ชมรมนิติกรองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น:เว็บไซท์อันดับ๑ของวงการท้องถิ่น

หมวดหมู่ทั่วไป => เตรียมสอบรับราชการท้องถิ่น => หัวข้อที่ตั้งโดย: admin เมื่อ 02-09-2020, 09:26:13

ชื่อ: ตอนที่ 02 รายละเอียดหลักสูตรและวิธีการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเข้ารับราชการ
โดย: admin เมื่อ 02-09-2020, 09:26:13
(http://www.nitikon.com/imageboard/ydzb2.jpg)
เหตุใด ทำไมต้องสอบภาค ก ข และ ค
     ต่อเนื่องจากตอนที่แล้ว หลักสูตรในการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเข้ารับราชการได้กำหนดให้หน่วยดำเนินการสอบ จัดสอบทั้ง 3 ภาค คือ ภาค ก. ภาค ข. และภาค ค. ถ้าเป็นมือใหม่คงไม่เข้าใจและสงสัยว่าคืออะไร ทำไมต้องสอบกันหลายภาคด้วย ดังนั้นเพื่อความเข้าใจในการเตรียมตัวอ่านหนังสือสอบ จะขออธิบายความหมาย และประเด็นสำคัญในการเตรียมตัวสอบ ดังนี้

ภาค ก. ?
        เมื่อสนใจและต้องการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุเข้ารับราชการ เริ่มแรกจะต้องสอบ ภาค ก. หรือมีชื่อเต็มอย่างเป็นทางการว่า "ภาคความรู้ความสามารถทั่วไป" การสอบจะกำหนดคะแนนเต็มไว้ที่ 100 คะแนน
โดยจะทดสอบด้วย "ข้อสอบปรนัย" (ข้อสอบแบบมีตัวเลือก) โดยหน่วยดำเนินการสอบจะคำนึงถึงระดับความรู้ความสามารถที่ต้องการตามระดับตำแหน่ง ซึ่งจะแบ่งเนื้อหาขอบเขตของข้อสอบ ภาค ก. ได้ดังนี้
      (๑) วิชาสามารถในการศึกษา วิเคราะห์และสรุปเหตุผล กำหนดคะแนนเต็ม ๒๕ คะแนน
จะทดสอบความสามารถในการศึกษา วิเคราะห์และสรุปเหตุผล โดยการให้สรุปความหรือจับประเด็นในข้อความหรือเรื่องราว หรือให้วิเคราะห์เหตุการณ์หรือสรุปเหตุผลทางการเมือง เศรษฐกิจ หรือสังคม หรือให้หาแนวโน้มหรือความเปลี่ยนแปลงที่น่าจะเป็นไปตามข้อมูลหรือสมมุติฐาน
จากการสอบในอดีตที่ผ่านมา ในส่วนนี้จะต้องใช้ความรู้ทางด้านคณิตศาสตร์ ข้อสอบเคยออกถึง "การหาค่าของเลขอนุกรม , การหาร้อยละ , โจทย์เงื่อนไขทางคณิตศาสตร์ , การอ่านค่าจากตาราง กราฟ แผนภูมิ"
      (๒) วิชาภาษาไทย กำหนดคะแนนเต็ม ๒๕ คะแนน
จะทดสอบความรู้ความสามารถในการใช้ภาษาไทย โดยการให้สรุปความและหรือตีความจากข้อความสั้นๆ หรือบทความและให้พิจารณาเลือกใช้ภาษาในรูปแบบต่างๆจากคำหรือกลุ่มคำประโยคหรือข้อความสั้นๆ
จากการสอบในอดีตที่ผ่านมา ในส่วนนี้จะต้องใช้ความรู้ทางด้านภาษาไทย ข้อสอบเคยออกถึง "อุปมา อุปไมย , เงื่อนไขทางภาษา , การเรียงประโยค , การเติมคำ , การตีความจากบทความยาว , คำราชาศัพท์ , สำนวน สุภาษิตไทย"
      (๓) วิชาความรู้พื้นฐานในการปฏิบัติราชการ กำหนดคะแนนเต็ม ๕๐ คะแนน
จะทดสอบความรู้เกี่ยวกับกฎหมายระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน กฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งและอำนาจหน้าที่ของ องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล ระเบียบงานสารบรรณ และการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี
จากการสอบในอดีตที่ผ่านมา ในส่วนนี้จะต้องใช้ความรู้ทางด้านกฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้องกับท้องถิ่น "โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญ หมวดที่ 14 ว่าด้วยการปกครองท้องถิ่น , พระราชบัญญัติ อบจ./เทศบาล/อบต."

