• Welcome to ชมรมนิติกรองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น:เว็บไซท์อันดับ๑ของวงการท้องถิ่น.
Main Menu
Menu

Show posts

This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.

Show posts Menu

Topics - admin

#121

คำถาม  ๒๔/๑/๖๓
1.กรณีที่ศาลปกครองสูงสูดมีคำพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งลงโทษปลดออก เนื่องจากเห็นว่าเป็นความผิดวินัยฐานที่นอกเหนือจากที่กำหนดในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ป.ป.ช.ซึ่งกำหนดให้ใช้สำนวนสอบสวนของ ป.ป.ช.ในการสั่งลงโทษได้ กรณีนี้ไม่ได้ตั้งคณะกรรมการสอบวินัยก่อน แต่มีการยึดสำนวนการชี้มูลของ ป.ป.ช.ลงโทษ เห็นว่าเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลสั่งเพิกถอนคำสั่งลงโทษดังกล่าวพร้อมทั้งให้คืนสิทธิประโยชน์ที่พึงได้รับเสมือนมิได้ถูกลงโทษปลดออก เมื่อได้เพิกถอนคำสั่งลงโทษแล้ว สามารถดำเนินการคืนสิทธิประโยชน์ที่พึงได้รับ คือส่วนเงินเดือนในระหว่างที่ถูกปลดออกได้เลยหรือไม่หรือต้องรอกระบวนการทางวินัยเสร็จสิ้นก่อนคะ
2.การคืนเงินเดือนในระหว่างถูกปลดออก หากผู้ฟ้องคดีมีหนี้ที่ต้องชำระให้กับหน่วยงานสามารถทำสัญญาหักกลบลบหนี้ได้หรือไม่คะ มีกฎหมายระเบียบที่กำหนดไว้หรือไม่ ขอบคุณมากค่ะ

ตอบ

          สรุป

          ๑. เงินเดือนระหว่างปลดออกจากราชการ จะจ่ายได้ต่อเมื่อคดีหรือกรณีถึงที่สุด
          ๒. ลูกหนี้อาจให้หักเงินเดือนเพื่อใช้หนี้ได้

          ขยายความ

          ๑. ข้าราชการส่วนท้องถิ่นผู้ใดถูกสั่งลงโทษปลดออกจากราชการ ต่อมาผู้นั้นได้อุทธรณ์คำสั่งลงโทษต่อ ก.จังหวัด และ ก.จังหวัดมีมติให้ยกเลิกคำสั่งลงโทษปลดออก หรือผู้นั้นได้ฟ้องคดีต่อศาลปกครอง และศาลปกครองมีคำพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งลงโทษปลดออก อันเนื่องมาจากกระบวนการไม่ชอบ นายกฯ ต้องดำเนินการทางวินัยใหม่ให้ถูกต้อง กรณีนี้ผู้นั้นต้องกลับเข้าปฏิบัติหน้าที่หรือกลับเข้ารับราชการและถูกดำเนินกระบวนการทางวินัยใหม่
               สำหรับเงินเดือนระหว่างถูกปลดออกจากราชการยังไม่อาจจ่ายได้ (มิใช่กรณียกเลิกคำสั่งลงโทษเพราะมิได้กระทำความผิด) จนกว่าคดีหรือกรณีจะถึงที่สุด
               เมื่อคดีหรือกรณีถึงที่สุด ให้พิจารณาจ่ายเงินเดินระหว่างถูกปลดออกจากราชการ ตามความในข้อ ๔ ของหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเดือนฯ
               ส่วนการคืนสิทธิด้านอื่น ต้องเป็นไปตามระเบียบว่าด้วยการนั้น หรือตามคำพิพากษา

          ๒. เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิจะเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ได้ (ม.๑๙๔) และข้าราชการส่วนท้องถิ่นผู้เป็นหนี้ ต้องชำระหนี้ หาไม่แล้วอาจมีความผิดทางวินัยฐานประพฤติชั่ว (ข้อ ๒๓ ว ๑) นอกจากนี้ยังมีกฎหมายซึ่งกำหนดให้ลูกหนี้มีหน้าที่ต้องชำระหนี้ เช่น กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) หรือการกู้ยืมเงินจากสหกรณ์ เป็นต้น
          ดังนั้น ลูกหนี้จึงอาจขอให้หน่วยงานหักเงินเดือนเพื่อใช้หนี้ได้
          อย่างไรก็ตาม กรณีดังกล่าวหากมีปัญหาในทางปฏิบัติ ควรหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง

          อ้างอิง :

          ๑. หลักเกณฑ์วิธีการจ่ายเงินเดือนข้าราชการส่วนท้องถิ่นผู้ถูกสั่งพักราชการ ผู้ถูกสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน ผู้ร้องทุกข์คำสั่งให้ออกจากราชการ ผู้อุทธรณ์คำสั่งลงโทษปลดออกหรือไล่ออกจากราชการ พ.ศ.๒๕๔๖
              ข้อ ๔
          ๒. ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
               มาตรา ๑๙๔
          ๓. หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการสอบสวน การลงโทษทางวินัย (พ.ศ.๒๕๕๘/๒๕๕๙)
               ข้อ ๒๓ วรรคหนึ่ง

          ขอบคุณครับ
#122

คำถาม  ๒๗/๑/๖๓
เทศบาลมีคำสั่งแต่งคณะกรรมการสอบวินัยร้ายแรง พนักงานจ้าง ในเรื่องละทิ้งการทำงานเกินกว่า 7 วัน แต่ในทางสอบสวนทราบว่าการที่ผู้ถูกกล่าวหาละทิ้งการทำงาน มีสาเหตุมาจากถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุม ข้อกล่าวหา มียาเสพติดไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ปัจจุบันถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำ (ศาลยังไม่ได้ตัดสิน) อยากเรียนถามว่า

การสรุป สว 6 ต้องสรุปว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำผิดวินัยร้ายแรงในเรื่องละทิ้งการทำงานเกินกว่า 7 วัน อันมีสาเหตุมาจากถูกคุมขัง ด้วยข้อกล่าวหามียาเสพติดไว้ในครอบครอง หรือต้องสรุปเป็นความผิดฐานใด และลงโทษสถานไหนคะ

หากอาจารย์มีข้อเสนอใดแนะนำขอความกรุณาให้คำแนะนำด้วยค่ะ .... ขอขอบคุณค่ะ

ตอบ

          การออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง ต้องมีมูลเพียงพอเสียก่อนว่า มีการละทิ้งการทำงานจริง แต่การตรวจสอบเฉพาะสมุดลงเวลามาปฏิบัติงานอย่างเดียว บางครั้งอาจไม่เพียงพอ ดังนั้น จึงต้องมีการสืบสวนหรือพิจารณาในเบื้องต้นว่า มีมูลว่าเขากระทำผิดวินัยหรือไม่ (ข้อ ๒๔ ว ๕) กรณีนี้อาจไม่จำต้องตั้งกรรมการข้อเท็จจริง (ข้อ ๒๔ ว ๗) เพียงมีการสืบสวนเท่านั้น
          และถ้าได้ดำเนินการตามข้างต้นแล้ว ข้อกล่าวหาในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงดังกล่าว อาจเปลี่ยนไป จาก "ละทิ้งการทำงานติดต่อเกินกว่า ๗ วัน" เป็น "ถูกจับกุมในคดียาเสพติด" ซึ่งคำถามนี้จะไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน !!

          การละทิ้งการทำงานติดต่อกันเกินกว่า ๗ วันของพนักงานจ้าง (ข้าราชการ ๑๕ วัน) โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร เป็นกรณีไม่อาจไปไหนมาไหนได้ตามปกติ แต่การถูกควบคุม ขัง หรือจำคุกในคดีอาญา แม้ต้องการมาทำงาน ก็ไม่อาจกระทำได้โดยแท้ !!!

          ดังนั้น กรณี (เมื่อความปรากฏแก่นายกฯ ว่า) พนักงานจ้างต้องหาคดีอาญา นายกฯ ต้องดำเนินการทางวินัยไปพร้อมกัน (ว ๔) และเมื่อเป็นคดีเกี่ยวกับยาเสพติด จึงต้องออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง แล้วรายงานไปยัง ก.จังหวัด เพื่อขอความเห็นชอบให้ผู้นั้นออกจากงานไว้ก่อน (ว ๗๓๓)
          ซึ่งหากผลการสอบสวนทางวินัยยังไม่อาจฟังลงโทษผู้ถูกกล่าวหาได้ ให้รอสั่งการเด็ดขาดทางวินัยไว้ก่อน จนกว่าจะทราบผลทางคดีอาญา (ว ๙)

          คำแนะนำ

          ๑. ควรออกคำสั่งอีก ๑ คำสั่ง เพื่อเพิ่มเติมข้อกล่าวหา กรณีเกี่ยวข้องกับยาเสพติด โดยเท้าความถึงคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเดิม
          ๒. ควรรอการจัดทำรายงานการสอบสวน (สว.๖) กรณีละทิ้งการทำงานติดต่อกันเกินกว่า ๗ วัน ไว้จัดทำและเสนอในคราวเดียว (เพราะผลการสอบสวนอาจเปลี่ยนไป)
          ๓. กรณีมียาเสพติดไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย เป็นความผิดทางวินัย ฐานประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง (ข้อ ๒๓ ว ๒) และโทษที่จะได้รับ คือ ไล่ออกจากราชการ (สำหรับพนักงานจ้าง) ทั้งนี้ ย่อมขึ้นอยู่กับผลการสอบสวนพิจารณา
          ๔. กรณีละทิ้งการทำงานติดต่อกันเกินกว่า ๗ วัน อาจเสนอความเห็นให้ยุติเรื่องได้

          อ้างอิง :

          ๑. หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการสอบสวน การลงโทษทางวินัย (พ.ศ.๒๕๕๘/๒๕๕๙)
               ข้อ ๑๖ วรรคสอง
               ข้อ ๒๓ วรรคสอง
               ข้อ ๒๔ วรรคห้า และวรรคเจ็ด
          ๒. มาตรฐานทั่วไปเกี่ยวกับพนักงานจ้าง ลงวันที่ ๑๒ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๔๗
               ขัอ ๔๘
               ข้อ ๔๙ วรรคสอง
          ๓. หนังสือสำนักงาน ก.พ.ทึ่ สร ๐๙๐๕/ว ๔ ลงวันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๐๙
          ๔. หนังสือสำนักงาน ก.พ.ที่ สร ๐๙๐๕/ว ๙ ลงวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๐๙
          ๕. หนังสือสำนักงาน ก.อบต., ก.ท. และ ก.จ. ที่ มท ๐๘๐๙.๑/ว ๗๓๓ ลงวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๔๖

          ขอบคุณทุกความเห็น ครับ
#123

คำถาม  ๒๙/๑/๖๓
กรณีพนักงานครูเทศบาล ขาดราชการติดต่อกันเกินว่า 15 วัน โดยไม่ทราบสาเหตุนั้น  ถื่อเป็นการกระทำผิดทางวินัยที่ปรากฏชัดแจ้ง สมควรแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงหรืออาจจะไม่แต่งตั้งก็ได้ เพื่อดำเนินการทางวินัยกับบุคคลดังดังกล่าว  แต่ทางกองการศึกษามาทราบภายหลังว่าถูกดำเนินคดีทางอาญาฐานยักยอกทรัพย์มรดก และได้รับโทษหนักให้จำคุก 1 ปี โดยไม่รอการลงโทษ  ซึ่งถือว่าเป็นความผิดที่หนักกว่าความผิดการขาดราชการเกินกว่า 15 วัน และมีความเห็นดังนี้ 1. ระงับการเบิกจ่ายเงินเดือน และสทิธิ/สวัสดิการต่างๆ 2. ให้ประสานงานกับศาลจังหวัดเพื่อให้ทราบเรื่องที่ชัดเจนว่าคดีได้ถึงที่สุดแล้วหรือยัง และข้อ 3 หากคดีนี้ได้ถึงที่สุดแล้ว ให้ดำเนินการตามประกาศคณะกรรมการพนักงานเทศบาลจังหวัด เรื่องหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการให้ออกจากราชการ  ความเห็นนี้ถูกต้องหรือไม่ค่ะ  หรือ ต้องมาแต่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงหรือไม่ประการใด ขอความกรุณาชี้แนะด้วยค่ะอาจารย์/ขอบพระคุณมากค่ะ

