง นายกฯ ต้องเสนอขอความเห็นชอบไปยัง ก.จังหวัด ให้ออกจากงานไว้ก่อน เพื่อประโยชน์ในการจ่ายค่าตอบแทน (ข้อ ๑๔ (๔) ประกอบข้อ ๕๐ ว ๒)
ดังนั้น กรณีดังกล่าวจะถือว่าเป็นความผิดที่ปรากฏชัดแจ้งได้ นายกฯ ต้องสืบสวนให้ได้ความว่า พนักงานจ้างผู้นั้นละทิ้งหรือทอดทิ้งการทำงานติดต่อกันเป็นเวลาเกินกว่า ๗ วัน โดยไม่มีเหตุผลอันสมควรเสียก่อน จึงจะเสนอขอความเห็นชอบไปยัง ก.จังหวัด ให้ไล่ออกจากงานย้อนหลังไปถึงวันแรกที่เริ่มละทิ้งหรือทอดทิ้งการทำงานนั้น
` แต่หากสืบสวนแล้วไม่ได้ความแน่ชัดว่า มีเหตุอันสมควรหรือไม่ เมื่อมีการละทิ้งหรือทอดทิ้งการทำงานติดต่อกันเกินกว่า ๗ วัน นายกฯ ต้องเสนอ ก.จังหวัด เพื่อขอความเห็นชอบให้ออกจากงานไว้ก่อนเพื่อประโยชน์ในการจ่ายเงินค่าตอบแทน
อ้างอิง :
๑. มาตรฐานทั่วไปเกี่ยวกับพนักงานจ้าง ลงวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๔๗
ข้อ ๔๘ วรรคหนึ่ง
ข้อ ๔๙ วรรคหนึ่ง (๖)
ข้อ ๕๐ วรรคสอง
๒. หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการสอบสวน การลงโทษทางวินัย (พ.ศ.๒๕๕๘/๒๕๕๙)
ข้อ ๔๖ วรรคหนึ่ง (๒)
๓. หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการให้ออกจากราชการ (พ.ศ.๒๕๕๘/๒๕๕๙)
ข้อ ๑๔ วรรคหนึ่ง (๔)
๔. พระราชกฤษฎีกาการจ่ายเงินเดือน เงินปี บำเหน็จ บำนาญ และเงินอื่นในลักษณะเดียวกัน พ.ศ.๒๕๓๕
มาตรา ๑๖ วรรคสอง
ขอบคุณทุกข้อความ ครับ