ชมรมนิติกรองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น:เว็บไซท์อันดับ๑ของวงการท้องถิ่น

เกี่ยวกับการทำงานที่น่าสนใจ => เกี่ยวกับวินัยทั้งหมด => หัวข้อที่ตั้งโดย: admin เมื่อ 28-02-2020, 04:47:55

ชื่อ: ขาดราชการติดต่อกันเกิน 15 วัน เนื่องจากถูกลงโทษจำคุก สามารถระงับการเบิกจ่ายเงินเดือนและอื่นๆได้หรือไ
โดย: admin เมื่อ 28-02-2020, 04:47:55
(http://www.nitikon.com/imageboard/29-1-63.jpg)
คำถาม  ๒๙/๑/๖๓
กรณีพนักงานครูเทศบาล ขาดราชการติดต่อกันเกินว่า 15 วัน โดยไม่ทราบสาเหตุนั้น  ถื่อเป็นการกระทำผิดทางวินัยที่ปรากฏชัดแจ้ง สมควรแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงหรืออาจจะไม่แต่งตั้งก็ได้ เพื่อดำเนินการทางวินัยกับบุคคลดังดังกล่าว  แต่ทางกองการศึกษามาทราบภายหลังว่าถูกดำเนินคดีทางอาญาฐานยักยอกทรัพย์มรดก และได้รับโทษหนักให้จำคุก 1 ปี โดยไม่รอการลงโทษ  ซึ่งถือว่าเป็นความผิดที่หนักกว่าความผิดการขาดราชการเกินกว่า 15 วัน และมีความเห็นดังนี้ 1. ระงับการเบิกจ่ายเงินเดือน และสทิธิ/สวัสดิการต่างๆ 2. ให้ประสานงานกับศาลจังหวัดเพื่อให้ทราบเรื่องที่ชัดเจนว่าคดีได้ถึงที่สุดแล้วหรือยัง และข้อ 3 หากคดีนี้ได้ถึงที่สุดแล้ว ให้ดำเนินการตามประกาศคณะกรรมการพนักงานเทศบาลจังหวัด เรื่องหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการให้ออกจากราชการ  ความเห็นนี้ถูกต้องหรือไม่ค่ะ  หรือ ต้องมาแต่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงหรือไม่ประการใด ขอความกรุณาชี้แนะด้วยค่ะอาจารย์/ขอบพระคุณมากค่ะ

ตอบ

          เพิ่งตอบไปว่า
          "การออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง ต้องมีมูลเพียงพอเสียก่อนว่า มีการละทิ้งการทำงานจริง แต่การตรวจสอบเฉพาะสมุดลงเวลามาปฏิบัติงานอย่างเดียว บางครั้งอาจไม่เพียงพอ ดังนั้น จึงต้องมีการสืบสวนหรือพิจารณาในเบื้องต้นก่อนว่า มีมูลว่าเขากระทำผิดวินัยหรือไม่ (ข้อ ๒๔ ว ๕) " (คำถาม  ๒๗/๑/๖๓)
          การสืบสวนหรือพิจารณาในเบื้องต้น อาจกระทำได้ โดยการตั้งกรรมการ
          ๑. สืบสวน
          ๒. สอบสวน หรือ
          ๓. ตรวจสอบ
          ข้อเท็จจริง ก็ได้ (ข้อ ๒๔ ว ๘)

          ดังนั้น กรณีที่จำต้องสืบสวนหรือพิจารณาในเบื้องต้นว่ามีมูลเพียงพอที่จะดำเนินการทางวินัยได้หรือไม่ เช่น
          ๑. มีหนังสือร้องเรียนโดยปรากฏตัวผู้ร้อง
          ๒. มีกรณีเป็นที่สงสัยว่าข้าราชการส่วนท้องถิ่นกระทำผิดวินัย
          โดยยังไม่มีพยานหลักฐานในเบื้องต้น (ข้อ ๒๔ ว ๕) ซึ่งการไม่ลงชื่อมาปฏิบัติราชการ บางครั้งอาจอยู่ในความหมายนี้ (ต้องพิจารณาข้อเท็จจริงเป็นเรื่อง ๆ ไป)