ตอบ

          เพิ่งตอบไปว่า
          "การออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง ต้องมีมูลเพียงพอเสียก่อนว่า มีการละทิ้งการทำงานจริง แต่การตรวจสอบเฉพาะสมุดลงเวลามาปฏิบัติงานอย่างเดียว บางครั้งอาจไม่เพียงพอ ดังนั้น จึงต้องมีการสืบสวนหรือพิจารณาในเบื้องต้นก่อนว่า มีมูลว่าเขากระทำผิดวินัยหรือไม่ (ข้อ ๒๔ ว ๕) " (คำถาม  ๒๗/๑/๖๓)
          การสืบสวนหรือพิจารณาในเบื้องต้น อาจกระทำได้ โดยการตั้งกรรมการ
          ๑. สืบสวน
          ๒. สอบสวน หรือ
          ๓. ตรวจสอบ
          ข้อเท็จจริง ก็ได้ (ข้อ ๒๔ ว ๘)

          ดังนั้น กรณีที่จำต้องสืบสวนหรือพิจารณาในเบื้องต้นว่ามีมูลเพียงพอที่จะดำเนินการทางวินัยได้หรือไม่ เช่น
          ๑. มีหนังสือร้องเรียนโดยปรากฏตัวผู้ร้อง
          ๒. มีกรณีเป็นที่สงสัยว่าข้าราชการส่วนท้องถิ่นกระทำผิดวินัย
          โดยยังไม่มีพยานหลักฐานในเบื้องต้น (ข้อ ๒๔ ว ๕) ซึ่งการไม่ลงชื่อมาปฏิบัติราชการ บางครั้งอาจอยู่ในความหมายนี้ (ต้องพิจารณาข้อเท็จจริงเป็นเรื่อง ๆ ไป)

          สรุป 

          ๑. ข้าราชการผู้ใดไม่มาทำงาน (โดยไม่อาจอ้างกฎหมายได้) ผู้นั้นไม่มีสิทธิได้รับเงินเดือน
          ๒. และ ๓. ถูกต้องแล้ว

          ขยายความ

          ๑. เงินเดือนเป็นเงินที่จ่ายให้กับผู้มีสิทธิได้รับเท่านั้น ผู้ที่ไม่มาทำงานโดยไม่อาจอ้างกฎหมายได้ ย่อมไม่มีสิทธิได้รับเงินดังกล่าว รวมถึงสิทธิสวัสดิการด้านอื่น ๆ ด้วย (ม.๑๖ ว ๒)
          ๒. กรณีข้าราชการส่วนท้องถิ่นผู้ใดถูกควบคุม ขัง หรือจำคุกในคดีอาญาติดต่อกันเกินกว่า ๑๕ วัน [ข้อ ๑๔ (๔)] ผู้นั้นมีหน้าที่ต้องรายงานให้นายกฯ ทราบ เพื่อขอความเห็นชอบให้ออกจากราชการไว้ก่อน และเพื่อประโยชน์ในการจ่ายเงินเดือน คดีดังกล่าวจำเลยคงปกปิดสถานะความเป็นข้าราชการ และไม่กล้ารายงานให้นายกฯ ทราบ เป็นเหตุให้นายกฯ ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง ดังนั้น ต้นสังกัดชอบที่จะมีหนังสือสอบถามผลคดีไปยังศาลเพื่อดำเนินการต่อไป
          ๓. กรณีข้าราชการส่วนท้องถิ่นต้องหาคดีอาญา หรือถูกฟ้องคดีอาญา นายกฯ ต้องดำเนินการทางวินัยไปพร้อมกัน (ว ๔) ซึ่งกรณีนี้ยังไม่มีการดำเนินการใด ๆ อาจเข้าข่ายละเลยหรือไม่สุจริต (ข้อ ๒๔ ว ๑๒) แต่อย่างไรก็ตาม นายกฯ อาจไม่ทราบข้อมูลด้วยเหตุผลข้างต้น
               ดังนั้น เมื่อ (ความปรากฏต่อนายกฯ ว่า) ข้าราชการส่วนท้องถิ่นในสังกัดต้องคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุก ๑ ปี โดยไม่รอลงอาญา นายกฯ จึงต้องดำเนินการทางวินัยทันที (ขัอ ๒๔ ว ๔) โดยไม่ต้องตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงอีก
               ส่วนกรณีเป็นความผิดที่ปรากฏชัดแจ้ง ซึ่งนายกฯ จะดำเนินการทางวินัยโดยไม่สอบสวน หรืองดการสอบสวนได้นั้น ต้องเป็นกรณีคำพิพากษาถึงที่สุด [ข้อ ๔๖ (๑)] เท่านั้น

          อ้างอิง :

          ๑. พระราชกฤษฎีกาการจ่ายเงินเดือน เงินปี บำเหน็จ บำนาญ และเงินอื่นในลักษณะเดียวกัน พ.ศ.๒๕๓๕
              มาตรา ๑๖ วรรคสอง
              มาตรา ๒๑ วรรคหนึ่ง
              มาตรา ๒๒
          ๒. หนังสือสำนักงาน ก.พ.ที่ สร ๐๙๐๕/ว ๔ ลงวันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๐๙
          ๓. หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการสอบสวน การลงโทษทางวินัย (พ.ศ.๒๕๕๘/๒๕๕๙)
              ข้อ ๑๕
              ข้อ ๑๗ วรรคสอง
              ข้อ ๒๓ วรรคสอง
              ข้อ ๒๔ วรรคสี่ วรรคห้า วรรคเจ็ด และวรรคสิบสอง
              ข้อ ๔๖ (๑)
          ๔. หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการให้ออกจากราชการ (พ.ศ.๒๕๕๘/๒๕๕๙)
               ข้อ ๑๔ (๔)

          ขอบคุณครับ
#124
***#ความเป็นกลางในการสอบสวนทางวินัย กรณีกรรมการสอบสวนถูกฟ้องคดี***
"การที่จะพิจารณาว่า กก. ซึ่งถูก ผถห. ฟ้องต่อศาลและอยู่ระหว่างพิจารณา จะเป็นเหตุอันอาจทำให้การสอบสวนไม่เป็นกลางหรือไม่ จำเป็นต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงเป็นกรณีๆไป โดยเบื้องต้นต้องคำนึงถึงการใช้ดุลพินิจซึ่งต้องอยู่ภายในขอบเขตของหลักความชอบด้วยกฎหมายและหลัก good governance หากรัฐมุ่งคุ้มครองสิทธิของ ผถห. ผถห.อาจใช้การฟ้อง กก. เพื่อประวิงการสอบสวน หากมุ่งคุ้มครอง กก. โดยถือว่ากรณีดังกล่าวไม่เป็นเหตุที่ทำให้การสอบสวนไม่เป็นกลางหรือเสียความเป็นธรรม กก. อาจมีความเห็นไปในลักษณะที่ทำให้ ผถห. ได้รับความเสียหายโดยไม่เป็นธรรมได้ ดังนั้น จึงต้องพิจารณาถึงข้อเท็จจริงของข้อพิพาทในแต่ละเรื่อง เพื่อพิจารณาว่าจะมีแนวโน้มในการก่อให้เกิดอคติหรือความโกรธเคืองกันอย่างรุนแรงจนอาจทำให้การสอบสวนไม่เป็นกลางหรือเสียความเป็นธรรมได้มากน้อยเพียงใด?" –เรื่องเสร็จที่ ๓๓๕/๒๕๔๖ และที่ ๑๖๕/๒๕๔๗- #ด้วยจิตคารวะ #เศรษฐพงศฯ
#125

คำถาม  ๓๑/๑/๖๓
พนักงานจ้างตามภารกิจ ตำแหน่ง พนักงานขับรถยนต์ ได้ยื่นใบลาป่วยพร้อมใบรับรองแพทย์ระบุว่าป่วยพิษสุราเรื้อรัง (ชัก)  ซึ่งกรณีดังกล่าวมีผลทำให้พนักงานจ้างรายดังกล่าวเป็นผู้คุณสมบัติในการเป็นพนักงานจ้าง ตามข้อ ๔ (๔) ของประกาศ ก.จังหวัด เรื่อง หลักเกณฑ์และเงื่อนไขเกี่ยวกับพนักงานจ้าง ประกอบกับข้อ ๖ (๕) (จ) ของประกาศ ก.จังหวัด เรื่อง หลักเกณฑ์และเงื่อนไขเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคของเทศบาล และอันมีผลให้สัญญาจ้างสิ้นสุดลง ตามข้อ ๕๔ (๒) ของประกาศ ก.จังหวัด เรื่อง หลักเกณฑ์และเงื่อนไขเกี่ยวกับพนักงานจ้าง ซึ่งนายกเทศมนตรีต้องทำความเห็นเสนอ ก.ท.จ. ให้ความเห็นชอบเพื่อออกคำสั่งให้พนักงานจ้างรายดังกล่าวออกจากราชการ ตามข้อ ๕ และข้อ ๖ ของประกาศ ก.จังหวัด เรื่อง หลักเกณฑ์และเงื่อนไขเกี่ยวกับการให้ออกจากราชการ เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวเทศบาลจึงได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงขึ้นทำการสอบสวนและเสนอความเห็นประกอบการพิจารณาดำเนินการของนายกเทศมนตรี ซึ่งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง พิจารณาแล้วเห็นว่า เพื่อให้ได้ความจริงที่ถูกต้องครบถ้วนบังเกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย จึงมีมติให้แพทย์เฉพาะทาง (แผนกจิตเวช) ทำการตรวจวินิจฉัยพนักงานจ้างรายดังกล่าวอีกครั้ง และได้ส่งตัวพนักงานจ้างรายดังกล่าวให้แพทย์แผนกจิตเวช โรงพยาบาลประจำจังหวัดทำการตรวจวินิจฉัย ผลการตรวจวินิจฉัยแพทย์มีความเห็นสรุปความว่า ผู้ป่วยมีปัญหาจากการดื่มสุรา มีความเสี่ยงต่อการติดสุรา แนะนำให้เข้ารับการรักษา มีประเด็นคำถาม ดังนี้ (๑) พนักงานจ้างรายดังกล่าวยังคงถือว่าเป็นโรคพิษสุราเรื้อรังอยู่หรือไม่ อย่างไร และ (๒) กรณีดังกล่าวคณะกรรมการฯ ควรทำความเห็นเสนอแนวทางใด เพื่อให้บังเกิดความยุติธรรมกับทุกฝ่าย (ทั้งฝ่ายหน่วยงานและพนักงานจ้าง) จึงเรียนมาเพื่อขอความกรุณาท่านอาจารย์โปรดพิจารณาให้คำแนะนำ ขอกราบขอบพระคุณท่านอาจารย์เป็นอย่างสูงมา ณ โอกาสนี้

ตอบ

          การดำเนินการทางวินัยแก่ข้าราชการส่วนท้องถิ่น ซึ่งมีกรณีอันมีมูลที่ควรกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัย ให้สอบสวนเพื่อให้ได้ความจริงและยุติธรรมโดยไม่ชักช้า (ข้อ ๒๖ ว ๑) ผู้สั่งลงโทษต้องสั่งลงโทษให้เหมาะสมกับความผิด และมิให้เป็นไปโดยพยาบาท โดยอคติ หรือโดยโทสจริต หรือลงโทษผู้ไม่มีความผิด (ข้อ ๘๖ ว ๑) หลักการดังกล่าว นำมาใช้กับการให้ออกจากราชการในบางกรณีด้วย

          ประเด็น

          "ป่วยพิษสุราเรื้อรัง (ชัก)" กับ "มีความเสี่ยงต่อการติดสุรา" ถือว่าเป็น "โรคพิษสุราเรื้อรัง" หรือไม่

          สรุป

          แพทย์ลงความเห็นว่า "ป่วยพิษสุราเรื้อรัง (ชัก)" ตั้งแต่ครั้งแรก อาจถือได้ว่า "เป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง"