ภาค ข. ?
     หลังจากการสอบภาค ก. เราก็ต้องมาสอบภาค ข. (ภาคความสามารถเฉพาะตำแหน่ง) ว่าง่ายๆ ก็คือความรู้ความเข้าใจในตำแหน่งที่เราสมัครสอบ (เหมือนกับเวลาเราไปสมัครงานบริษัทเอกชน เราก็ต้องรู้ใช่ไหมว่าตำแหน่งที่เราสมัครต้องทำหน้าที่อะไรบ้าง ซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้องรู้ *งานราชการก็เช่นกัน)
     ซึ่งภาคความรู้ความสามารถเฉพาะสำหรับตำแหน่ง(ภาค ข) กำหนดคะแนนเต็มไว้ที่ ๑๐๐ คะแนน
โดยจะทดสอบความรู้ความสามารถในทางที่จะใช้ในการปฏิบัติงานในหน้าที่โดยเฉพาะตามที่ระบุไว้ในมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง โดยวิธีการสอบข้อเขียนหรือวิธีสอบปฏิบัติ หรือวิธีอื่นใดวิธีหนึ่งหรือหลายวิธีก็ได้ตามความเหมาะสม แต่ทั้งนี้จะรวมสอบเป็นวิชาเดียวหรืออย่างเดียว หรือแยกสอบเป็นสองวิชาหรือสองอย่าง แต่เมื่อรวมคะแนนทุกแบบทดสอบแล้วต้องมีคะแนนเต็ม ๑๐๐ คะแนน โดยเมื่อจะทดสอบความรู้ความสามารถในทางใดและโดยวิธีใด หน่วยดำเนินการสอบจะระบุไว้ในประกาศรับสมัครสอบด้วย

     ยกตัวอย่างเช่น ถ้าสมัครตำแหน่งเจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป ก็ต้องเตรียมอ่านแล้วว่า ตำแหน่งนี้ทำหน้าที่อะไร รับผิดชอบอะไรบ้าง พรบ.หรือข้อกฎหมายที่เราควรทราบ อย่างเช่น  งานพัสดุ งานสารบรรณ งานเลขานุการ งานบริหารบุคคล เป็นต้น สามารถศึกษาหน้าที่และลักษณะงานของแต่ละตำแหน่งของท้องถิ่นได้ตาม "มาตรฐานกำหนดตำแหน่ง ของ อบจ./เทศบาล/อบต." (http://local.chiangmai.go.th/noui/math/) และที่สำคัญต้องสังเกตในส่วนท้ายของประกาศการรับสมัครสอบด้วยว่า "ขอบเขตเนื้อหาในการสอบตำแหน่งนั้นๆ จะออกเนื้อหาในส่วนใดบ้าง" ซึ่งส่วนใหญ่ที่ผ่านมาหน่วยดำเนินการสอบจะระบุแจ้งไว้อย่างชัดเจน

ภาค ค. ?
    ภาค ค. (ภาคความเหมาะสมเฉพาะตำแหน่ง) ก็คือ "การสอบสัมภาษณ์" นั่นเอง ซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้าย
ซึ่งภาคความเหมาะสมกับตำแหน่ง (ภาค ค) กำหนดคะแนนเต็มไว้ที่ ๑๐๐ คะแนน โดยจะประเมินบุคคลเพื่อพิจารณาความเหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่จากประวัติส่วนตัว ประวัติการศึกษา ประวัติการทำงานและพฤติกรรมที่ปรากฏทางอื่นของผู้เข้าสอบ "จากการสัมภาษณ์" ทั้งนี้หน่วยดำเนินการสอบอาจใช้วิธีการอื่นใดเพิ่มเติมอีกก็ได้ เพื่อพิจารณาความเหมาะสมในด้านต่างๆ เช่น ความรู้ที่อาจใช้ประโยชน์ในการปฏิบัติงานในหน้าที่ ความสามารถ ประสบการณ์ ท่วงทีวาจา อุปนิสัย อารมณ์ ทัศนคติ จริยธรรมและคุณธรรม การปรับตัวเข้ากับผู้ร่วมงาน รวมทั้งสังคมและสิ่งแวดล้อม ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ปฏิภาณไหวพริบ และบุคลิกภาพอย่างอื่น เป็นต้น