          สรุป 

          ๑. ข้าราชการผู้ใดไม่มาทำงาน (โดยไม่อาจอ้างกฎหมายได้) ผู้นั้นไม่มีสิทธิได้รับเงินเดือน
          ๒. และ ๓. ถูกต้องแล้ว

          ขยายความ

          ๑. เงินเดือนเป็นเงินที่จ่ายให้กับผู้มีสิทธิได้รับเท่านั้น ผู้ที่ไม่มาทำงานโดยไม่อาจอ้างกฎหมายได้ ย่อมไม่มีสิทธิได้รับเงินดังกล่าว รวมถึงสิทธิสวัสดิการด้านอื่น ๆ ด้วย (ม.๑๖ ว ๒)
          ๒. กรณีข้าราชการส่วนท้องถิ่นผู้ใดถูกควบคุม ขัง หรือจำคุกในคดีอาญาติดต่อกันเกินกว่า ๑๕ วัน [ข้อ ๑๔ (๔)] ผู้นั้นมีหน้าที่ต้องรายงานให้นายกฯ ทราบ เพื่อขอความเห็นชอบให้ออกจากราชการไว้ก่อน และเพื่อประโยชน์ในการจ่ายเงินเดือน คดีดังกล่าวจำเลยคงปกปิดสถานะความเป็นข้าราชการ และไม่กล้ารายงานให้นายกฯ ทราบ เป็นเหตุให้นายกฯ ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง ดังนั้น ต้นสังกัดชอบที่จะมีหนังสือสอบถามผลคดีไปยังศาลเพื่อดำเนินการต่อไป
          ๓. กรณีข้าราชการส่วนท้องถิ่นต้องหาคดีอาญา หรือถูกฟ้องคดีอาญา นายกฯ ต้องดำเนินการทางวินัยไปพร้อมกัน (ว ๔) ซึ่งกรณีนี้ยังไม่มีการดำเนินการใด ๆ อาจเข้าข่ายละเลยหรือไม่สุจริต (ข้อ ๒๔ ว ๑๒) แต่อย่างไรก็ตาม นายกฯ อาจไม่ทราบข้อมูลด้วยเหตุผลข้างต้น
               ดังนั้น เมื่อ (ความปรากฏต่อนายกฯ ว่า) ข้าราชการส่วนท้องถิ่นในสังกัดต้องคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุก ๑ ปี โดยไม่รอลงอาญา นายกฯ จึงต้องดำเนินการทางวินัยทันที (ขัอ ๒๔ ว ๔) โดยไม่ต้องตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงอีก
               ส่วนกรณีเป็นความผิดที่ปรากฏชัดแจ้ง ซึ่งนายกฯ จะดำเนินการทางวินัยโดยไม่สอบสวน หรืองดการสอบสวนได้นั้น ต้องเป็นกรณีคำพิพากษาถึงที่สุด [ข้อ ๔๖ (๑)] เท่านั้น

          อ้างอิง :

          ๑. พระราชกฤษฎีกาการจ่ายเงินเดือน เงินปี บำเหน็จ บำนาญ และเงินอื่นในลักษณะเดียวกัน พ.ศ.๒๕๓๕
              มาตรา ๑๖ วรรคสอง
              มาตรา ๒๑ วรรคหนึ่ง
              มาตรา ๒๒
          ๒. หนังสือสำนักงาน ก.พ.ที่ สร ๐๙๐๕/ว ๔ ลงวันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๐๙
          ๓. หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการสอบสวน การลงโทษทางวินัย (พ.ศ.๒๕๕๘/๒๕๕๙)
              ข้อ ๑๕
              ข้อ ๑๗ วรรคสอง
              ข้อ ๒๓ วรรคสอง
              ข้อ ๒๔ วรรคสี่ วรรคห้า วรรคเจ็ด และวรรคสิบสอง
              ข้อ ๔๖ (๑)
          ๔. หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการให้ออกจากราชการ (พ.ศ.๒๕๕๘/๒๕๕๙)
               ข้อ ๑๔ (๔)

          ขอบคุณครับ