          ขยายความ

          ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ ไม่พบคำว่า "ป่วยพิษสุราเรื้งรัง (ชัก)" พบเพียงคำว่า "โรคพิษสุราเรื้องรัง" โดยให้ความหมายว่า "เป็นชื่อโรคชนิดหนึ่ง ซึ่งสมองและประสาทเสื่อม เนื่องจากดื่มสุรามากเป็นเวลานาน มีอาการมือสั่น เดินเซ สติปัญญาเสื่อม บางครั้งชักแบบลมบ้าหมู"
          กรณียื่นใบลาป่วยพร้อมมีใบรับรองแพทย์ที่ระบุว่า "ป่วยพิษสุราเรื้อรัง (ชัก)" น่าจะเพียงพอในการวินิจฉัยว่าเป็น "โรคพิษสุราเรื้อรัง" และแม้ผลการตรวจของแพทย์เฉพาะทางครั้งหลัง ไม่ชัดเจนเหมือนครั้งแรก แต่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน จึงอาจทำให้บุคคลดังกล่าวเป็นผู้ขาดคุณสมบัติ ดังนั้น นายกฯ จะเสนอ ก.จังหวัด เพื่อส่งเรื่องให้อนุวินัยทำความเห็นเสนอ ก.จังหวัด [ข้อ ๖ (๓)] เพื่อให้ออกจากราชการ เพราะขาดคุณสมบัติ โดย ก.จังหวัด อาจเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ หรือให้แสวงหาข้อมูลข้อเท็จจริงเพิ่มเติมก็ได้
          คณะกรรมการตรวจสอบฯ จึงต้องแสวงหาข้อเท็จจริง โดยปราศจากฉันทาคติ (ลำเอียงเพราะรัก) ซึ่งกรณีดังกล่าว นอกจากความเห็นของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว ยังต้องมีความเห็นของนายกฯ ความเห็นของอนุวินัยฯ และความเห็นของ ก.จังหวัด ดังนั้น จึงไม่ต้องกังวลว่า พนักงานจ้างรายดังกล่าว จะไม่ได้รับความเป็นธรรม

          ประเด็นคำถาม

          ๑. ด้วยเหตุผลข้างต้น เห็นว่า พนักงานจ้างรายนี้ เป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง หากเห็นต่างควรหารือ
          ๒. ควรทำความเห็นเสนออย่างเป็นกลาง ตามพยานหลักฐานและข้อเท็จจริงที่พบ โดยไม่เสนอความรู้สึกลงไปในผลการตรวจสอบขัอเท็จจริง เพราะสุดท้าย ก.จังหวัด จะเป็นผู้พิจารณามีมติ ซึ่งนายกฯ ต้องสั่งหรือปฏิบัติให้เป็นไปตามมตินั้น

          อ้างอิง :

          ๑. หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการให้ออกจากราชการ (พ.ศ.๒๕๕๘/๒๕๕๙)
              ข้อ ๖ (๓)
          ๒. หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการสอบสวน การลงโทษทางวินัย (พ.ศ.๒๕๕๘/๒๕๕๙)
               ข้อ ๒๖ วรรคหนึ่ง
               ข้ด ๘๖ วรรคหนึ่ง
          ๓. พจนานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔

          ขอบคุณครับ
#126

คำถาม  ๓/๒/๖๓

กรณีพนักงานเทศบาลมีคำพิพากษาจำคุก ตอนนี้ได้ถูกกุมตัวเข้าเรือนจำแล้ว เนื่องจากประกันตัวออกมาแล้วไม่อุทธรณ์
2.พนักงานเทศบาลรายนี้ขาดราชการเกิน15วัน

อยากทราบว่าอปท.ต้องตั้งกรรมการสอบวินัยไหมค่ะ
2.พนักงานเทศบาลรายนี้สิ้นสุดสภาพวันที่ต้องคำพิพากษา หรือวันที่จับกุมตัวเข้าเรือนจำ

ขอบพระคุณล่วงหน้าสำหรับคำตอบค่ะ🙏

ตอบ

          ประเด็น

          ๑. ข้าราชการส่วนท้องถิ่นถูกควบคุม ขัง หรือจำคุกในคดีอาญา ถือว่าละทิ้งหน้าที่ราชการหรือไม่
          ๒. กรณีดังกล่าวต้องตั้งกรรมการสอบสวนหรือไม่
          ๓. สภาพความเป็นข้าราชการสิ้นสุดลงเมื่อใด

          สรุป

          ๑. ไม่ถือว่าละทิ้งหน้าที่ราชการโดยไม่มึเหตุผลอันสมควร แต่..
          ๒. หากคดีถึงที่สุด ย่อมเป็นดุลพินิจของนายกฯ ว่าจะดำเนินการทางวินัยโดยไม่สอบสวน หรืองดการสอบสวนหรือไม่ เนื่องจากเป็นความผิดที่ปรากฏชัดแจ้ง
          ๓. เมื่อดำเนินการครบถ้วนแล้ว ปกติถือวันต้องถูกควบคุม ขัง หรือจำคุกในคดีอาญาเป็นวันสิ้นสภาพความเป็นข้าราชการ

          ขยายความ

          ๑. นายกฯ ต้องดำเนินการ ดังนี้   
               (๑) รายงานไปยัง ก.จังหวัดเพื่อขอความเห็นชอบให้ออกจากราชการไว้ก่อน หากถูกควบคุม ขัง หรือจำคุกในคดีอาญาเกินกว่า ๑๕ วันแล้ว [ข้อ ๑๔ (๕)]
               (๒) ดำเนินการทางวินัยไปพร้อมกัน (ว ๔)
          ๒. เมื่อคดียังไม่ถึงที่สุด ไม่ถือเป็นความผิดที่ปรากฏชัดแจ้ง นายกฯ ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง (ข้อ ๒๖ ว ๖)
          ๓. เพียงถูกคุมขัง หรือจำคุกในคดีอาญา สภาพความเป็นข้าราชการยังคงอยู่ และสิ้นสุดลงเมื่อ
               (๑) กรณีถูกแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง ก.จังหวัด มีมติให้ลงโทษปลดออก/ไล่ออกจากราชการ เนื่องจากต้องโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก (ข้อ ๒๓ ว ๒) (การสอบสวนแล้วเสร็จ มักล่วงเลยระยะเวลาอุทธรณ์/ฎีกาแล้ว) โดยนายกฯ ต้องออกคำสั่งลงโทษปลดออก/ไล่ออกจากราชการ ตามมติ ก.จังหวัด ตั้งแต่วันต้องรับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุด หรือวันต้องคำพิพากษาถึงที่สุด หรือวันถูกคุมขังติดต่อกันจนถึงวันต้องคำพิพากษาถึงที่สุด แล้วแต่กรณี [ข้อ ๓๓ (๓)]
               (๒) กรณีข้างต้นมีผลทำให้พ้นจากสภาพความเป็นข้าราชการส่วนท้องถิ่น/พนักงานจ้าง (ม.๑๕ ว ๑)

          อ้างอิง :

          ๑. หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการให้ออกจากราชการ (พ.ศ.๒๕๕๘/๒๕๕๙)
               ข้อ ๑๔ (๕)
               ข้อ ๓๓ (๓)
          ๒. หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการสอบสวน การลงโทษทางวินัย (พ.ศ.๒๕๕๘/๒๕๕๙) 
               ข้อ ๒๓ วรรคสอง
               ข้อ ๒๖ วรรคหก
               ข้อ ๔๖ วรรคหนึ่ง (๑)
          ๓. หนังสือสำนักงาน ก.พ.ที่ สร ๐๙๐๕/ว ๔ ลงวันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๐๙
          ๔. พระราชบัญญัติระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ.๒๕๔๒
               มาตรา ๑๕ วรรคหนึ่ง

          ขอบคุณครับ
#127

คำถาม  ๕/๒/๖๓
ขอสอบถามครับกรณี​แต่งตั้งคณะกรรมการ​สอบวินัยไม่ชอบเพราะประธาน​ดำรงตำแหน่งต่ำกว่าผู้ถูกกล่าวหา​  โดยผู้ถูกกล่าวหาเป็นนักบริหารท้องถิ่นกลาง​(ปลัด)​ ส่วนประธานเป็นนักบริหารท้องถิ่นกลาง​ (รองปลัด)​ ต่อมาผู้ถูกกล่าวหาโอนย้ายไปอปท.อื่น​ อยากทราบว่าต้นสังกัดเดิมหรือต้นสังกัดใหม่จะต้องตั้งกรรมการสอบสวน​  ตามระเบียบข้อไหนครับ

ตอบ

          ประธานกรรมการสอบสวน ต้องมีตำแหน่งระดับไม่ต่ำกว่าหรือเทียบได้ไม่ต่ำกว่าผู้ถูกกล่าวหา ตามที่ ก.กลางกำหนด (ข้อ ๔๙ ว ๑) หากประธานกรรมการสอบสวนมีตำแหน่งระดับต่ำกว่าหรือเทียบได้ต่ำกว่าผู้ถูกกล่าวหา ให้การสอบสวนทั้งหมดเสียไป ให้นายกฯ แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยขึ้นทำการสอบสวนใหม่ให้ถูกต้อง (ข้อ ๗๙)

          ก.กลาง ได้กำหนดตำแหน่ง/ระดับของประธานกรรมการสอบสวน (ว ๒๐) ไว้ สรุปได้ ดังนี้
          ๑. ข้าราชการส่วนท้องถิ่น สามารถเป็นประธานกรรมการสอบสวนวินัยข้าราชการส่วนท้องถิ่น ได้ทุกตำแหน่ง/ระดับ
          ๒. ข้าราชการพลเรือนสามัญ สามารถเป็นประธานกรรมการสอบสวนวินัยข้าราชการส่วนท้องถิ่น ได้ทุกตำแหน่ง/ระดับ

          หมายเหตุ

          ๑. ข้าราชการส่วนท้องถิ่นที่จะสามารถเป็นประธานกรรมการสอบสวนได้ ต้องมีทั้งตำแหน่ง/ระดับ ไม่ต่ำกว่าหรือเทียบได้ไม่ต่ำกว่าผู้ถูกกล่าวหา เช่น ปลัด อปท.ระดับต้น ไม่อาจเป็นประธานกรรมการสอบสวนรองปลัด อปท.ระดับกลางได้ เนื่องจากระดับต่ำกว่าผู้ถูกกล่าวหา หรือรองปลัด อปท.ระดับกลาง ไม่อาจเป็นประธานกรรมการสอบสวนปลัด อปท.ระดับกลางได้ เนื่องจากตำแหน่งต่ำกว่า แม้จะเป็นระดับกลางเช่นกันก็ตาม เป็นต้น แต่สามารถเป็นกรรมการ หรือเลขานุการได้
          ๒. ข้าราชการฝ่ายพลเรือน เช่น ครู ตำรวจ อัยการ เป็นต้น ไม่อาจแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการสอบสวนวินัยข้าราชการส่วนท้องถิ่นได้ แต่สามารถเป็นกรรมการ หรือเลขานุการได้

          ประเด็น

          ๑. รองปลัด อปท.ระดับกลาง เป็นประธานกรรมการสอบสวนวินัยปลัด อปท.ระดับกลาง ได้หรือไม่
          ๒. กรณีตามข้อ ๑. หากผู้ถูกกล่าวหาโอน (ย้าย) สังกัด ต้องปฏิบัติอย่างไร

          สรุป

          ๑. ไม่ได้
          ๒. สังกัดใหม่เป็นผู้ออกคำสั่ง

          ขยายความ

          ๑. การแต่งตั้งรองปลัด อปท.ระดับกลาง ซึ่งมีตำแหน่งต่ำกว่าเป็นประธานกรรมการสอบสวนวินัยปลัด อปท.ระดับกลาง คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนดังกล่าว ย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมาย (ข้อ ๔๙ ว ๑ ประกอบ นส.ว ๒๐) จึงทำให้การสอบสวนทั้งหมดเสียไป นายกฯ ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นทำการสอบสวนใหม่ให้ถูกต้อง (ข้อ ๗๙)
          ๒. เมื่อคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนไม่ชอบ ถือว่ายังไม่มีการแต่งตั้งกรรมการสอบสวนผู้ถูกกล่าวหาในเรื่องดังกล่าวมาแต่ต้น ต่อมาผู้ถูกกล่าวหาได้โอนสังกัด ย่อมเป็นหน้าที่และอำนาจของนายกฯ สังกัดใหม่ (ปัจจุบัน) ณ วันออกคำสั่ง กรณีนี้หาใช่เป็นการโอนสังกัดในระหว่างการสอบสวน (ข้อ ๗๔ ว ๑) ที่นายกฯ สังกัดเดิมต้องออกคำสั่งเปลี่ยนแปลงแก้ไขคำสั่งเดิม (ข้อ ๕๖ ว ๑) แต่อย่างใดไม่ เพราะคำสั่งแรกเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าวแล้ว
               ดังนั้น นายกฯ สังกัดใหม่จึงมีหน้าที่และอำนาจในการออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน (ข้อ ๒๖ ว ๖) โดยนายกฯ สังกัดเดิมต้องมีหนังสือชี้มูลไปยังนายกฯ สังกัดใหม่ ให้เป็นพยานหลักฐานในเบื้องต้น (ข้อ ๒๔ ว ๔) เพื่อดำเนินการต่อไป

