
คำถาม ๑๒/๒/๖๓
รบกวนสอบถามค่ะ กรณีข้าราชการขาดราชการติดต่อในคราวเดียวกันเกินกว่าสิบห้าวันและไม่มาปฏิบัติราชการอีกเลย ไม่สามารถติดต่อได้ นายกได้มีคำสั่งให้สอบสวนข้อเท็จจริง คณะกรรมการจึงไปสืบสวนข้อเท็จที่บ้านพักอาศัยตามที่ทราบ แต่ไม่พบ พบแต่ภรรยา ภรรยาบอกว่าไม่สามารถติดต่อได้เช่นกัน จึงได้สอบปากคำคามแบบ ปค14ภรรยาไว้เป็นหลักฐาน จึงอยากทราบว่า ขั้นตอนแบบนี้ถูกต้องมั้ยค่ะ และตอนรายงานนายกสามรถใช้แบบรายงาน แบบ สว6 ได้ใช่มั้ยค่ะ เพราะจริงๆแล้วเป็นความผิดชัดแจ้ง นายกไม่ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบก็ได้ แต่เพื่อความเป็นธรรมจึงดำเนินการตามกระบวนการดังกล่าวข้างต้นค่ะ
ตอบ
วิธีการสอบสวนข้อเท็จจริงมิได้ถูกกำหนดว่า ต้องดำเนินการอย่างไร มีเพียงว่า การสืบสวนหรือพิจารณาในเบื้องต้น (การแสวงหาข้อเท็จจริง) จะกระทำได้ โดยการแต่งตั้งกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง กรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง หรือกรรมการตรวจสอบจ้อเท็จจริงก็ได้ (ข้อ ๒๔ ว ๘) เท่านั้น แต่มิได้กล่าวถึง วิธีการ กระบวนการขั้นตอน ไว้แต่อย่างใด
ดังนั้น ผู้มีหน้าที่สอบสวนข้อเท็จจริง จึงมักนำกระบวนการสอบสวนทางวินัยมาใช้เท่าที่จำเป็น
เมื่อนำกระบวนการทางวินัยมาใช้แล้ว ควรหลีกเลี่ยงคำว่า "แบบ สว." ต่าง ๆ เสียสิ้น เช่น สว.๒-๖ (แต่สามารถนำสาระในแบบ สว.เหล่านั้นมาใช้) เพราะอาจทำให้ผู้ไม่สันทัดงานวินัยเข้าใจว่า เป็นการ "สอบสวนวินัย" ทั้งที่เป็นเพียงการ "สอบสวนข้อเท็จจริง" เท่านั้น
บันทึก ป.ค.๑๔ นิยมนำมาใช้ในการสอบปากคำบุคคล เนื่องจากรูปแบบบันทึกมีรายละเอียดให้กรอกค่อนข้างครอบคลุม สามารถนำไปใช้ยันผู้ให้ถ้อยคำในบางกรณีได้
หากถึงคราต้องทำรายงานการสอบสวนข้อเท็จจริงเสนอนายกฯ จะไม่ใช้แบบ สว.๖ (รายงานการสอบสวนทางวินัย) แต่สามารถนำสาระตามแบบดังกล่าว มาใช้เป็นแนวทางในการทำบันทึกรายงานการสอบสวนข้อเท็จจริงได้ เนื่องจากไม่มีกฎห้าม
อนึ่ง กรณีถือว่าเป็นความผิดที่ปรากฎชัดแจ้ง ซึ่งนายกฯ จะดำเนินการทางวินัย โดยไม่สอบสวน หรืองดการสอบสวนก็ได้ [ข้อ ๔๖ (๒)] หรือไม่นั้น สามารถค้นหาคำตอบหลายครั้งก่อนหน้านี้
อ้างอิง :
หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการสอบสวน การลงโทษทางวินัย (พ.ศ.๒๕๕๘/๒๕๕๙)
ขัอ ๒๔ วรรคห้า และวรรคแปด
ข้อ ๔๖ (๒)
ขอบคุณครับ