ชมรมนิติกรองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น:เว็บไซท์อันดับ๑ของวงการท้องถิ่น

เกี่ยวกับการทำงานที่น่าสนใจ => เกี่ยวกับวินัยทั้งหมด => หัวข้อที่ตั้งโดย: admin เมื่อ 28-02-2020, 07:20:34

ชื่อ: กรณี พนง.ถูกศาลชั้นต้นตัดสินให้จำคุก 6 เดือนไม่รอลงอาญา พนง.คนนั้นต้องออกจากราชการก่อนหรือไม่???
โดย: admin เมื่อ 28-02-2020, 07:20:34
(http://www.nitikon.com/imageboard/17-1-63.jpg)
คำถาม  ๑๗/๑/๖๓
กรณีที่พนักงานถูกยื่นฟ้องศาลแล้วศาลชั้นต้นตัดสินให้จำคุก 6 เดือนไม่รอลงอาญาเราต้องให้พนักงานคนนั้นออกจากราชการก่อนไหมคะ

ตอบ

          ไม่พบข้อมูลสำคัญ เช่น คดีถึงที่สุดแล้วหรือไม่ หรืออยู่ระหว่างอุทธรณ์ และผู้นั้นได้รับการประกันตัวในระหว่างอุทธรณ์หรือไม่ นายกฯ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงแล้วหรือไม่ อย่างไร เป็นต้น

          หลักการที่เกี่ยวข้อง มีดังนี้

          ๑. กรณีข้าราชการส่วนท้องถิ่นถูกฟ้องคดีอาญา นายกฯ ต้องตั้งกรรมการสอบวินัยไปพร้อมกัน (ว ๔)
          ๒. เหตุในการสั่งให้ข้าราชการส่วนท้องถิ่นออกจากราชการไว้ก่อน โดยความเห็นชอบของ ก.จังหวัด อย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
               ถ้าปรากฏว่าผู้นั้น
               (๑) ถูกแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง และนายกฯ เห็นว่าอยู่ในราชการต่อไปจะเกิดความเสียหาย
               (๒) ถูกฟ้องคดีอาญาในเรื่องเกี่ยวกับหน้าที่ราชการ โดยอัยการไม่รับเป็นทนายแก้ต่างให้ และนายกฯ เห็นว่าอยู่ในราชการต่อไปจะเกิดความเสียหาย
               (๓) มีพฤติการณ์จะเป็นอุปสรรคต่อการสอบสวนพิจารณาหรือจะก่อความไม่สงบเรียบร้อยขึ้น
               (๔) อยู่ระหว่างถูกควบคุม ขัง หรือจำคุกติดต่อกันเกินกว่า ๑๕ วันแล้ว
               (๕) ถูกแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทั้งก่อนและหลังมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าผิดอาญาในเรื่องที่สอบสวน และนายกฯ เห็นว่าข้อเท็จจริงชัดแล้วว่าผิดวินัยอย่างร้ายแรง
               (ข้อ ๑๔ ประกอบข้อ ๑๙)

          ดังนั้น ตามคำถาม นายกฯ จะสั่งให้ข้าราชการส่วนท้องถิ่นออกจากราชการไว้ก่อน ต้องเข้าเงื่อนไขดังกล่าว ไม่เช่นนั้น นายกฯ จะไม่อาจสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน โดยความเห็นชอบของ ก.จังหวัดได้

          และกรณีศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้จำคุก ๖ เดือน โดยไม่รอลงอาญา หากจำเลยได้รับการประกันตัวออกมาสู้คดีในชั้นอุทธรณ์ และไม่มีเหตุดังข้างต้น นายกฯ ก็ไม่อาจสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนได้ เช่นเดียวกัน

          อ้างอิง :

          ๑. หนังสือสำนักงาน ก.พ.ที่ สร ๐๙๐๕/ว ๔ ลงวันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๐๙
          ๒. หนังสือกระทรวงมหาดไทย ลับ ที่ ๑๓๓๓๓/๒๔๙๘ ลงวันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๔๙๘
          ๓. หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการให้ออกจากราชการ (พ.ศ.๒๕๕๘/๒๕๕๙)
               ข้อ ๑๔ วรรคหนึ่ง
               ข้อ ๑๙ วรรคหนึ่ง

           ขอบคุณครับ