          อ้างอิง :

          ๑. หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการสอบสวน การลงโทษทางวินัย (พ.ศ.๒๕๕๘/๒๕๕๙)
               ข้อ ๒๔ วรรคสี่
               ข้อ ๒๖ วรรคหก
               ข้อ ๔๙ วรรคหนึ่ง
               ข้อ ๕๖ วรรคหนึ่ง
               ข้อ ๗๔ วรรคหนึ่ง
               ข้อ ๗๙
          ๒. หนังสือสำนักงาน ก.จ., ก.ท. และ ก.อบต.ที่ มท ๐๘๐๙.๕/ว ๒๐ ลงวันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๖๑

          ขอบคุณทุกข้อความ ครับ
#128
🔥#ความสำคัญของงานสอบสวนคดีอาญาต่อนายอำเภอและผู้ว่าราชการจังหวัด

โดย ดร.นเรศ จิตสุจริตวงศ์
        กรรมการสมาคมนักปกครองแห่งประเทศไทย
        อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดตรังและปทุมธานี
        อดีตกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมผู้ทรงคุณวุฒิ

​    ผมเป็นนายอำเภอมาเมื่อ 40 ปี และเป็นผู้ว่าฯ มาเมื่อ 15 ปีที่แล้ว  จึงอยากจะเล่าเรื่องความสำคัญของงานสอบสวนคดีอาญาว่า มีความหมายความสำคัญต่อคนที่เป็นนายอำเภอหรือผู้ว่าราชการจังหวัดอย่างไรบ้าง  หรือกล่าวโดยรวมก็คือ มีความสำคัญต่อข้าราชการฝ่ายปกครองอย่างไรนั่นเอง 
    ​ท่านทั้งหลายคงจะทราบดีว่างานสอบสวนคดีอาญาในอดีต ก่อนปี พ.ศ. 2503 อยู่ในมือของ
ฝ่ายปกครอง 100% นายอำเภอเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวน สำนวนคดีเสร็จเมื่อใดนายอำเภอในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนก็จะใช้อำนาจทำความเห็นว่าจะเห็นควรสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง หรือเปรียบเทียบปรับ
    ​ส่วนตำรวจในอดีตก็จะทำงานสอบสวนที่เกี่ยวข้องกับคดีอาญาทั่วๆ ไป คดีที่เกี่ยวกับทรัพย์ เกี่ยวกับการทำร้ายร่างกาย เกี่ยวกับการลักเล็กขโมยน้อย เป็นต้น แต่ถ้าเป็นคดีค่อนข้างใหญ่ เช่น ปล้น ฆ่า ข่มขืน หรือการสอบสวนคดีที่ค่อนข้างยากนายอำเภอก็จะส่งปลัดอำเภอไปเป็นพี่เลี้ยงหรือช่วยสอบสวนด้วย 
   ​ต่อมา งานสอบสวนได้ถ่ายโอนมาไว้กับตำรวจทั้งหมดโดยข้อบังคับกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยระเบียบการดำเนินคดีอาญา พ.ศ. 2523 ส่วนนายอำเภอ ปลัดอำเภอก็ทุ่มเทเวลาทำงานด้านการพัฒนา โดยมีองค์กรปกครองท้องถิ่น สุขาภิบาล องค์การบริหารส่วนตำบล องค์การบริหารส่วนจังหวัด เป็นหน่วยงานที่ฝ่ายปกครองเข้าไปมีอำนาจหน้าที่ควบคุมกำกับดูแล ทำให้งานด้านการสอบสวนคดีอาญาถูกลดหย่อนความสำคัญลงไป หรือจะมีอยู่ก็เป็นส่วนน้อยตั้งแต่บัดนั้น 
    ​ผ่านเวลามานานปี จนมาถึงปี พ.ศ. 2537 การกระจายอำนาจเป็นไปโดยสมบูรณ์  พื้นที่ประเทศไทยเป็นท้องถิ่นทุกตารางนิ้ว  และงานบริหารท้องถิ่นได้หลุดมือไปจากผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ
โดยสิ้นเชิง ทำให้นายอำเภอและปลัดอำเภอมีโอกาสทำงานสอบสวนคดีต่างๆ มากขึ้นโดยมีกฎหมาย 10 ประเภทเป็นตัวตั้ง แต่ในสถานะอื่นๆ ของการเป็นพนักงานสอบสวน  ตำแหน่งนายอำเภอและตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด ยังมีอำนาจอนุมัติหมายจับ หมายค้น มีอำนาจทำความเห็นในการสั่งฟ้องคดีอาญา  การสั่งอุทธรณ์ สั่งฎีกาที่พนักงานอัยการจะต้องส่งมาขอความเห็นชอบ รวมตลอดทั้งมีลักษณะความผิดตามกฎหมายอีกหลายประเภทที่ต้องให้นายอำเภอและผู้ว่าราชการจังหวัดเข้าไปมีบทบาท อาทิเช่น กฎหมายที่เกี่ยวกับป่าไม้และทรัพยากรธรรมชาติ คดีที่ประชาชนร้องเรียนว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม เป็นต้น งานสอบสวนเรื่องเหล่านี้ ทำให้นายอำเภอมีบทบาทเข้าไปเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนกำกับดูแลการสอบสวน หรือเข้าไปร่วมสอบสวน หรือดึงงานคดีมาให้พนักงานสอบสวนฝ่ายปกครองเป็นเจ้าของคดีได้ จะเห็นได้ว่าหน้าที่การสอบสวนต่างๆ ที่นายอำเภอและผู้ว่าราชการจังหวัดมีอยู่ล้วนทำให้การทำงานบำบัดทุกข์บำรุงสุข การปกครองดูแลท้องที่มีประสิทธิภาพ สามารถอำนวยความเป็นธรรมแก่ราษฎรที่มาร้องเรียนซึ่งถือได้ว่างานในสถานะนักปกครอง มีประโยชน์ต่อประชาชน มีบารมีในการบังคับบัญชาบรรดาข้าราชการของทุกหน่วยที่อยู่ปฏิบัติงานในภูมิภาค มีศรัทธาปสาทะในหมู่ประชาชน ผู้ได้มีโอกาสรับความเป็นธรรมจากผลการปฏิบัติของนายอำเภอและผู้ว่าราชการจังหวัด
     ​ตำแหน่งนายอำเภอและผู้ว่าราชการจังหวัดในสถานะที่มีอำนาจสอบสวนและเป็นผู้ซึ่งเอาใจใส่กับงานสอบสวนจะก่อให้เกิดประโยชน์สุขกับประชาชนในปกครอง เมื่อเกิดความพึงพอใจขึ้นแล้วความเชื่อถือศรัทธา ในตัวนักปกครองเหล่านั้นก็เป็นเรื่องตามมา
     ​เป็นเรื่องน่าเสียดายที่พนักงานฝ่ายปกครองของเราหลายๆ คน มองไม่เห็นความสำคัญของงานสอบสวน หรืออาจจะมองว่าเป็นงานที่ลำบากยากเย็น  หรือทำแล้วเป็นการเสี่ยงต่อการถูกฟ้องกลับ หรือถูกเกลียดชังจากบุคคลที่เป็นจำเลย หรือเป็นผู้ถูกกล่าวหา  ทำให้หลายต่อหลายคนละทิ้งงานนี้ ไม่ให้ความสนใจต่องานนี้  เมื่อกาลเวลาผ่านไป ยิ่งนานวัน ยิ่งทำให้งานสอบสวนห่างไกลออกจากตัวนักปกครองลักษณะนี้ยิ่งขึ้นจนถึงจุดที่อาจจะกล่าวได้อย่างมิใช่ดูหมิ่นดูแคลนเลย  ก็คือพนักงานฝ่ายปกครองเหล่านั้นกลายเป็นผู้ขาดวิชาความรู้ในด้านการสอบสวน  หรือเรียกว่าสอบสวนไม่เป็นโดยสิ้นเชิง  สิ่งที่ตามมาจากการทำงานสอบสวนไม่เป็นหรือไม่ได้ทำเลย ซึ่งส่งผลเสียหายมาสู่ระบบสังคมอย่างมากมายหลายประการ ดังต่อไปนี้
   ​  1. เหตุความผิดต่างๆ ที่เกิดขึ้น ขาดความสนใจจากผู้ดำรงตำแหน่งปลัดอำเภอ นายอำเภอ
และผู้ว่าราชการจังหวัด ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของตำรวจแต่เพียงฝ่ายเดียว การอำนวยความเป็นธรรมในหน้าที่ฝ่ายปกครองจึงประสบอุปสรรค
     ​2. เกิดการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายของประชาชน ละเลยหน้าที่ ขาดระเบียบ โดยไม่มีใครออกไปกล่าวหา กล่าวโทษใด ๆ กับผู้กระทำผิดเหล่านั้น ทำให้กฎกติกาต่าง ๆ มีคนไม่ปฏิบัติตามและอยู่ได้อย่างสบายในสังคม การขออนุญาตในเรื่องต่าง ๆ บกพร่องเพราะคนที่ประกอบการต่าง ๆ โดยไม่ขออนุญาต ไม่เสียค่าธรรมเนียมก็อยู่ได้ โดยปราศจากการออกตรวจจับด้วยเหตุมาจากความละเลยเพิกเฉยไม่สนใจของเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองเอง ปล่อยให้ตำรวจดำเนินคดีแต่เพียงฝ่ายเดียว
    ​3. ปรากฏให้เห็นว่าบ่อนการพนันต่าง ๆ ไม่ต้องตีตั๋ว ไม่ต้องขออนุญาตก็เปิดได้ สถานบริการต่าง ๆ ไม่ต้องขออนุญาตก็เปิดได้ โรงแรมไม่มีใบอนุญาตก็เปิดได้ ซ่องโสเภณีก็เปิดได้ ถ้าเหตุการณ์ต่าง ๆ เหล่านี้เกิดมีขึ้นในท้องที่ใด คนที่ประสงค์จะปฏิบัติตามกฎหมายก็จะไม่ปฏิบัติ ในเมื่อคนที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายก็อยู่ได้อย่างสบาย
    ​4. ก่อให้เกิดการส่งส่วยแล้วก็สามารถปฏิบัติการนอกกฎหมายได้
    ​5. รัฐเสียโอกาสได้ค่าธรรมเนียม ค่าใบอนุญาต ค่าภาษีอากร ที่สามารถจัดเก็บได้จากกิจการเหล่านั้น ทำให้รายได้ต่าง ๆ ไม่เข้ารัฐ เนื่องมาจากเหตุผู้คนที่ประกอบธุรกิจต่าง ๆ ไม่เห็นความสำคัญของพนักงานฝ่ายปกครองถึงขั้นมองข้ามหัว
     ​แม้กระทั่งกฎหมาย 16 ประเภทในหน้าที่ ก็ยังไม่สามารถที่จะบังคับการให้เป็นระบบระเบียบได้แล้ว  จะนับอะไรกับกฎหมายอื่น ๆ ของทุกกระทรวง ทบวง กรม ซึ่งบังคับใช้อยู่ทุกภูมิภาคของประเทศ 
เมื่อความผิดต่างๆ เกิดขึ้น พนักงานฝ่ายปกครองและเจ้าพนักงานของเจ้าของกฎหมายเหล่านั้นจะบังคับได้
    ​ผลที่มองเห็นกันอยู่ในปัจจุบัน เช่น บุคคลบุกรุกห้วย หนอง คลอง บึง ที่สาธารณะต่างๆ  บุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ ฯลฯ ก็สามารถอยู่ได้อย่างสบายไม่มีใครไปดำเนินคดี ตัวอย่างเหล่านี้ล้วนแต่เกิดจากความไม่นำพาต่อการสอบสวนคดีอาญาของผู้เป็นปลัดอำเภอ นายอำเภอ และผู้ว่าราชการจังหวัดทั้งสิ้น
     ​ในทางกลับกัน ถ้าพนักงานฝ่ายปกครองมีความสามารถในการดำเนินคดีอาญา ตั้งแต่การตรวจจับ การสอบสวน การเปรียบเทียบปรับ ไปจนถึงการเสนอสำนวนเพื่อฟ้องคดี  ถ้าได้กระทำบ้างจะก่อเกิดเป็นศักดิ์ศรีบารมี เป็นที่นับหน้าถือตา น่าเกรงขาม  งานการสอบสวนคดีอาญาหาใช่เป็นเรื่องที่ยากจนไม่สามารถที่จะเรียนรู้ก็หาไม่  โดยไม่ต้องจบนิติศาสตร์มาโดยตรง ก็สามารถศึกษางานการสอบสวนได้  ไม่ใช่เรื่องทางวิชาการที่ยากเย็นอันใด ทั้งมีตัวแบบ ตัวอย่างการสอบสวนให้ศึกษาได้ด้วยตนเอง ทั้งมีหลักสูตร ที่จะเข้าไปฝึกฝนอบรมใช้เวลาเพียง 2 หรือ 3 เดือนก็เป็นผู้สอบสวนคดีได้  และถ้าสามารถฝึกฝนทำคดีได้เพียง 2 - 3 คดี ก็จะเกิดความมั่นใจและสามารถทำคดีได้ต่อไปอีกไม่รู้จบ ทุกเรื่องทุกบทกฎหมาย
     ​อยู่ที่ความเอาใจใส่ในเรื่องนี้ ที่ต้องมีในระยะแรกรวมถึงความรักที่ต้องมีต่อประชาชน  มีความเสียสละเพื่อประชาชนอยู่ในดวงใจ  จึงจะสามารถทำงานสอบสวนเพื่อแสวงหาความจริงที่เป็นธรรมในเรื่องต่าง ๆ ให้แก่ประชาชนได้
    ​ขอฝากให้พนักงานฝ่ายปกครองทุกท่าน ได้รับทราบว่าตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ความเป็นพนักงานฝ่ายปกครองนั้นทำการสอบสวนได้หมดทุกเรื่อง แม้จะมีข้อบังคับกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยระเบียบการดำเนินคดีอาญา พ.ศ. 2523 กำหนดแบ่งเอาไว้ให้เจ้าพนักงานตำรวจในส่วนไหน เจ้าพนักงานฝ่ายปกครองในส่วนไหนก็ตาม แต่ถ้าข้าราชการเหล่านั้นมีน้ำใจในการสอบสวนรับคดีที่มีบุคคลเป็นผู้เสียหายและกล่าวโทษเรียกร้องหาความเป็นธรรมแล้ว  เจ้าพนักงานของรัฐสามารถอำนวยความเป็นธรรมให้กับผู้ที่ได้รับความเสียหายด้วยกรรมวิธีสอบสวนได้  เมื่อกระบวนการการสอบสวนสิ้นสุดปรากฏข้อเท็จจริงใดออกมาแล้วเพียงพอที่จะส่งไปดำเนินคดี พนักงานอัยการจะรับคดีไปฟ้องทั้งสิ้น  มิพักต้องกังวลว่าพนักงานอัยการจะวินิจฉัยว่าเรื่องนี้ไม่ใช่หน้าที่คนโน้น  เรื่องโน้นไม่ใช่หน้าที่คนนี้ หาได้ไม่  เมื่อพนักงานสอบสวนฝ่ายปกครองหรือฝ่ายตำรวจ ทำสำนวนดำเนินคดีอาญาใด ๆ ส่งให้อัยการแล้ว พนักงานอัยการย่อมมีหน้าที่ตรวจสำนวนและวินิจฉัยสั่งฟ้อง หรือสั่งไม่ฟ้องทุกกรณีจะไม่รับสำนวนไปวินิจฉัยนั้นไม่มี
     ​เมื่อท่านทั้งหลายได้รับทราบข้อเท็จจริงเหล่านี้แล้ว ท่านจะรู้ได้ด้วยตัวท่านเอง ว่าควรจะศึกษางานสอบสวนในหน้าที่ของพนักงานฝ่ายปกครองเพื่อความเจริญรุ่งเรืองก้าวหน้าของงานฝ่ายปกครอง และตัวนักปกครองเอง  ขอฝากอนาคตงานของกรมการปกครอง ศักดิ์ศรีบารมีของพนักงานฝ่ายปกครองที่สามารถเกิดขึ้นได้มหึมาภายใต้เนื้องานสอบสวนคดีอาญานี้นั่นเอง
___________________________________
#ชมรมพนักงานสอบสวนฝ่ายปกครอง
#129


