• Welcome to ชมรมนิติกรองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น:เว็บไซท์อันดับ๑ของวงการท้องถิ่น.
Main Menu

คำพิพากษา ไม่ต่อสัญญาพนักงานจ้าง สวายจีก บุรีรัมย์

เริ่มโดย admin, 04-10-2019, 16:02:50

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

admin


http://www.nitikon.com/nitikon2021/savayjeeg.pdf

ปล  ดูเป็นกรณีๆ ไปนะ

http://www.nitikon.com/nitikon2021/savayjeeg.htm

------------

การตีความให้กฎหมายมีผลบังคับใช้ :
แม้ไม่มีตำแหน่งแล้วก็มีเหตุสั่งให้พ้นจากตำแหน่งภายหลังได้

สุภาษิตกฎหมายโรมัน
"Interpretion fienda est ut res magis valeat quam percat"
การตีความพึงดำเนินไปในทางที่เป็นผลมากกว่าให้ไร้ผล

"Interpretion talli in ambiguis simper finda est, ut evitetur inconveniens et absurdum"
เมื่อข้อความใดเคลือบคลุม ในการตีความต้องวะเว้นสิ่งที่ไร้ผลและสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

หลักการตีความที่สำคัญไม่ว่าจะเป็นการตีความตามตัวอักษรหรือการตีความตามเจตนารมณ์มีอยู่ว่า ถ้าบทบัญญัติใดบทบัญญัติหนึ่งอาจตีความได้หลายนัย ให้หลีกเลี่ยงการตีความที่ส่งผลให้บทบัญญัติอื่นใช้บังคับไม่ได้ เนื่องจากเป็นไปไม่ได้ที่กฎหมายที่ตราขึ้นนั้น ประสงค์ที่จะไม่ให้กฎเกณฑ์ใดกฎเกณฑ์หนึ่งไร้ผลบังคับ จึงต้องพยายามตีความให้บทบัญญัติทุกบทบัญญัติใช้บังคับได้ ซึ่งอาจจะใช้บังคับได้ไม่เต็มที่ตามถ้อยคำก็ได้

จากกรณีปัญหามีข้อถกเถียงทางวิชาการว่า ถ้าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองกระทำขัดกันแห่งผลประโยชน์เป็นเหตุให้พ้นจากตำแหน่งนั้น "เป็นเรื่องของตำแหน่ง มิใช่เพียงเรื่องบุคคล" หรือ "เรื่องของบุคคล มิใช่เพียงเรื่องตำแหน่ง" ในเรื่องความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดเฉพาะตัวตามมาตรา 182 (7) ประกอบมาตรา 268 และมาตรา 266 ว่า เมื่อบุคคลใดพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีไปแล้ว จะมีเหตุให้พ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 182 (7) อีกหรือไม่ โดยที่ผมได้โต้แย้งว่า แม้จะพ้นจากตำแหน่งไปแล้ว แต่ตัวบุคคลยังดำรงตำแหน่งอื่นอีก ก็มีเหตุที่จะให้พ้นจากตำแหน่งเมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ ทั้งนี้เพราะเป็นการตีความเพื่อมิให้กฎหมายไร้ผลบังคับ ซึ่งบางคนก็เห็นด้วยกับ อ.วรเจตน์ บางคนก็เห็นด้วยกับความเห็นของผม และบางคนก็จะหากรณีศึกษาจากคดีอื่นๆ ที่ใกล้เคียงกันว่ามีแนวคำพิพากษาเคยวินิจฉัยไว้อย่างไร

ดูโพสต์เรื่อง "ผลการฝ่าฝืนการกระทำขัดกันแห่งผลประโยชน์ เป็นเรื่องตำแหน่ง มิใช่ตัวบุคคล จริงหรือ?"

