• Welcome to ชมรมนิติกรองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น:เว็บไซท์อันดับ๑ของวงการท้องถิ่น.
Main Menu

ออกคำสั่งให้ข้าราชการลาออกจากราชการ แต่ปรากฏว่าระหว่างที่บุคคลนั้นปฏิบัติหน้าที่ได้กระทำจัดชื้อโดยผิ

เริ่มโดย admin, 27-02-2020, 06:57:57

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

admin

คำถาม ๒๔/๒/๖๓

มีกรณีที่ อบต กำลังดำเนินการออกคำสั่งให้ข้าราชการลาออกจากราชการ แต่ปรากฏว่าระหว่างที่บุคคลนั้นปฏิบัติหน้าที่ได้กระทำจัดชื้อโดยผิดระเบียบและไม่สามารถเบิกจ่ายให้ผู้ประกอบการได้จำนวน 5 รายได้รับความเสียหาย แต่นายกไม่ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งกรรมการแต่รีบออกคำสั่งให้ลาออกแทน ซึ่งตามวินัย อบต ปี ๕๘ ข้อ ๒๔,ข้อ ๒๘ ถ้าเลยเวลา ๑๘๐ วันนับแต่ลาออกจะไม่สามรถดำเนินการวินัยได้ ดังนั้นเลยอยากสอบอาจารย์ครับว่า ๑.อำเภอและจังหวัดจะแก้ไขอย่างไรที่จะเอาบุคคลนั้นมาดำเนินการสอบข้อเท็จจริงและวินัย ๒.อบต จะมีวิีธีในการเยียวยาความเสียหายแก่ผู้ประกอบการอย่างไร ๓.นายกที่ดำเนินการดังกล่าวเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่
ขอความกรุณาด้วยครับ

ตอบ

          หากนายกฯ ออกคำสั่งให้ลาออกจากราชการ ตั้งแต่วันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๖๒ เป็นต้นมา (วันใดก็ได้) หาจำต้องกังวลเรื่อง ๑๘๐ วันไม่ เพราะถูกยกเลิกไปแล้ว แต่นายกฯ ต้องออกคำสั่งลงโทษทางวินัยอย่างร้ายแรง ภายใน ๓ ปี นับแต่วันที่ผู้นั้นออกจากราชการ (ข้อ ๒๘ ฉบับที่ ๒)

          ประเด็น
         
          ๑. ผู้ลาออกจากราชการไปในขณะยังไม่ถูกแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน นายกฯ จะดำเนินการทางวินัย ได้หรือไม่       
          ๒. ความเสียหายแก่ราชการที่ผู้นั้นได้กระทำลง ต้องดำเนินการอย่างไร
          ๓. นายกฯ มีคำสั่งให้ลาออกจากราชการ ทั้งที่ควรแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยไว้ก่อน มีความผิดหรือไม่ อย่างไร

          สรุป

          ๑. ได้
          ๒. สอบละเมิด
          ๓. อาจผิดได้

          ขยายความ

          ๑. เมื่อมีการกล่าวหาเป็นหนังสือต่อผู้บังคับบัญชา หรือต่อผู้มีหน้าที่สืบสวน สอบสวน หรือตรวจสอบตามกฎหมายว่า ข้าราชการส่วนท้องถิ่นผู้ใดซึ่งออกจากราชการอันมิใช่เพราะเหตุตาย กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงในขณะรับราชการ ให้นายกฯ
               (๑) ออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน ภายใน ๑ ปี และ
               (๒) ออกคำสั่งลงโทษทางวินัยอย่างร้ายแรง (ปลด/ไล่ ย้อนหลังถึงวันออก) ภายใน ๓ ปี นับแต่วันที่ผู้นั้นออกจากราชการ (ข้อ ๒๘ ว ๒)

               หมายเหตุ

               หลักเกณฑ์ที่ว่า กรณีถูกกล่าวหาว่า กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงก่อนออกจากราชการ นายกฯ ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน ภายใน ๑๘๐ วัน นับแต่วันที่ผู้นั้นออกจากราชการ ได้ถูกยกเลิกแล้ว ตั้งแต่วันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๖๒ โดยหลักเกณฑ์วินัย ฉบับที่ ๒ (พ.ศ.๒๕๖๒)

          ๒. ความเสียหายต่อราชการที่ผู้นั้นได้กระทำลงในการปฏิบัติหน้าที่ราชการ แม้ผู้นั้นจะลาออกจากราชการไปแล้ว ก็ยังคงต้องรับผิดทางละเมิด (ม.๑๐) ต่อไป ตามกฎหมายและระเบียบว่าด้วยการนั้น

          ๓. เมื่อปรากฏกรณีมีมูลที่ควรกล่าวหาว่าข้าราชการส่วนท้องถิ่นผู้ใดกระทำผิดวินัยโดยมีพยานหลักฐานในเบื้องต้นอยู่แล้ว ให้นายกฯ ดำเนินการทางวินัยทันที (ข้อ ๒๔ ว ๔) ผู้บังคับบัญชาผู้ใดละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามข้อนี้ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวโดยไม่สุจริต..ในกรณีเป็นนายกฯ ให้ถือว่าไม่ปฏิบัติการตามอำนาจหน้าที่โดยถูกต้องตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ และข้อบังคับของทางราชการ (ข้อ ๒๔ ว ๑๒) อันเป็นเหตุให้ผู้กำกับดูแลต้องดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ดังบัญญัติไว้ในกฎหมายจัดตั้ง อปท.ต่อไป ซึ่งต้องพิจารณาข้อเท็จจริงในการละเลยหรือไม่สุจริตของนายกฯ เป็นเรื่อง ๆ ไปว่าผิดหรือไม่ อย่างไร

          อ้างอิง :

          ๑. หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการสอบสวน การลงโทษทางวินัย (พ.ศ.๒๕๕๘/๒๕๕๙)
               ข้อ ๒๔ วรรคสิบสอง
               ข้อ ๒๘ วรรคสอง (ฉบับที่ ๒)
          ๒. พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.๒๕๓๙
               มาตรา ๑๐ ประกอบระเบียบที่เกี่ยวข้อง
          ๓. พระราชบัญญัติจัดตั้ง อปท.
               (๑) พ.ร.บ.อบจ.๒๕๔๐ มาตรา ๗๗
               (๒) พ.ร.บ.เทศบาล ๒๔๙๖ มาตรา ๗๑
               (๓) พ.ร.บ.เมืองพัทยา ๒๕๔๒ มาตรา ๙๔
               (๔) พ.ร.บ.อบต.๒๕๓๗ มาตรา ๙๐

          ขอบคุณครับ
อยากให้ชาตินี้เป็นชาติสุดท้ายของเรา