คำถาม  ๗/๒/๖๓
พนักงานจ้าง ขาดราชการตั้งแต่ 9 ม.ค. 2563 ถึงปัจจุบัน ถือเป็นการการะทำผิดวินัยร้ายแรง ตามข้อ 49(6) ตามมาตรฐานทั่วไปพนักงานจ้าง 2547 โดยวิธีการดำเนินการทางวินัยใช้ของพนักงานเทศบาล ตามประกาศหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการสอบสวน การลงโทษทางวินัย 2558 โดยอนุโลม กรณีสอบถามว่าจะเข้าข่ายเป็นการกระทำความผิดที่ปรากฏชัดแจ้งหรือไม่ครับ และนายกเทศมนตรีสามารถสั่งลงโทษไล่ออกโดยไม่ต้องสอบสวนได้หรือไม่ครับ ขอบคุณครับ

ตอบ

          คำถามเกี่ยวกับการละทิ้งหรือทอดทิ้งหน้าที่ราชการลักษณะนี้มาก และตอบบ่อย ท่านผู้เป็นเจ้าของคำถามคงไม่ได้ติดตาม หรือเพิ่งเข้ามาใหม่ ขออภัยท่านที่ทราบคำตอบแล้ว

          ประเด็น

          พนักงานจ้างละทิ้งหรือทอดทิ้งการทำงานติดต่อกันเกินกว่า ๗ วัน [ข้อ ๔๙ ว ๑ (๖)] โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร (ข้อ ๕๐ ว ๒)
          ๑. ถือเป็นความผิดที่ปรากฏชัดแจ้งหรือไม่
          ๒. นายกฯ จะดำเนินการทางวินัยโดยไม่สอบสวน หรืองดการสอบสวน ได้หรือไม่

          สรุป

          ๑. เป็น
          ๒. ได้

          ขยายความ

          ๑. พนักงานจ้างละทิ้งหรือทอดทิ้งการทำงานติดต่อกันเกินกว่า ๗ วัน (ข้าราชการส่วนท้องท้องถิ่น ละทิ้งหรือทอดทิ้งหน้าที่ราชการติดต่อกันเป็นเวลาเกินกว่า ๑๕ วัน) และนายกฯ ได้สืบสวนแล้วเห็นว่าไม่มึเหตุผลอันสมควร ถือเป็นความผิดที่ปรากฏชัดแจ้ง [ข้อ ๔๖ ว ๑ (๒)]
          ๒. เมื่อเป็นความผิดที่ปรากฏชัดแจ้ง นายกฯ จะดำเนินการทางวินัย (สั่งลงโทษ) โดยไม่สอบสวน หรืองดการสอบสวนก็ได้ [ข้อ ๔๖ ว ๑ (๒)] เพราะถือเป็นดุลพินิจ
         
          กรณีพนักงานจ้างละทิ้งหรือทอดทิ้งการทำงาน ตั้งแต่วันที่ ๙ มกราคม ๒๕๖๓ ติดต่อกันถึงปัจจุบันเกินกว่า ๗ วัน [ข้อ ๔๙ ว ๑ (๖)] แล้ว นายกฯ ต้องสืบสวนให้ได้ความว่ามึเหตุผลอันสมควรหรือไม่ก่อน [ข้อ ๔๖ ว ๑ (๒)] หากพบเห็นตัวแต่ไม่ยอมมาทำงาน จึงถือเป็นความผิดที่ปรากฏชัดแจ้ง และเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง แต่ถ้าไม่มีผู้ใดพบเห็นตัว โดยไม่ทราบว่าอยู่ ณ สถานที่แห่งใด เช่น อาจถูกจับกุม คุมขัง หรือถูกลักพาตัว เป็นต้น ยังไม่อยู่ในเงื่อนไขเป็นความผิดที่ปรากฏชัดแจ้ง นายกฯ ต้องเสนอขอความเห็นชอบไปยัง ก.จังหวัด ให้ออกจากงานไว้ก่อน เพื่อประโยชน์ในการจ่ายค่าตอบแทน (ข้อ ๑๔ (๔) ประกอบข้อ ๕๐ ว ๒)

          ดังนั้น กรณีดังกล่าวจะถือว่าเป็นความผิดที่ปรากฏชัดแจ้งได้ นายกฯ ต้องสืบสวนให้ได้ความว่า พนักงานจ้างผู้นั้นละทิ้งหรือทอดทิ้งการทำงานติดต่อกันเป็นเวลาเกินกว่า ๗ วัน โดยไม่มีเหตุผลอันสมควรเสียก่อน จึงจะเสนอขอความเห็นชอบไปยัง ก.จังหวัด ให้ไล่ออกจากงานย้อนหลังไปถึงวันแรกที่เริ่มละทิ้งหรือทอดทิ้งการทำงานนั้น
`          แต่หากสืบสวนแล้วไม่ได้ความแน่ชัดว่า มีเหตุอันสมควรหรือไม่ เมื่อมีการละทิ้งหรือทอดทิ้งการทำงานติดต่อกันเกินกว่า ๗  วัน นายกฯ ต้องเสนอ ก.จังหวัด เพื่อขอความเห็นชอบให้ออกจากงานไว้ก่อนเพื่อประโยชน์ในการจ่ายเงินค่าตอบแทน

          อ้างอิง :

          ๑. มาตรฐานทั่วไปเกี่ยวกับพนักงานจ้าง ลงวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๔๗
               ข้อ ๔๘ วรรคหนึ่ง
               ข้อ ๔๙ วรรคหนึ่ง (๖)
               ข้อ ๕๐ วรรคสอง
          ๒. หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการสอบสวน การลงโทษทางวินัย (พ.ศ.๒๕๕๘/๒๕๕๙)
               ข้อ ๔๖ วรรคหนึ่ง (๒)
          ๓. หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการให้ออกจากราชการ (พ.ศ.๒๕๕๘/๒๕๕๙)
               ข้อ ๑๔ วรรคหนึ่ง (๔)
          ๔. พระราชกฤษฎีกาการจ่ายเงินเดือน เงินปี บำเหน็จ บำนาญ และเงินอื่นในลักษณะเดียวกัน พ.ศ.๒๕๓๕
               มาตรา ๑๖ วรรคสอง

          ขอบคุณทุกข้อความ ครับ
#130

คำถาม  ๑๒/๒/๖๓
รบกวนสอบถามค่ะ กรณีข้าราชการขาดราชการติดต่อในคราวเดียวกันเกินกว่าสิบห้าวันและไม่มาปฏิบัติราชการอีกเลย ไม่สามารถติดต่อได้ นายกได้มีคำสั่งให้สอบสวนข้อเท็จจริง คณะกรรมการจึงไปสืบสวนข้อเท็จที่บ้านพักอาศัยตามที่ทราบ แต่ไม่พบ พบแต่ภรรยา ภรรยาบอกว่าไม่สามารถติดต่อได้เช่นกัน จึงได้สอบปากคำคามแบบ ปค14ภรรยาไว้เป็นหลักฐาน จึงอยากทราบว่า ขั้นตอนแบบนี้ถูกต้องมั้ยค่ะ และตอนรายงานนายกสามรถใช้แบบรายงาน แบบ สว6 ได้ใช่มั้ยค่ะ เพราะจริงๆแล้วเป็นความผิดชัดแจ้ง นายกไม่ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบก็ได้ แต่เพื่อความเป็นธรรมจึงดำเนินการตามกระบวนการดังกล่าวข้างต้นค่ะ

