ชมรมนิติกรองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น:เว็บไซท์อันดับ๑ของวงการท้องถิ่น

เกี่ยวกับการทำงานที่น่าสนใจ => เกี่ยวกับวินัยทั้งหมด => หัวข้อที่ตั้งโดย: admin เมื่อ 28-02-2020, 04:10:31

ชื่อ: พนง.เทศบาล มีคำพิพากษาจำคุก ขาดราชการเกิน 15 วัน ต้องตั้งกรรมการสอบวินัยหรือไม่ สิ้นสุดสภาพวันต้องคำ
โดย: admin เมื่อ 28-02-2020, 04:10:31
(http://www.nitikon.com/imageboard/3-2-63.jpg)
คำถาม  ๓/๒/๖๓

กรณีพนักงานเทศบาลมีคำพิพากษาจำคุก ตอนนี้ได้ถูกกุมตัวเข้าเรือนจำแล้ว เนื่องจากประกันตัวออกมาแล้วไม่อุทธรณ์
2.พนักงานเทศบาลรายนี้ขาดราชการเกิน15วัน

อยากทราบว่าอปท.ต้องตั้งกรรมการสอบวินัยไหมค่ะ
2.พนักงานเทศบาลรายนี้สิ้นสุดสภาพวันที่ต้องคำพิพากษา หรือวันที่จับกุมตัวเข้าเรือนจำ

ขอบพระคุณล่วงหน้าสำหรับคำตอบค่ะ🙏

ตอบ

          ประเด็น

          ๑. ข้าราชการส่วนท้องถิ่นถูกควบคุม ขัง หรือจำคุกในคดีอาญา ถือว่าละทิ้งหน้าที่ราชการหรือไม่
          ๒. กรณีดังกล่าวต้องตั้งกรรมการสอบสวนหรือไม่
          ๓. สภาพความเป็นข้าราชการสิ้นสุดลงเมื่อใด

          สรุป

          ๑. ไม่ถือว่าละทิ้งหน้าที่ราชการโดยไม่มึเหตุผลอันสมควร แต่..
          ๒. หากคดีถึงที่สุด ย่อมเป็นดุลพินิจของนายกฯ ว่าจะดำเนินการทางวินัยโดยไม่สอบสวน หรืองดการสอบสวนหรือไม่ เนื่องจากเป็นความผิดที่ปรากฏชัดแจ้ง
          ๓. เมื่อดำเนินการครบถ้วนแล้ว ปกติถือวันต้องถูกควบคุม ขัง หรือจำคุกในคดีอาญาเป็นวันสิ้นสภาพความเป็นข้าราชการ

          ขยายความ

          ๑. นายกฯ ต้องดำเนินการ ดังนี้   
               (๑) รายงานไปยัง ก.จังหวัดเพื่อขอความเห็นชอบให้ออกจากราชการไว้ก่อน หากถูกควบคุม ขัง หรือจำคุกในคดีอาญาเกินกว่า ๑๕ วันแล้ว [ข้อ ๑๔ (๕)]
               (๒) ดำเนินการทางวินัยไปพร้อมกัน (ว ๔)
          ๒. เมื่อคดียังไม่ถึงที่สุด ไม่ถือเป็นความผิดที่ปรากฏชัดแจ้ง นายกฯ ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง (ข้อ ๒๖ ว ๖)
          ๓. เพียงถูกคุมขัง หรือจำคุกในคดีอาญา สภาพความเป็นข้าราชการยังคงอยู่ และสิ้นสุดลงเมื่อ
               (๑) กรณีถูกแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง ก.จังหวัด มีมติให้ลงโทษปลดออก/ไล่ออกจากราชการ เนื่องจากต้องโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก (ข้อ ๒๓ ว ๒) (การสอบสวนแล้วเสร็จ มักล่วงเลยระยะเวลาอุทธรณ์/ฎีกาแล้ว) โดยนายกฯ ต้องออกคำสั่งลงโทษปลดออก/ไล่ออกจากราชการ ตามมติ ก.จังหวัด ตั้งแต่วันต้องรับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุด หรือวันต้องคำพิพากษาถึงที่สุด หรือวันถูกคุมขังติดต่อกันจนถึงวันต้องคำพิพากษาถึงที่สุด แล้วแต่กรณี [ข้อ ๓๓ (๓)]
               (๒) กรณีข้างต้นมีผลทำให้พ้นจากสภาพความเป็นข้าราชการส่วนท้องถิ่น/พนักงานจ้าง (ม.๑๕ ว ๑)

          อ้างอิง :

          ๑. หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการให้ออกจากราชการ (พ.ศ.๒๕๕๘/๒๕๕๙)
               ข้อ ๑๔ (๕)
               ข้อ ๓๓ (๓)
          ๒. หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการสอบสวน การลงโทษทางวินัย (พ.ศ.๒๕๕๘/๒๕๕๙) 
               ข้อ ๒๓ วรรคสอง
               ข้อ ๒๖ วรรคหก
               ข้อ ๔๖ วรรคหนึ่ง (๑)
          ๓. หนังสือสำนักงาน ก.พ.ที่ สร ๐๙๐๕/ว ๔ ลงวันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๐๙
          ๔. พระราชบัญญัติระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ.๒๕๔๒
               มาตรา ๑๕ วรรคหนึ่ง

          ขอบคุณครับ