     การดำเนินการสอบ ภาค ก ภาค ข และภาค ค อาจจะดำเนินการทดสอบในคราวเดียว หรือดำเนินการสอบภาคหนึ่ง ภาคใดก่อนก็ได้ ทั้งนี้หน่วยดำเนินการสอบแข่งขันจะประกาศชัดเจนในประกาศรับสมัครสอบ ขอให้ผู้เข้าสอบอ่านและศึกษาประกาศการสอบให้ละเอียดด้วย

เกณฑ์การตัดสินการสอบ
     การตัดสินว่าผู้ใดเป็นผู้สอบแข่งขันได้ให้ถือเกณฑ์ว่าต้องเป็นผู้สอบได้คะแนนในภาคความรู้ความสามารถทั่วไป(ภาค ก) ภาคความรู้ความสามารถที่ใช้เฉพาะสำหรับตำแหน่ง (ภาค ข) และภาคความเหมาะสมกับตำแหน่ง (ภาค ค) ที่สอบตามหลักสูตรแต่ละภาคไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๖๐ โดยหน่วยดำเนินการสอบจะนำคะแนนจากการสอบภาคความรู้ความสามารถทั่วไป(ภาค ก) ภาคความรู้ความสามารถที่ใช้เฉพาะสำหรับตำแหน่ง(ภาค ข) และภาคความเหมาะสมกับตำแหน่ง (ภาค ค) มารวมกัน ทั้งนี้จะคำนึงถึงหลักวิชาการวัดผลด้วย

     ผู้ที่สนใจจะเข้ารับราชการในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็น อบจ. เทศบาล และอบต. จะต้องเข้าสู่กระบวนการสอบตามหลักเกณฑ์ข้างต้น โดยจะต้องเริ่มจากสอบภาค ก. ภาค ข. และภาค ค. เรียงตามลำดับไป ซึ่งการสอบนั้น อาจจะสอบทั้ง 3 ภาคพร้อมกัน หรือแยกการสอบออกเป็นการสอบภาคใดก่อนก็ได้ โดยผู้เข้าสอบต้องอ่านระเบียบการสอบให้ดี
     การสอบทั้ง ภาค ก. ภาค ข. และภาค ค. แต่ละภาคนั้นจะต้องได้คะแนนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60 จากนั้นการขึ้นบัญชีผู้สอบแข่งขันได้ หน่วยดำเนินการสอบจะเอาคะแนนภาค ก. ภาค ข. และภาค ค. มารวมกัน และประกาศบัญชีผู้สอบแข่งขันได้ให้ทราบต่อไป

     แนวข้อสอบก็จะออกตามหลักเกณฑ์ข้างต้น ซึ่งผู้ที่สนใจจะสอบนั้น ควรขยันทำสอบข้อเก่าๆ เพื่อทำความเข้าใจในหลักการหาคำตอบที่ถูกต้อง ซึ่งข้อสอบเก่าๆที่ผ่านมา จะเป็นอาจารย์ของเราได้อย่างดี การสอบครั้งนี้เป็นการสอบแข่งขันระดับประเทศ ดังนั้นต้องขยันอ่านหนังสือ ต้องสร้างระเบียบวินัยในการอ่านหนังสือให้กับตัวเอง การสอบนอกจากแข่งขันกับตัวเองแล้ว ยังต้องทำคะแนนแข่งขันกับผู้สอบคนอื่นๆอีกมากมาย โดยหลักการอ่านหนังสือนั้น ผู้เขียนจะนำมาอธิบายเผยแพร่ในโอกาสต่อไป
     การสอบครั้งนี้ เป็นศึกการสอบที่ยิ่งใหญ่กว่าทุกครั้งที่เคยมีมา ดังนั้นอยากให้ทุกท่านเตรียมตัวเองให้พร้อมสอบอยู่เสมอ อย่ากังวลกับวันประกาศรับสมัครสอบ อย่ากังวลกับอัตรากำลังที่เปิดรับ ขอให้ท่านอ่านหนังสือ ทบทวนความรู้ความเข้าใจอยู่เสมอ จากนี้ไปใช้ทุกวันก่อนสอบให้คุ้มค่า ถามตัวเองดูว่า "อ่านหนังสือพอหรือยัง? เข้าใจแล้วหรือยัง? มีความตั้งใจทุ่มเทขนาดไหน?" มีความพร้อมที่จะแข่งกับคนอื่นหรือยัง?
     

>>> ตอนต่อไป : ตอนที่ 3 จะพูดถึงการขึ้นบัญชี-การใช้บัญชี และเงื่อนไขการบรรจุแต่งตั้ง