ตอบ

          วิธีการสอบสวนข้อเท็จจริงมิได้ถูกกำหนดว่า ต้องดำเนินการอย่างไร มีเพียงว่า การสืบสวนหรือพิจารณาในเบื้องต้น (การแสวงหาข้อเท็จจริง) จะกระทำได้ โดยการแต่งตั้งกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง กรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง หรือกรรมการตรวจสอบจ้อเท็จจริงก็ได้ (ข้อ ๒๔ ว ๘) เท่านั้น แต่มิได้กล่าวถึง วิธีการ กระบวนการขั้นตอน ไว้แต่อย่างใด

          ดังนั้น ผู้มีหน้าที่สอบสวนข้อเท็จจริง จึงมักนำกระบวนการสอบสวนทางวินัยมาใช้เท่าที่จำเป็น

          เมื่อนำกระบวนการทางวินัยมาใช้แล้ว ควรหลีกเลี่ยงคำว่า "แบบ สว." ต่าง ๆ เสียสิ้น เช่น สว.๒-๖ (แต่สามารถนำสาระในแบบ สว.เหล่านั้นมาใช้) เพราะอาจทำให้ผู้ไม่สันทัดงานวินัยเข้าใจว่า เป็นการ "สอบสวนวินัย" ทั้งที่เป็นเพียงการ "สอบสวนข้อเท็จจริง" เท่านั้น

          บันทึก ป.ค.๑๔ นิยมนำมาใช้ในการสอบปากคำบุคคล เนื่องจากรูปแบบบันทึกมีรายละเอียดให้กรอกค่อนข้างครอบคลุม สามารถนำไปใช้ยันผู้ให้ถ้อยคำในบางกรณีได้

          หากถึงคราต้องทำรายงานการสอบสวนข้อเท็จจริงเสนอนายกฯ จะไม่ใช้แบบ สว.๖ (รายงานการสอบสวนทางวินัย) แต่สามารถนำสาระตามแบบดังกล่าว มาใช้เป็นแนวทางในการทำบันทึกรายงานการสอบสวนข้อเท็จจริงได้ เนื่องจากไม่มีกฎห้าม

          อนึ่ง กรณีถือว่าเป็นความผิดที่ปรากฎชัดแจ้ง ซึ่งนายกฯ จะดำเนินการทางวินัย โดยไม่สอบสวน หรืองดการสอบสวนก็ได้ [ข้อ ๔๖ (๒)] หรือไม่นั้น สามารถค้นหาคำตอบหลายครั้งก่อนหน้านี้

          อ้างอิง :

          หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการสอบสวน การลงโทษทางวินัย (พ.ศ.๒๕๕๘/๒๕๕๙)
          ขัอ ๒๔ วรรคห้า และวรรคแปด
          ข้อ ๔๖ (๒)

          ขอบคุณครับ
#131

คำถาม  ๑๔/๒/๖๓
การเยียวยาผู้ถูกสั่งลงโทษปลอดออก แต่ภายหลังปรากฏว่าไม่มีความผิด จึงเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว สามารถใช้ระเบียบกฎหมายตัวไหนในการเยียวยาได้ครับ

ตอบ

          ถามสั้น..แต่ตอบยาก เพราะข้อมูลน้อยไป..ตอบตามหลักการ..!!

          แยกเป็น ๒ กรณี ได้แก่
          ๑. การยื่นอุทธรณ์ต่อ ก.จังหวัด
          ๒. การฟ้องคดีต่อศาลปกครอง

          อธิบาย

          ๑. ข้าราชการส่วนท้องถิ่นผู้ถูกสั่งลงโทษทางวินัย สถานปลดออกจากราชการ มีสิทธิยื่นอุทธรณ์คำสั่งลงโทษนั้นต่อ ก.จังหวัด ภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันรับทราบคำสั่งลงโทษ (ข้อ ๕ ว ๒ และข้อ ๙)
               หาก ก.จังหวัด พิจารณาอุทธรณ์แล้วมีมติให้ยกเลิกคำสั่งลงโทษปลดออกจากราชการ [ข้อ ๒๑ ก. (๕) (๙)] นั้นเสีย เนื่องจากมิได้กระทำความผิด นายกฯ ต้องสั่งหรือปฏิบัติให้เป็นตามมตินั้น (ข้อ ๒๓) เป็นเหตุผู้นั้นต้องกลับเข้ารับราชการ และให้
               (๑) มีสภาพความเป็นข้าราชการต่อเนื่อง
               (๒) ได้รับเงินเดือนระหว่างถูกปลดออกจากราชการ เต็มจำนวน [ข้อ ๔ (๒)]
               (๓) ได้รับการเลื่อนขั้นเงินเดือน เลื่อนระดับ และสวัสดิการอื่น ระหว่างถูกสั่งลงโทษปลดออกจากราชการ ตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น (ได้รับบางอย่าง ต้องศึกษาหลักเกณฑ์เป็นเรื่อง ๆ ไป) หรือ
               (๔) กรณี ก.จังหวัด มีมติเกี่ยวกับการเยียวยาอื่นใด ให้นายกฯ สั่งหรือปฏิบัติให้เป็นไปตามนั้น

          ๒. กรณีศาลปกครองมีคำพิพากษาถึงที่สุด ให้นายกฯ สั่งหรือปฏิบัติให้เป็นไปตามคำพิพากษาถึงทึ่สุด (ม.๗๐ ว ๑) นั้น
               แต่หากมีคำพิพากษาให้ยกเลิกเพิกถอนคำสั่งลงโทษปลดออกจากราชการ โดยมิได้กล่าวถึงการเยียวยาใด ๆ ย่อมเป็นกรณีต้องปฏิบัติ ตามข้อ ๑.

          อ้างอิง :

          ๑. หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการอุทธรณ์ และการร้องทุกข์ (พ.ศ.๒๕๕๘/๒๕๕๙)
               ข้อ ๕ วรรคสอง
               ข้อ ๙
               ข้อ ๒๑ ก. (๕) และ (๙)
               ข้อ ๒๓
          ๒. หลักเกณฑ์วิธีการจ่ายเงินเดือนข้าราชการส่วนท้องถิ่นผู้ถูกสั่งพักราชการ ผู้ถูกสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน ผู้ร้องทุกข์คำสั่งให้ออกจากราชการ ผู้อุทธรณ์คำสั่งลงโทษปลดออกหรือไล่ออกจากราชการ พ.ศ.๒๕๔๖
               ข้อ ๔ (๒)
          ๓. พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒
               มาตรา ๗๐ วรรคหนึ่ง

          ขอบคุณทุกความเห็น ครับ
#132

คำถาม  ๑๗/๒/๖๓
กรณีคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างไม่ร้ายแรงได้พิจารณาความเห็นแล้วว่าพฤติการณ์ของผู้ถูกกล่าวหาได้ปฎิบัติหน้าที่โดยไม่ได้ใช้ความระมัดระวัง โดยกรรมการสอบสวนจะไม่ลงความเห็นกำหนดโทษทางวินัย แต่จะให้ว่ากล่าวตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษรเช่นนี้ กรรมการสอบสวนสามารถมีความเห็นเช่นนี้ได้หรือไม่คะ

ขอบคุณคะ

ตอบ

          ประเด็น

          กรรมการสอบสวนจะไม่เสนอสถานโทษที่จะลง ได้หรือไม่

          สรุป

          ไม่ได้

          ขยายความ

          การตั้งกรรมการสอบสวนวินัยอย่างไม่ร้ายแรง ให้ดำเนินการมีสาระสำคัญตามหมวด ๗ (สอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง) โดยอนุโลม (ข้อ ๒๖ ว ๕)
          รายงานการสอบสวนอย่างน้อยต้องมีสาระสำคัญ ดังนี้
          ...
          (๓) ความเห็นของคณะกรรมการสอบสวนว่า ผู้ถูกกล่าวหาได้กระทำผิดวินัยหรือไม่ อย่างไร ถ้าผิดเป็นความผิดกรณีใด ตามข้อใด (ไม่ร้ายแรง/ร้ายแรง) และควรได้รับโทษสถานใด [ข้อ ๗๖ ว ๒ (๓)]

          ...สำหรับการลงโทษภาคทัณฑ์ ให้ใช้เฉพาะกรณีกระทำผิดวินัยเล็กน้อย หรือมีเหตุอันควรลดหย่อนซึ่งยังไม่ถึงกับจะต้องถูกลงโทษตัดเงินเดือน (ข้อ ๘๔ ว ๑)
          ในกรณีกระทำผิดวินัยเล็กน้อย และมีเหตุอันควรงดโทษ จะงดโทษให้โดยว่ากล่าวตักเตือนเป็นหนังสือก็ได้ (ข้อ ๘๔ ว ๒)

          ดังนั้น กรณีคำถาม กรรมการสอบสวนต้องมีความเห็นให้ลงโทษภาคทัณฑ์ แต่เนื่องจากมีเหตุอันควรลดหย่อน (เช่น...) จึงให้งดโทษภาคทัณฑ์ และให้ว่ากล่าวตักเตือนเป็นหนังสือ

          หมายเหตุ

          การอ้างเหตุลดหย่อน ต้องระบุสถานโทษ (ภาคทัณฑ์/ตัดเงินเดือน/ลดขั้นเงินเดือน หรือลดเงินเดือน/ปลดออก/ไล่ออก) ที่จะลงแก่ผู้ถูกกล่าวหาเสียก่อนทุกครั้ง แล้วจึงอ้างเหตุลดหย่อนเพื่องดโทษนั้น ๆ ในภายหลัง

          อ้างอิง :

          หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการสอบสวน การลงโทษทางวินัย (พ.ศ.๒๕๕๘/๒๕๕๙)
          ข้อ ๒๖ วรรคห้า
          ข้อ ๗๖ วรรคหนึ่ง (๓)
          ข้อ ๘๔ วรรคหนึ่ง และวรรคสอง

          ขอบคุณครับ
#133

คำถาม  ๑๙/๒/๖๓
เดิมอำเภอแจ้งให้สอบวินัยฐานประพฤติชั่วธรรมดา แต่เทศบาล มาออกคำสั่งเป็นประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงเพราะเข้าใจผิด ประกอบกับดูคำสั่งไม่ละเอียดรอบคอบ และเทศบาล ได้แจ้ง สว.1 ไปให้คณะกรรมการฯ และผู้ถูกกล่าวหาแล้ว ต่อมาจะแก้คำสั่งเป็น ประพฤติชั่วธรรมดา ตัดคำว่าร้ายแรงออกได้ไหม ครับ วิธีการขั้นตอนทำอย่างไร ครับ

ตอบ

          การออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน (สว.๑) ให้ระบุ
          ๑. ชื่อและตำแหน่งระดับของผู้ถูกกล่าวหา
          ๒. เรื่องที่กล่าวหา (ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร เมื่อไร ซึ่งมิใช่ฐานความผิด)
          ๓. ชื่อและตำแหน่งระดับของผู้ได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการสอบสวน
          (ข้อ ๕๐)

          หากมีการระบุฐานความผิดไว้ในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน (สว.๑) โดยมิได้ระบุเรื่องที่กล่าวหา (พฤติกรรมแห่งการกระทำ) ย่อมเป็นการออกคำสั่งที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว

          ถ้านายกฯ เห็นว่ามีเหตุอันสมควร หรือจำเป็น ให้ดำเนินการแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำสั่งนั้นได้ โดยต้องแสดงเหตุแห่งการสั่งนั้นไว้ด้วย (เทียบเคียง ข้อ ๕๖ ว ๑) ด้วยการออกคำสั่งใหม่อีก ๑ คำสั่ง โดยเท้าความถึงคำสั่งเดิม เพื่อมิให้เป็นการดำเนินการทางวินัยซ้ำในเรื่องเดียวกัน (ข้อ ๗๖ ว ๔)

          เมื่อได้ออกคำสั่งใหม่แก้ไขเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิมแล้ว ต้องแจ้งให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบโดยเร็ว [ข้อ ๕๑ (๑)] และส่งสำเนาคำสั่งนั้นให้คณะกรรมการสอบสวนทราบ [ข้อ ๕๑ (๒)] ใหม่อีกครั้ง

          อ้างอิง :

          หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการสอบสวน การลงโทษทางวินัย (พ.ศ.๒๕๕๘/๒๕๕๙)
          ข้อ ๕๐
          ข้อ ๕๑ (๑) และ (๒)
          ข้อ ๕๖ วรรคหนึ่ง
          ข้อ ๗๖ วรรคสี่

          ขอบคุณครับ
#134


คำถาม  ๒๑/๒/๖๓

ได้มีคำสั่งแต่งตั้งสอบสวนวินัย สอบสวนผู้ถูกกล่าวหา ต่อมาระหว่างสอบสวนเขาได้โอนย้ายไปสังกัดที่ใหม่(ต่างจังหวัด) ปัจจุบันหลังจากเขาโอนย้ายไป คณะกรรมการฯได้ดำเนินการสอบสวนจนแล้วเสร็จ ขั้นตอนต่อไป คือรายงานให้นายกผู้สั่งแต่งตั้ง และส่งสำนวนไปยังนายกที่เขาโอนย้ายไปสังกัดใหม่ ถูกต้องหรือไม่ครับ
และ. อปท เดิม ผู้สั่งแต่งตั้ง จะต้องรายงาน ก จังหวัดหรือไม่ หากรายงานจะต้องรายงานที่ ก จังหวัด ใดบ้างครับ
ขอบคุณครับ..