จากการค้นคว้าได้พบคดีศาลปกครองตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.682/2556 ที่มีความใกล้เคียงกันคือ คดีการกระทำที่ขัดกันแห่งผลประโยชน์ของผู้บริหารหรือสมาชิกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในคดีของนายกองค์การบริหารส่วนตำบลที่กระทำขัดต่อมาตรา 92 แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 ซึ่งมีความใกล้เคียงกับมาตรา 182(7) ทั้งเพราะว่ารัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 284 วรรคท้าย บัญญัติให้ให้นำบทบัญญัติมาตรา 265 มาตรา 266 มาตรา 267 และมาตรา 268 มาใช้บังคับกับสมาชิกสภาท้องถิ่น คณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น แล้วแต่กรณี ด้วยโดยอนุโลม โดยที่ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า แม้จะพ้นจากตำแหน่งจากนายกองค์การบริหารส่วนตำบลไปแล้ว (ได้ลาออกในวันเดียวกันที่นายอำเภอมีคำสั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน) หากมีเหตุตามมาตรา 92 นายอำเภอก็ยังมีอำนาจสอบสวนและผู้ว่าราชการจังหวัดยังมีอำนาจที่จะสั่งให้พ้นจากตำแหน่งได้ โดยศาลปกครองสูงสุดให้เหตุผลในการหลักการตีความว่า เป็นการตีความตมเจตนารมณ์ที่กฎหมายมุ่งประสงค์จะให้เกิดผลบังคับใช้ การแปลความตามที่กล่าวมาแล้วจึงย่อมมีเหตุผลและตรงตามเจตนารมณ์ที่กฎหมายบัญญัติไว้ หาได้เป็นการแปลความเพื่อขยายตัวบท

จะเห็นได้ว่า เมื่อคำนึงหลักการตีความให้กฎหมายมีผลบังคับใช้ยิ่งกว่าที่จะให้ไร้ผล กรณีปัญหาว่าบุคคลที่พ้นจากตำแหน่งไปแล้วจะมีเหตุตามกฎหมายที่จะสั่งให้พ้นจากตำแหน่งได้อีก เป็นเรื่องของบุคคล มิใช่เป็นเรื่องเฉพาะตำแหน่งอย่างเดียว

คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.682/2556
เมื่อปี พ.ศ. 2548 ผู้ฟ้องคดีได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลสวายจีก อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ ต่อมา เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2551 นาย ส. สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลสวายจีก กับพวกรวม 10 คน ได้มีหนังสือถึงนายอำเภอเมืองบุรีรัมย์ ขอให้นำข้อเท็จจริงเสนอต่อผู้ถูกฟ้องคดี (ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์) เพื่อวินิจฉัยให้ผู้ฟ้องคดีพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 92 แห่ง พ.ร.บ. สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 กรณีที่ผู้ฟ้องคดีใช้ตำแหน่งหน้าที่กลั่นแกล้งนาย บ. กับพวกรวม 3 ราย ซึ่งเป็นพนักงานจ้างทั่วไปขององค์การบริหารส่วนตำบลสวายจีกโดยการมีคำสั่งไม่ต่อสัญญาจ้างให้แก่พนักงานจ้างทั้งสามราย จนเป็นเหตุให้บุคคลทั้งสามยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองนครราชสีมา และศาลปกครองนครราชสีมาได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2550 ให้องค์การบริหารส่วนตำบลสวายจีกชดใช้ค่าเสียหายให้แก่บุคคลทั้งสามเป็นเงินคนละ 70,560 บาท นอกจากนั้น นาย บ. กับพวกรวม 3 ราย ได้ยื่นฟ้องผู้ฟ้องคดีต่อศาลจังหวัดบุรีรัมย์ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และศาลจังหวัดบุรีรัมย์ได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2551 ลงโทษจำคุกผู้ฟ้องคดี 2 ปี หลังจากที่นายอำเภอเมืองบุรีรัมย์ได้รับหนังสือร้องเรียนดังกล่าวแล้ว จึงได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง คณะกรรมการสอบสวนฯ ได้รายงานผลการสอบข้อเท็จจริงต่อนายอำเภอเมืองบุรีรัมย์ ตามหนังสือลงวันที่ 8 ธันวาคม 2551 ว่าเห็นควรรายงานไปยังผู้ถูกฟ้องคดีเพื่อพิจารณาดำเนินการ ตามมาตรา 92 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ. สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 และในวันเดียวกันผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือถึงนายอำเภอเมืองบุรีรัมย์ ขอลาออกจากตำแหน่ง นายอำเภอเมืองบุรีรัมย์จึงได้มีหนังสือลงวันที่ 9 ธันวาคม 2551 แจ้งว่าได้รับหนังสือลาออกของ ผู้ฟ้องคดีแล้วมีผลทำให้ผู้ฟ้องคดีพ้นจากตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลสวายจีก ตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2551 เป็นต้นไป หลังจากนั้น ผู้ถูกฟ้องคดีจึงได้มีหนังสือลงวันที่ 29 มกราคม 2552 แจ้งให้ผู้ฟ้องคดีทราบว่าผู้ถูกฟ้องคดีได้วินิจฉัยแล้วจึงให้ผู้ฟ้องคดีพ้นจากตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลตามมาตรา 92 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ผู้ฟ้องคดีไม่เห็นด้วย จึงยื่นหนังสือโต้แย้งคำวินิจฉัยของผู้ถูกฟ้องคดี ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดียืนยันตามความเห็นเดิม ผู้ฟ้องคดีจึงนำคดีมาฟ้อง โดยโต้แย้งว่าคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากได้ออกโดยไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนและวิธีการในการพิจารณาทางปกครองหลายประการ คือ...... ผู้ฟ้องคดีอ้างว่า เมื่อผู้ฟ้องคดีได้รับอนุญาตให้ลาออกจากตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลสวายจีกไปก่อนแล้วตามมาตรา 64 (3) แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน ผู้ถูกฟ้องคดีจึงไม่อาจวินิจฉัยให้ผู้ฟ้องคดีพ้นจากตำแหน่งดังกล่าวได้อีกเพราะไม่มีตัวตนของผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวอยู่แล้ว ทั้งเมื่อไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายบัญญัติไว้โดยชัดแจ้งว่าให้วินิจฉัยได้แล้ว จึงต้องแปลความและตีความโดยเคร่งครัด จะแปลความในทางขยายผลให้เป็นโทษแก่ผู้ฟ้องคดีหาได้ไม่นั้น เห็นว่า บทบัญญัติมาตรา 92 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว มิได้มีข้อจำกัดว่าการสอบสวนและวินิจฉัยจะกระทำหลังจากสมาชิกภาพสิ้นสุดลงหรือพ้นจากตำแหน่งแล้วไม่ได้ ในทางตรงกันข้ามหากมีการแปลความว่ามีข้อจำกัดเช่นนั้น ก็จะทำให้มีการหลีกเลี่ยงผลทางกฎหมายในการพ้นจากตำแหน่งโดยไม่สุจริต ทั้งยัง เป็นการเปิดช่องให้มีการกระทำการอันเป็นเหตุที่ต้องห้ามได้ แต่เมื่อถูกสอบสวนก็จะรีบขอลาออกหรือจงใจสร้างเหตุแห่งการพ้นจากตำแหน่งของตนขึ้นด้วยเหตุอื่น เพื่อให้มีผลก่อนการวินิจฉัย ในเรื่องที่ถูกกล่าวหานั้น การที่กฎหมายบัญญัติห้ามมิให้ผู้ดำรงตำแหน่งตามที่ระบุไว้กระทำการ อันไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ย่อมจะไร้ผล และเป็นการผิดจากเจตนารมณ์ที่กฎหมายมุ่งประสงค์จะให้เกิดผลบังคับใช้ กรณีของเรื่องนี้ก็เช่นกัน ผู้ฟ้องคดีได้ขอลาออกจากตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลสวายจีกเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2551 โดยอ้างเหตุความจำเป็นส่วนตัวและปัญหาสุขภาพ แต่หลังจากพ้นจากตำแหน่งเพราะการลาออกแล้ว เมื่อมีการประกาศรับสมัครเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลสวายจีกใหม่ในเดือนธันวาคม 2551 ผู้ฟ้องคดีก็ไปลงสมัครรับเลือกตั้งอีก อันแสดงให้เห็นว่าเป็นการลาออกเพื่อหลีกเลี่ยงผลทางกฎหมายที่ผู้ถูกฟ้องคดีกำลังจะวินิจฉัย การแปลความตามที่กล่าวมาแล้วจึงย่อมมีเหตุผลและตรงตามเจตนารมณ์ที่กฎหมายบัญญัติไว้ หาได้เป็นการแปลความเพื่อขยายตัวบทดังที่ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์ไม่

พระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537
"มาตรา ๙๒ หากปรากฏว่านายกองค์การบริหารส่วนตำบล รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบล ประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบล หรือรองประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบล กระทำการฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อยหรือสวัสดิภาพของประชาชน หรือละเลยไม่ปฏิบัติตามหรือปฏิบัติการไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่ ให้นายอำเภอดำเนินการสอบสวนโดยเร็ว

ในกรณีที่ผลการสอบสวนปรากฏว่านายกองค์การบริหารส่วนตำบล รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบล ประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบล หรือรองประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบล มีพฤติการณ์ตามวรรคหนึ่งจริง ให้นายอำเภอเสนอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งให้บุคคลดังกล่าวพ้นจากตำแหน่ง ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดอาจดำเนินการสอบสวนเพิ่มเติมด้วยก็ได้ คำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดให้เป็นที่สุด"

เครดิตบทความจากเพจ  หลักกฎหมายปกครองวันละเรื่อง  21/05/2014
อยากให้ชาตินี้เป็นชาติสุดท้ายของเรา