• Welcome to ชมรมนิติกรองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น:เว็บไซท์อันดับ๑ของวงการท้องถิ่น.
Main Menu

ตั้งกรรมการสอบสวนไม่ชอบ ผู้ถูกล่าวหาย้ายที่ทำงาน ที่เดิมหรือที่ใหม่ต้องตั้งกรรมการสอบ?

เริ่มโดย admin, 28-02-2020, 04:02:56

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

admin


คำถาม  ๕/๒/๖๓
ขอสอบถามครับกรณี​แต่งตั้งคณะกรรมการ​สอบวินัยไม่ชอบเพราะประธาน​ดำรงตำแหน่งต่ำกว่าผู้ถูกกล่าวหา​  โดยผู้ถูกกล่าวหาเป็นนักบริหารท้องถิ่นกลาง​(ปลัด)​ ส่วนประธานเป็นนักบริหารท้องถิ่นกลาง​ (รองปลัด)​ ต่อมาผู้ถูกกล่าวหาโอนย้ายไปอปท.อื่น​ อยากทราบว่าต้นสังกัดเดิมหรือต้นสังกัดใหม่จะต้องตั้งกรรมการสอบสวน​  ตามระเบียบข้อไหนครับ

ตอบ

          ประธานกรรมการสอบสวน ต้องมีตำแหน่งระดับไม่ต่ำกว่าหรือเทียบได้ไม่ต่ำกว่าผู้ถูกกล่าวหา ตามที่ ก.กลางกำหนด (ข้อ ๔๙ ว ๑) หากประธานกรรมการสอบสวนมีตำแหน่งระดับต่ำกว่าหรือเทียบได้ต่ำกว่าผู้ถูกกล่าวหา ให้การสอบสวนทั้งหมดเสียไป ให้นายกฯ แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยขึ้นทำการสอบสวนใหม่ให้ถูกต้อง (ข้อ ๗๙)

          ก.กลาง ได้กำหนดตำแหน่ง/ระดับของประธานกรรมการสอบสวน (ว ๒๐) ไว้ สรุปได้ ดังนี้
          ๑. ข้าราชการส่วนท้องถิ่น สามารถเป็นประธานกรรมการสอบสวนวินัยข้าราชการส่วนท้องถิ่น ได้ทุกตำแหน่ง/ระดับ
          ๒. ข้าราชการพลเรือนสามัญ สามารถเป็นประธานกรรมการสอบสวนวินัยข้าราชการส่วนท้องถิ่น ได้ทุกตำแหน่ง/ระดับ

          หมายเหตุ

          ๑. ข้าราชการส่วนท้องถิ่นที่จะสามารถเป็นประธานกรรมการสอบสวนได้ ต้องมีทั้งตำแหน่ง/ระดับ ไม่ต่ำกว่าหรือเทียบได้ไม่ต่ำกว่าผู้ถูกกล่าวหา เช่น ปลัด อปท.ระดับต้น ไม่อาจเป็นประธานกรรมการสอบสวนรองปลัด อปท.ระดับกลางได้ เนื่องจากระดับต่ำกว่าผู้ถูกกล่าวหา หรือรองปลัด อปท.ระดับกลาง ไม่อาจเป็นประธานกรรมการสอบสวนปลัด อปท.ระดับกลางได้ เนื่องจากตำแหน่งต่ำกว่า แม้จะเป็นระดับกลางเช่นกันก็ตาม เป็นต้น แต่สามารถเป็นกรรมการ หรือเลขานุการได้
          ๒. ข้าราชการฝ่ายพลเรือน เช่น ครู ตำรวจ อัยการ เป็นต้น ไม่อาจแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการสอบสวนวินัยข้าราชการส่วนท้องถิ่นได้ แต่สามารถเป็นกรรมการ หรือเลขานุการได้

          ประเด็น

          ๑. รองปลัด อปท.ระดับกลาง เป็นประธานกรรมการสอบสวนวินัยปลัด อปท.ระดับกลาง ได้หรือไม่
          ๒. กรณีตามข้อ ๑. หากผู้ถูกกล่าวหาโอน (ย้าย) สังกัด ต้องปฏิบัติอย่างไร

          สรุป

          ๑. ไม่ได้
          ๒. สังกัดใหม่เป็นผู้ออกคำสั่ง

          ขยายความ

          ๑. การแต่งตั้งรองปลัด อปท.ระดับกลาง ซึ่งมีตำแหน่งต่ำกว่าเป็นประธานกรรมการสอบสวนวินัยปลัด อปท.ระดับกลาง คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนดังกล่าว ย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมาย (ข้อ ๔๙ ว ๑ ประกอบ นส.ว ๒๐) จึงทำให้การสอบสวนทั้งหมดเสียไป นายกฯ ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นทำการสอบสวนใหม่ให้ถูกต้อง (ข้อ ๗๙)
          ๒. เมื่อคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนไม่ชอบ ถือว่ายังไม่มีการแต่งตั้งกรรมการสอบสวนผู้ถูกกล่าวหาในเรื่องดังกล่าวมาแต่ต้น ต่อมาผู้ถูกกล่าวหาได้โอนสังกัด ย่อมเป็นหน้าที่และอำนาจของนายกฯ สังกัดใหม่ (ปัจจุบัน) ณ วันออกคำสั่ง กรณีนี้หาใช่เป็นการโอนสังกัดในระหว่างการสอบสวน (ข้อ ๗๔ ว ๑) ที่นายกฯ สังกัดเดิมต้องออกคำสั่งเปลี่ยนแปลงแก้ไขคำสั่งเดิม (ข้อ ๕๖ ว ๑) แต่อย่างใดไม่ เพราะคำสั่งแรกเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าวแล้ว
               ดังนั้น นายกฯ สังกัดใหม่จึงมีหน้าที่และอำนาจในการออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน (ข้อ ๒๖ ว ๖) โดยนายกฯ สังกัดเดิมต้องมีหนังสือชี้มูลไปยังนายกฯ สังกัดใหม่ ให้เป็นพยานหลักฐานในเบื้องต้น (ข้อ ๒๔ ว ๔) เพื่อดำเนินการต่อไป

          อ้างอิง :

          ๑. หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการสอบสวน การลงโทษทางวินัย (พ.ศ.๒๕๕๘/๒๕๕๙)
               ข้อ ๒๔ วรรคสี่
               ข้อ ๒๖ วรรคหก
               ข้อ ๔๙ วรรคหนึ่ง
               ข้อ ๕๖ วรรคหนึ่ง
               ข้อ ๗๔ วรรคหนึ่ง
               ข้อ ๗๙
          ๒. หนังสือสำนักงาน ก.จ., ก.ท. และ ก.อบต.ที่ มท ๐๘๐๙.๕/ว ๒๐ ลงวันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๖๑

          ขอบคุณทุกข้อความ ครับ
อยากให้ชาตินี้เป็นชาติสุดท้ายของเรา