#135
คำถาม ๒๔/๒/๖๓

มีกรณีที่ อบต กำลังดำเนินการออกคำสั่งให้ข้าราชการลาออกจากราชการ แต่ปรากฏว่าระหว่างที่บุคคลนั้นปฏิบัติหน้าที่ได้กระทำจัดชื้อโดยผิดระเบียบและไม่สามารถเบิกจ่ายให้ผู้ประกอบการได้จำนวน 5 รายได้รับความเสียหาย แต่นายกไม่ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งกรรมการแต่รีบออกคำสั่งให้ลาออกแทน ซึ่งตามวินัย อบต ปี ๕๘ ข้อ ๒๔,ข้อ ๒๘ ถ้าเลยเวลา ๑๘๐ วันนับแต่ลาออกจะไม่สามรถดำเนินการวินัยได้ ดังนั้นเลยอยากสอบอาจารย์ครับว่า ๑.อำเภอและจังหวัดจะแก้ไขอย่างไรที่จะเอาบุคคลนั้นมาดำเนินการสอบข้อเท็จจริงและวินัย ๒.อบต จะมีวิีธีในการเยียวยาความเสียหายแก่ผู้ประกอบการอย่างไร ๓.นายกที่ดำเนินการดังกล่าวเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่
ขอความกรุณาด้วยครับ

ตอบ

          หากนายกฯ ออกคำสั่งให้ลาออกจากราชการ ตั้งแต่วันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๖๒ เป็นต้นมา (วันใดก็ได้) หาจำต้องกังวลเรื่อง ๑๘๐ วันไม่ เพราะถูกยกเลิกไปแล้ว แต่นายกฯ ต้องออกคำสั่งลงโทษทางวินัยอย่างร้ายแรง ภายใน ๓ ปี นับแต่วันที่ผู้นั้นออกจากราชการ (ข้อ ๒๘ ฉบับที่ ๒)

          ประเด็น
         
          ๑. ผู้ลาออกจากราชการไปในขณะยังไม่ถูกแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน นายกฯ จะดำเนินการทางวินัย ได้หรือไม่       
          ๒. ความเสียหายแก่ราชการที่ผู้นั้นได้กระทำลง ต้องดำเนินการอย่างไร
          ๓. นายกฯ มีคำสั่งให้ลาออกจากราชการ ทั้งที่ควรแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยไว้ก่อน มีความผิดหรือไม่ อย่างไร

          สรุป

          ๑. ได้
          ๒. สอบละเมิด
          ๓. อาจผิดได้

          ขยายความ

          ๑. เมื่อมีการกล่าวหาเป็นหนังสือต่อผู้บังคับบัญชา หรือต่อผู้มีหน้าที่สืบสวน สอบสวน หรือตรวจสอบตามกฎหมายว่า ข้าราชการส่วนท้องถิ่นผู้ใดซึ่งออกจากราชการอันมิใช่เพราะเหตุตาย กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงในขณะรับราชการ ให้นายกฯ
               (๑) ออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน ภายใน ๑ ปี และ
               (๒) ออกคำสั่งลงโทษทางวินัยอย่างร้ายแรง (ปลด/ไล่ ย้อนหลังถึงวันออก) ภายใน ๓ ปี นับแต่วันที่ผู้นั้นออกจากราชการ (ข้อ ๒๘ ว ๒)

               หมายเหตุ

               หลักเกณฑ์ที่ว่า กรณีถูกกล่าวหาว่า กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงก่อนออกจากราชการ นายกฯ ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน ภายใน ๑๘๐ วัน นับแต่วันที่ผู้นั้นออกจากราชการ ได้ถูกยกเลิกแล้ว ตั้งแต่วันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๖๒ โดยหลักเกณฑ์วินัย ฉบับที่ ๒ (พ.ศ.๒๕๖๒)

          ๒. ความเสียหายต่อราชการที่ผู้นั้นได้กระทำลงในการปฏิบัติหน้าที่ราชการ แม้ผู้นั้นจะลาออกจากราชการไปแล้ว ก็ยังคงต้องรับผิดทางละเมิด (ม.๑๐) ต่อไป ตามกฎหมายและระเบียบว่าด้วยการนั้น

          ๓. เมื่อปรากฏกรณีมีมูลที่ควรกล่าวหาว่าข้าราชการส่วนท้องถิ่นผู้ใดกระทำผิดวินัยโดยมีพยานหลักฐานในเบื้องต้นอยู่แล้ว ให้นายกฯ ดำเนินการทางวินัยทันที (ข้อ ๒๔ ว ๔) ผู้บังคับบัญชาผู้ใดละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามข้อนี้ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวโดยไม่สุจริต..ในกรณีเป็นนายกฯ ให้ถือว่าไม่ปฏิบัติการตามอำนาจหน้าที่โดยถูกต้องตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ และข้อบังคับของทางราชการ (ข้อ ๒๔ ว ๑๒) อันเป็นเหตุให้ผู้กำกับดูแลต้องดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ดังบัญญัติไว้ในกฎหมายจัดตั้ง อปท.ต่อไป ซึ่งต้องพิจารณาข้อเท็จจริงในการละเลยหรือไม่สุจริตของนายกฯ เป็นเรื่อง ๆ ไปว่าผิดหรือไม่ อย่างไร

          อ้างอิง :

          ๑. หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการสอบสวน การลงโทษทางวินัย (พ.ศ.๒๕๕๘/๒๕๕๙)
               ข้อ ๒๔ วรรคสิบสอง
               ข้อ ๒๘ วรรคสอง (ฉบับที่ ๒)
          ๒. พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.๒๕๓๙
               มาตรา ๑๐ ประกอบระเบียบที่เกี่ยวข้อง
          ๓. พระราชบัญญัติจัดตั้ง อปท.
               (๑) พ.ร.บ.อบจ.๒๕๔๐ มาตรา ๗๗
               (๒) พ.ร.บ.เทศบาล ๒๔๙๖ มาตรา ๗๑
               (๓) พ.ร.บ.เมืองพัทยา ๒๕๔๒ มาตรา ๙๔
               (๔) พ.ร.บ.อบต.๒๕๓๗ มาตรา ๙๐

          ขอบคุณครับ
#136
นิติกรสายเหล็กใน หวานปานน้ำผึ้ง โจ๋ เรนเจอร์ นี่ชงตัวเองซะเลย
ณ ชั่วโมงนี้ นิติกรสานเหล็กในที่มาแรงแซงโค้ง หล่อลากไส้
    โดนผึ้งต่อยวันละไม่ต่ำกว่า 20 ตัว
คลั่งไคล้ผึ้งมาก ชนิดที่ว่านอนละเมอน้องผึ้งๆๆๆๆ
โจ๋ เรนเจอร์ เวบมาสเตอร์นี่เอง อิอิ ขอชง ตัวเอง ณ วินาทีนี้















กดติดตามได้ที่
https://www.youtube.com/channel/UCr45pWswgC9jyvZnpkPPZ5A?view_as=subscriber
#137


ธวัตรชัย  สุนี  นิติกรชำนาญการ ที่นครพนม สายเศรษฐกิจพอเพียง  ผู้ที่นำแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ของ พ่อหลวง ร ๙ ของปวงชนชาวไทย  มาใช้ในการดำรงชีวิต  นอกเหนือจากงานประจำ  ปลดหนี้ ปลดสินได้ ปลูกกิน เหลือ แจก  ขาย  แบ่งปันกันไป
    เป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่ ราชการทั่วไปที่ต้องการดูเป็นแบบอย่าง

จนปัจจุบัน สามารถ นำการทดลองทำจนได้ผลของตนเอง ออกเป็นแบบอย่าง จัดตั้งศูนย์เรียนรู้ขึ้น ให้ความรู้แก่บุคคลทั่วไปที่สนใจ แวะมาแอ่ว มาเที่ยวหา














#138

http://www.nitikon.com/nitikon2021/savayjeeg.pdf

ปล  ดูเป็นกรณีๆ ไปนะ

http://www.nitikon.com/nitikon2021/savayjeeg.htm

------------

การตีความให้กฎหมายมีผลบังคับใช้ :
แม้ไม่มีตำแหน่งแล้วก็มีเหตุสั่งให้พ้นจากตำแหน่งภายหลังได้

สุภาษิตกฎหมายโรมัน
"Interpretion fienda est ut res magis valeat quam percat"
การตีความพึงดำเนินไปในทางที่เป็นผลมากกว่าให้ไร้ผล

"Interpretion talli in ambiguis simper finda est, ut evitetur inconveniens et absurdum"
เมื่อข้อความใดเคลือบคลุม ในการตีความต้องวะเว้นสิ่งที่ไร้ผลและสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

หลักการตีความที่สำคัญไม่ว่าจะเป็นการตีความตามตัวอักษรหรือการตีความตามเจตนารมณ์มีอยู่ว่า ถ้าบทบัญญัติใดบทบัญญัติหนึ่งอาจตีความได้หลายนัย ให้หลีกเลี่ยงการตีความที่ส่งผลให้บทบัญญัติอื่นใช้บังคับไม่ได้ เนื่องจากเป็นไปไม่ได้ที่กฎหมายที่ตราขึ้นนั้น ประสงค์ที่จะไม่ให้กฎเกณฑ์ใดกฎเกณฑ์หนึ่งไร้ผลบังคับ จึงต้องพยายามตีความให้บทบัญญัติทุกบทบัญญัติใช้บังคับได้ ซึ่งอาจจะใช้บังคับได้ไม่เต็มที่ตามถ้อยคำก็ได้

จากกรณีปัญหามีข้อถกเถียงทางวิชาการว่า ถ้าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองกระทำขัดกันแห่งผลประโยชน์เป็นเหตุให้พ้นจากตำแหน่งนั้น "เป็นเรื่องของตำแหน่ง มิใช่เพียงเรื่องบุคคล" หรือ "เรื่องของบุคคล มิใช่เพียงเรื่องตำแหน่ง" ในเรื่องความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดเฉพาะตัวตามมาตรา 182 (7) ประกอบมาตรา 268 และมาตรา 266 ว่า เมื่อบุคคลใดพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีไปแล้ว จะมีเหตุให้พ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 182 (7) อีกหรือไม่ โดยที่ผมได้โต้แย้งว่า แม้จะพ้นจากตำแหน่งไปแล้ว แต่ตัวบุคคลยังดำรงตำแหน่งอื่นอีก ก็มีเหตุที่จะให้พ้นจากตำแหน่งเมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ ทั้งนี้เพราะเป็นการตีความเพื่อมิให้กฎหมายไร้ผลบังคับ ซึ่งบางคนก็เห็นด้วยกับ อ.วรเจตน์ บางคนก็เห็นด้วยกับความเห็นของผม และบางคนก็จะหากรณีศึกษาจากคดีอื่นๆ ที่ใกล้เคียงกันว่ามีแนวคำพิพากษาเคยวินิจฉัยไว้อย่างไร

ดูโพสต์เรื่อง "ผลการฝ่าฝืนการกระทำขัดกันแห่งผลประโยชน์ เป็นเรื่องตำแหน่ง มิใช่ตัวบุคคล จริงหรือ?"

จากการค้นคว้าได้พบคดีศาลปกครองตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.682/2556 ที่มีความใกล้เคียงกันคือ คดีการกระทำที่ขัดกันแห่งผลประโยชน์ของผู้บริหารหรือสมาชิกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในคดีของนายกองค์การบริหารส่วนตำบลที่กระทำขัดต่อมาตรา 92 แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 ซึ่งมีความใกล้เคียงกับมาตรา 182(7) ทั้งเพราะว่ารัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 284 วรรคท้าย บัญญัติให้ให้นำบทบัญญัติมาตรา 265 มาตรา 266 มาตรา 267 และมาตรา 268 มาใช้บังคับกับสมาชิกสภาท้องถิ่น คณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น แล้วแต่กรณี ด้วยโดยอนุโลม โดยที่ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า แม้จะพ้นจากตำแหน่งจากนายกองค์การบริหารส่วนตำบลไปแล้ว (ได้ลาออกในวันเดียวกันที่นายอำเภอมีคำสั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน) หากมีเหตุตามมาตรา 92 นายอำเภอก็ยังมีอำนาจสอบสวนและผู้ว่าราชการจังหวัดยังมีอำนาจที่จะสั่งให้พ้นจากตำแหน่งได้ โดยศาลปกครองสูงสุดให้เหตุผลในการหลักการตีความว่า เป็นการตีความตมเจตนารมณ์ที่กฎหมายมุ่งประสงค์จะให้เกิดผลบังคับใช้ การแปลความตามที่กล่าวมาแล้วจึงย่อมมีเหตุผลและตรงตามเจตนารมณ์ที่กฎหมายบัญญัติไว้ หาได้เป็นการแปลความเพื่อขยายตัวบท

จะเห็นได้ว่า เมื่อคำนึงหลักการตีความให้กฎหมายมีผลบังคับใช้ยิ่งกว่าที่จะให้ไร้ผล กรณีปัญหาว่าบุคคลที่พ้นจากตำแหน่งไปแล้วจะมีเหตุตามกฎหมายที่จะสั่งให้พ้นจากตำแหน่งได้อีก เป็นเรื่องของบุคคล มิใช่เป็นเรื่องเฉพาะตำแหน่งอย่างเดียว

คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.682/2556
เมื่อปี พ.ศ. 2548 ผู้ฟ้องคดีได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลสวายจีก อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ ต่อมา เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2551 นาย ส. สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลสวายจีก กับพวกรวม 10 คน ได้มีหนังสือถึงนายอำเภอเมืองบุรีรัมย์ ขอให้นำข้อเท็จจริงเสนอต่อผู้ถูกฟ้องคดี (ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์) เพื่อวินิจฉัยให้ผู้ฟ้องคดีพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 92 แห่ง พ.ร.บ. สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 กรณีที่ผู้ฟ้องคดีใช้ตำแหน่งหน้าที่กลั่นแกล้งนาย บ. กับพวกรวม 3 ราย ซึ่งเป็นพนักงานจ้างทั่วไปขององค์การบริหารส่วนตำบลสวายจีกโดยการมีคำสั่งไม่ต่อสัญญาจ้างให้แก่พนักงานจ้างทั้งสามราย จนเป็นเหตุให้บุคคลทั้งสามยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองนครราชสีมา และศาลปกครองนครราชสีมาได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2550 ให้องค์การบริหารส่วนตำบลสวายจีกชดใช้ค่าเสียหายให้แก่บุคคลทั้งสามเป็นเงินคนละ 70,560 บาท นอกจากนั้น นาย บ. กับพวกรวม 3 ราย ได้ยื่นฟ้องผู้ฟ้องคดีต่อศาลจังหวัดบุรีรัมย์ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และศาลจังหวัดบุรีรัมย์ได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2551 ลงโทษจำคุกผู้ฟ้องคดี 2 ปี หลังจากที่นายอำเภอเมืองบุรีรัมย์ได้รับหนังสือร้องเรียนดังกล่าวแล้ว จึงได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง คณะกรรมการสอบสวนฯ ได้รายงานผลการสอบข้อเท็จจริงต่อนายอำเภอเมืองบุรีรัมย์ ตามหนังสือลงวันที่ 8 ธันวาคม 2551 ว่าเห็นควรรายงานไปยังผู้ถูกฟ้องคดีเพื่อพิจารณาดำเนินการ ตามมาตรา 92 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ. สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 และในวันเดียวกันผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือถึงนายอำเภอเมืองบุรีรัมย์ ขอลาออกจากตำแหน่ง นายอำเภอเมืองบุรีรัมย์จึงได้มีหนังสือลงวันที่ 9 ธันวาคม 2551 แจ้งว่าได้รับหนังสือลาออกของ ผู้ฟ้องคดีแล้วมีผลทำให้ผู้ฟ้องคดีพ้นจากตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลสวายจีก ตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2551 เป็นต้นไป หลังจากนั้น ผู้ถูกฟ้องคดีจึงได้มีหนังสือลงวันที่ 29 มกราคม 2552 แจ้งให้ผู้ฟ้องคดีทราบว่าผู้ถูกฟ้องคดีได้วินิจฉัยแล้วจึงให้ผู้ฟ้องคดีพ้นจากตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลตามมาตรา 92 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ผู้ฟ้องคดีไม่เห็นด้วย จึงยื่นหนังสือโต้แย้งคำวินิจฉัยของผู้ถูกฟ้องคดี ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดียืนยันตามความเห็นเดิม ผู้ฟ้องคดีจึงนำคดีมาฟ้อง โดยโต้แย้งว่าคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากได้ออกโดยไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนและวิธีการในการพิจารณาทางปกครองหลายประการ คือ...... ผู้ฟ้องคดีอ้างว่า เมื่อผู้ฟ้องคดีได้รับอนุญาตให้ลาออกจากตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลสวายจีกไปก่อนแล้วตามมาตรา 64 (3) แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน ผู้ถูกฟ้องคดีจึงไม่อาจวินิจฉัยให้ผู้ฟ้องคดีพ้นจากตำแหน่งดังกล่าวได้อีกเพราะไม่มีตัวตนของผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวอยู่แล้ว ทั้งเมื่อไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายบัญญัติไว้โดยชัดแจ้งว่าให้วินิจฉัยได้แล้ว จึงต้องแปลความและตีความโดยเคร่งครัด จะแปลความในทางขยายผลให้เป็นโทษแก่ผู้ฟ้องคดีหาได้ไม่นั้น เห็นว่า บทบัญญัติมาตรา 92 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว มิได้มีข้อจำกัดว่าการสอบสวนและวินิจฉัยจะกระทำหลังจากสมาชิกภาพสิ้นสุดลงหรือพ้นจากตำแหน่งแล้วไม่ได้ ในทางตรงกันข้ามหากมีการแปลความว่ามีข้อจำกัดเช่นนั้น ก็จะทำให้มีการหลีกเลี่ยงผลทางกฎหมายในการพ้นจากตำแหน่งโดยไม่สุจริต ทั้งยัง เป็นการเปิดช่องให้มีการกระทำการอันเป็นเหตุที่ต้องห้ามได้ แต่เมื่อถูกสอบสวนก็จะรีบขอลาออกหรือจงใจสร้างเหตุแห่งการพ้นจากตำแหน่งของตนขึ้นด้วยเหตุอื่น เพื่อให้มีผลก่อนการวินิจฉัย ในเรื่องที่ถูกกล่าวหานั้น การที่กฎหมายบัญญัติห้ามมิให้ผู้ดำรงตำแหน่งตามที่ระบุไว้กระทำการ อันไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ย่อมจะไร้ผล และเป็นการผิดจากเจตนารมณ์ที่กฎหมายมุ่งประสงค์จะให้เกิดผลบังคับใช้ กรณีของเรื่องนี้ก็เช่นกัน ผู้ฟ้องคดีได้ขอลาออกจากตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลสวายจีกเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2551 โดยอ้างเหตุความจำเป็นส่วนตัวและปัญหาสุขภาพ แต่หลังจากพ้นจากตำแหน่งเพราะการลาออกแล้ว เมื่อมีการประกาศรับสมัครเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลสวายจีกใหม่ในเดือนธันวาคม 2551 ผู้ฟ้องคดีก็ไปลงสมัครรับเลือกตั้งอีก อันแสดงให้เห็นว่าเป็นการลาออกเพื่อหลีกเลี่ยงผลทางกฎหมายที่ผู้ถูกฟ้องคดีกำลังจะวินิจฉัย การแปลความตามที่กล่าวมาแล้วจึงย่อมมีเหตุผลและตรงตามเจตนารมณ์ที่กฎหมายบัญญัติไว้ หาได้เป็นการแปลความเพื่อขยายตัวบทดังที่ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์ไม่

พระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537
"มาตรา ๙๒ หากปรากฏว่านายกองค์การบริหารส่วนตำบล รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบล ประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบล หรือรองประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบล กระทำการฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อยหรือสวัสดิภาพของประชาชน หรือละเลยไม่ปฏิบัติตามหรือปฏิบัติการไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่ ให้นายอำเภอดำเนินการสอบสวนโดยเร็ว

ในกรณีที่ผลการสอบสวนปรากฏว่านายกองค์การบริหารส่วนตำบล รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบล ประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบล หรือรองประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบล มีพฤติการณ์ตามวรรคหนึ่งจริง ให้นายอำเภอเสนอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งให้บุคคลดังกล่าวพ้นจากตำแหน่ง ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดอาจดำเนินการสอบสวนเพิ่มเติมด้วยก็ได้ คำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดให้เป็นที่สุด"

เครดิตบทความจากเพจ  หลักกฎหมายปกครองวันละเรื่อง  21/05/2014
#140

เอ่ยชื่อ จตุพงษ์  ตาเปียง หรือ เอ็กซ์ หลายคนอาจจะไม่รู้จัก ท้องถิ่นมีทั้งหมด เจ็ดพันกว่าแห่ง นิติกร ประมาณ สามพันกว่าคนทั่วประเทศ แต่ คอลัมภ์ของเราจะหยิบยกเอา นิติกรที่มีผลงาน ดีเด่น อาชีพเสริม หรือื่นๆ ที่สามารถเป็นแบบอย่างอันดี ให้แก่บุคคลอื่น
    จตุพงษ์ ตาเปียง เป็นนิติกร หนุ่ม ใน อปท.แห่งหนึ่ง ที่จังหวัดเชียงราย ดีกรีปริญญาโทนิติศาสตร์บัณฑิต ผู้เดินตามรอยพ่อ แนวเศรษ๗กิจพอเพียง 
     เขาประสบผลสำเร็จในด้านการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นการปลูกผักหวานป่า ที่เป็นที่ต้องการของตลาดเป็นอย่างมาก มีผู้คนมากมายสั่งจอง ทั้งยอดผักหวาน กิ่งตอน มากมาย


รวมไปถึง สื่อมวลชนได้มานำเสนอเป็นข่าวไปแล้ว  https://www.matichon.co.th/sme/news_74026

https://farmerspace.co/20180407-2/



เป็นสิ่งที่ใฝ่ฝันของใครต่อใครหลายๆคนที่อยากจะมีอาชีพแบบนี้ ในวัยเกษียน   ไผ่กิมซุง  ขายทั้งหน่อ และ ต้น
ปลูกอีกหลายๆอย่าง อาทิ เช่น ไผ่ฟ้าหม่น

ไผ่รวกหวานยอดเพชร 
 
สละอินโด 



ความสุขของเด็กๆ ทำกิ่งตอนผักหวานป่า

ลำใย

ชะอม

หวาย 





กระทกรก  ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานไหนๆ ทั้งพระภิกษุสงฆ์ ก็เดินทางมาดูงาน


เห็ดเยื่อไผ่ที่เกิดเองโคนกอไผ่กิมซุง 

อาชีพเสริมที่สร้างความสุขในครอบครัว ไม่เบียดเบียนใคร

ผักหวานป่าใต้ต้นลำใยพี่เลี้ยง

สักวัน เวบมาสเตอร์ จะเดินตาม แต่จะเป็นแนวทางไหน รอติดตามตอนต่อไป

โจ๋  เรนเจอร์ รายงาน